'ก้าวไกล' เรียกร้องรัฐบาลเพื่อไทย ร่วมมือทลายนายทุน-ขุนศึก-ศักดินา ผลพวงรัฐประหาร 57

’ก้าวไกล‘ โพสต์ 10 ปีรัฐประหาร 57 ‘ประยุทธ์ออกไป ระบอบประยุทธ์ยังอยู่‘ ชู 3 วาระรื้อมรดก คสช. หวัง ’รัฐบาล’ ร่วมมือ ‘ทำ รธน.ใหม่-ปฏิรูปกองทัพอยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน- ทลายทุนผูกขาด’ ให้สำเร็จ

22 พ.ค.2567 - พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความบนเฟสบุ๊ก ถึง ‘10 ปี รัฐประหาร 2557 : ประยุทธ์ออกแล้ว ระบอบประยุทธ์ยังอยู่’ ระบุว่า “ผ่านมาแล้ว 10 ปีหลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 57 จุดกำเนิดของระบอบประยุทธ์ ประเทศไทยมีรัฐบาลที่ผ่านการเลือกตั้งแล้ว 2 ครั้ง แต่ประชาชนจำนวนมากไม่ได้รู้สึกว่าประเทศไทย ‘เปลี่ยน’ ไปจริงๆ

นั่นเพราะ “ระบอบประยุทธ์” มีความหมายกว้างกว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่หมายถึงเครือข่ายผลประโยชน์ที่แวดล้อมคณะรัฐประหารและร่วมมือกันรักษาผลประโยชน์และอำนาจของกันและกัน ผ่านการออกแบบโครงสร้างและกลไกรัฐให้อยู่ในการควบคุมของตนเอง เป็นโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ที่เปิดช่องให้อำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทัดทานอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง เปิดช่องให้ทหารเข้ามาแทรกแซงการเมือง และเปิดช่องให้ทุนใหญ่เข้ากุมอำนาจทางเศรษฐกิจเหนือตลาด

การตั้งรัฐบาลข้ามขั้วที่นำโดยพรรคเพื่อไทย แม้ทำให้ประยุทธ์หายหน้าไปจากการเมือง ประวิตรหายไปจากตำแหน่งในรัฐบาล แต่ “ระบอบประยุทธ์” ที่หมายถึงเครือข่ายผลประโยชน์ นายทุน-ขุนศึก-ศักดินา ไม่ได้หายไปไหน และผลพวงจากการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 จะยังคงอยู่กับเรา ตราบที่เราไม่เดินหน้ารื้อมรดก คสช. ซึ่งประกอบด้วยอย่างน้อย 3 วาระที่พรรคก้าวไกลพยายามผลักดันมาตลอด 1 ปีที่ผ่านมาหลังการเลือกตั้ง ผ่านการยื่นกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ด้วยความหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลในการทำให้สำเร็จ

วาระ 1 = จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน 100%

ปัญหา: ในแง่การเมือง มรดกสำคัญของรัฐประหาร 2557 คือรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีเป้าหมายในการสืบทอดอำนาจของเครือข่ายที่เชื่อมโยงกับคณะรัฐประหาร ผ่านการขยายอำนาจของสถาบันทางการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง (เช่น สว. ศาล รัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ) ให้สามารถอยู่เหนือหรือแทรกแซงอำนาจที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

ทางออก: จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน 100% เพื่อพาสังคมไทยออกจากรัฐธรรมนูญ 2560 และสร้างประชาธิปไตยเต็มใบ ด้วยความเชื่อว่าหากสภาร่างรัฐธรรมนูญมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีแนวโน้มมากที่สุด ที่จะมีเนื้อหาที่พร้อมทำให้ทุกสถาบันทางการเมืองมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย และพร้อมปิดช่องไม่ให้ศาลรับรองการทำรัฐประหารและไม่ให้มีการนิรโทษกรรมผู้ก่อรัฐประหาร

สิ่งที่ก้าวไกลเดินหน้าแล้ว 2566-67:

(1) สนับสนุนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยการยื่นร่างแก้ไข พ.ร.บ. ประชามติ และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ 200 คน ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด

(2) ยื่นร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศ คสช.ฯ เพื่อยกเลิกประกาศและคำสั่งจากคณะรัฐประหารที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน (เป็นร่างกฎหมายด้านการเงิน - รอนายกฯ ให้คำรับรองเพื่อให้เข้าสู่การพิจารณาในสภาฯ)

วาระ 2 = ปฏิรูปกองทัพให้อยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน รื้อสภากลาโหม-ศาลทหาร

ปัญหา: การที่วันนี้สื่อมวลชนยังมีคำถามว่าทหารจะรัฐประหารหรือไม่ ตอกย้ำให้เห็นชัดว่ากองทัพ ณ ปัจจุบัน ยังคงมีอำนาจหลายส่วนอยู่เหนือรัฐบาลพลเรือน สามารถแทรกแซงการเมืองหรือแม้แต่กิจการที่ไม่เกี่ยวข้องกับภารกิจรักษาความมั่นคง เป็น ‘ขุนศึก’ ที่ถือครองที่ดินและธุรกิจโดยขาดการตรวจสอบจากประชาชน

ทางออก: ปฏิรูปกองทัพให้อยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน เพื่อเอาทหารออกจากการเมือง และทำให้กองทัพเป็นกองทัพยุคใหม่ ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการรักษาความมั่นคงของประเทศ มีความโปร่งใสมากขึ้นในการดำเนินการและการใช้งบประมาณ และได้รับความไว้วางใจมากขึ้นจากประชาชน

สิ่งที่ก้าวไกลเดินหน้าแล้ว 2566-67:

(1) ยื่นร่างแก้ไข พ.ร.บ.ระเบียบราชการกลาโหม เพื่อยกเลิกอำนาจพิเศษของกองทัพที่อยู่เหนือรัฐบาลพลเรือน รวมถึงการปรับโครงสร้างอำนาจ-ที่มาของสภากลาโหม และกระบวนการแต่งตั้งนายพล (บรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมสภาฯ แล้ว รอการพิจารณาและลงมติในสมัยประชุมหน้า)

(2) เตรียมร่างกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปศาลทหาร เพื่อป้องกันกระบวนการยุติธรรมหลายมาตรฐาน

วาระ 3 = ทลายทุนผูกขาด ปรับปรุงกฎหมายแข่งขันทางการค้า

ปัญหา: ทุนใหญ่ได้ขยายอำนาจและส่วนแบ่งตลาดในทุกภาคเศรษฐกิจที่สำคัญมาอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมทุกด้านของปากท้องประชาชน ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค อาหาร ไฟฟ้า ผ่านสายสัมพันธ์ที่มีกับเครือข่ายคณะรัฐประหาร กองทัพ ระบบราชการ และผ่านกฎกติกาที่เอื้อประโยชน์ให้เกิดการผูกขาด

ทางออก: ทลายทุนผูกขาด จากเดิมที่ระบบเศรษฐกิจถูกครอบงำโดยผู้เล่นไม่กี่ราย ต้องเปลี่ยนเป็นการแข่งขันที่เป็นธรรมมากขึ้นระหว่างทุนใหญ่กับผู้ประกอบการรายย่อย

สิ่งที่ก้าวไกลเดินหน้าแล้ว 2566-67:

(1) ยื่นร่างแก้ไข พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า เพื่อปฏิรูปคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ให้ทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการป้องกันการผูกขาดทางเศรษฐกิจ (บรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมสภาฯ แล้ว รอการพิจารณาและลงมติในสมัยประชุมหน้า)

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่พรรคก้าวไกลไม่เพียงปรารถนาที่จะเห็น แต่เราได้ใช้ทุกกลไกและวิถีทางที่มีอยู่ แม้ในฐานะฝ่ายค้านปัจจุบัน ในการผลักดันลบล้างผลพวงรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ออกจากสังคมไทย

การต่อต้านและลบล้างผลพวงรัฐประหารย่อมไม่อาจเป็นจริงได้ผ่านเพียงคำพูด แต่ต้องพิสูจน์ผ่านการกระทำ

เราหวังว่ารัฐบาลจะร่วมกันผลักดัน “ทุกวาระ” ข้างต้นร่วมกับพรรคก้าวไกล เพื่อสร้างประชาธิปไตยเต็มใบให้เกิดขึ้นและตั้งมั่นในสังคมไทย ทำให้รัฐประหาร 2557 เป็นรัฐประหารครั้งสุดท้าย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เดี้ยงยกแผง พังทั้งกระดาน! คดียุบพรรคก้าวไกล รอดยาก

เรื่อง "คดีความ" เชิงการเมืองที่หลายคนเฝ้าติดตามกันอยู่ในเวลานี้ คงไม่พ้น 3 คดีสำคัญ คือ “คดี 112” ที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้อง นายทักษิณ ชินวัตร

18 มิ.ย.ลุ้น 4 คดีร้อน จับตาใครจะพินาศ?

จับตาว่าในวันที่ 18 มิ.ย.นี้เป็นต้นไป จะมีการพิจารณาคดีทางการเมือง 4 ประเด็นร้อน ที่จะส่งผลสะเทือนไปถึงเสถียรภาพของรัฐบาล การเมืองไทยในระยะเวลาต่อไป

เลขาฯกกต. กรีดก้าวไกล 'ท่านได้รับผลร้าย จากข้อเท็จจริงที่ท่านทำ'

นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงศาลรัฐธรรมนูญให้ กกต. ส่งพยานหลักฐานเพิ่มเติมกรณียุบพรรคก้าว

'พิธา' ไล่เรียงเหตุผล 3 ข้อ โต้ 'กกต.' ปมยื่นยุบพรรคก้าวไกล

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีราชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับคดียุบพรรคก้าวไกล ว่า ผมขอกล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง แถลงข่าววันนี้ยืนยันว่าการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค