กมธ.นิรโทษกรรม ประชุมวันสุดท้าย สรุป 3 ความเห็นล้างผิดคดี 112 ให้สภาพิจารณา

“กมธ.นิรโทษกรรม” เคาะแล้ว มีทั้งเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย-เห็นด้วยแบบมีเงื่อนไข เตรียมยื่นปธ.สภาฯ พรุ่งนี้ 16.30 น. เสนอ “วิปรบ.” ดันเป็นวาระด่วน คาดเข้าสู่สภาฯ กลางส.ค. เชื่อ ไร้ปัญหา ฝ่ายค้านเห็นพ้อง

25 ก.ค.2567 - เมื่อเวลา 15.40 น. ที่รัฐสภา นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยนายนิกร จำนง เลขานุการกมธ. และนายสมคิด เชื้อคง โฆษกกมธ. ร่วมกันแถลงผลการประชุมกมธ.

โดยนายชูศักดิ์ กล่าวว่า วันนี้ (25 ก.ค.) เป็นการประชุมวันสุดท้ายของกมธ. ซึ่งได้พิจารณาเสร็จสิ้นเรียบร้อย โดยที่ประชุมได้ดูรายงานอย่างครบถ้วนและสมบูรณ์ และมีมติรับรองรายงานการประชุมที่จะเสนอต่อสภาฯ และที่ประชุมมีมติที่สำคัญ ดังนี้คือ 1. ให้มีการนิรโทษกรรมคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง นับตั้งแต่ปี 2548-ปัจจุบัน นี่คือหลักการสำคัญและการนิรโทษกรรมนี้ เราจะใช้รูปแบบของคณะกรรมการ โดยจะมีบัญชีแนบท้ายว่ามีคดีประเภทใดบ้างที่สมควรจะนิรโทษกรรม ขณะเดียวกันก็จะมีบัญชีแนบท้าย เพื่อให้กรรมการได้พิจารณาว่าคดีประเภทนี้นิรโทษกรรมได้หรือไม่ เข้าเงื่อนไขตามที่กำหนดหรือไม่ นี่คือเรื่องทั่วไปแต่สาระสำคัญต้องเป็นคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ซึ่งจะมีบัญชีแนบท้ายว่ามีคดีใดบ้าง

นายชูศักดิ์ กล่าวว่า 2.คดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชนข้อสำคัญคือคดีที่เกี่ยวกับความผิดต่อชีวิตมาตรา 288 และมาตรา 289 ซึ่งเป็นคดีที่ถือว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ไม่อยู่ในข่ายที่เราเห็นว่าควรจะนิรโทษกรรม 3. คดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง ได้แก่ คดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 และมาตรา 112 ถึงแม้คดีประเภทนี้มีความเห็นเสนอไปโดยกมธ. จะเสนอสู่สภาฯด้วยว่าความเห็นเกี่ยวกับคดีเหล่านี้ทางกมธ.เห็นอย่างไรบ้าง โดยสามารถแยกความเห็นได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือกลุ่มที่ 1 พวกที่เห็นว่าไม่ควรนิรโทษกรรมเลย ก็จะมีเหตุผลให้ไว้ว่าทำไมไม่ควรนิรโทษกรรม กลุ่มที่ 2 ควรมีการนิรโทษกรรมซึ่งจะมีเหตุผลให้ไว้ว่าทำไมควรนิรโทษกรรม ด้วยเหตุผลอะไร และกลุ่มที่ 3 มีการนิรโทษกรรม แต่มีเงื่อนไข เช่น ให้กรรมการดูว่าผู้ที่เป็นผู้ต้องหาเป็นจำเลยเหล่านั้นมีมูลเหตุจูงใจอะไร หรืออาจจะมีการตั้งเงื่อนไขว่าต้องห้ามกระทำความผิดซ้ำ เป็นต้น

นายชูศักดิ์ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมมีมติชัดเจนคือควรมีมาตรการในทางบริหารก่อนที่จะมีการนิรโทษกรรม เนื่องจากมีคดีอยู่หลายประเภทที่ค้างอยู่ตามสถานีตำรวจ คดีเล็กๆน้อยๆ เช่นผิดกฎหมายจราจร แต่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งมาตรการทางบริหารสามารถที่จะใช้ได้ก่อนที่จะมีการตรากฎหมายนิรโทษกรรม เช่น มาตรการสั่งไม่ฟ้อง ตามมาตรา 21 ของกฎหมายอัยการ หรือมาตรการอย่างอื่นที่จำเป็น และท้ายที่สุดกมธ.ก็มีข้อสังเกตว่าเรื่องการนิรโทษกรรมนั้นจะเป็นไปได้ที่สุด รัฐบาลก็ควรจะต้องรับเรื่องนี้เอาไปพิจารณาและเป็นเจ้าภาพหรือช่วยกันทำอย่างไรที่จะเร่งรัดพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมให้เกิดขึ้น ความสำเร็จในการประนีประนอม การทำให้ประเทศเข้าสู่สังคมปกติ น่าอยู่ น่าอาศัย และไม่ต้องทะเลาะกันเหมือนในอดีตก็จะเกิดขึ้น

ด้านนายนิกร กล่าวว่า ในวันที่ 26 ก.ค. เวลา 16.30 น. ทางกมธ. จะยื่นรายงานต่อประธานสภาฯ เพื่อบรรจุเข้าวาระรวมทั้งหมด 3 ฉบับ ซึ่งรายงานฉบับหลักคือที่กมธ.พิจารณาเสร็จในวันนี้และจะมีภาคผนวกเป็นอนุกมธ.ฯ ชุดศึกษาเรื่องความผิดเกี่ยวกับเรื่องคดีอีก 1 ฉบับ และเรื่องจำแนกคดีอีก 1 ฉบับ หลังจากนั้นจะรอการพิมพ์เล่มรายงาน เพื่อแจกกับสมาชิกอาจใช้เวลาประมาณ 20 วัน และเมื่อประธานบรรจุเข้าสู่วารการพิจารณาแล้ว จะขอให้วิปรัฐบาลเลื่อนวาระขึ้นมาพิจารณาโดยเร่งด่วยเพราะเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของสังคม

ขณะที่นายสมคิด กล่าวว่า เมื่อยื่นรายงานต่อประธานสภาฯในวันที่ 26 ก.ค. แล้ว หากประธานสภาฯบรรจะเข้าสู่วาระการประชุมทัน ก็จะนำเข้าสู่การประชุมวิปรัฐบาลในวันที่ 30 ก.ค. นี้ เพื่อที่จะให้เลื่อนวาระขึ้นมาพิจารณาโดยเร่งด่วน แต่หากไม่ทัน ในสัปดาห์หน้าก็คาดว่าจะสามารถนำรายงานดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมสภาฯได้ประมาณกลางเดือนส.ค. ซึ่งเชื่อว่าไม่น่ามีปัญหาอะไรเพราะฝ่ายค้านก็เห็นพ้องด้วย จากนั้นก็จะเสนอรายงานดังกล่าวต่อรัฐบาลเพื่อให้พิจารณา และเร่งดำเนินการตามบันทึกแนบท้ายว่าให้เร่งออกเป็นพ.ร.บ.ต่อไป

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ส่ง 'สมคิด' รับ 'สนธิ' บุกทำเนียบฯ ปรามสื่ออย่าถามเกิน ปม MOU 44

'ภูมิธรรม' ติงสื่อตั้งคำถาม MOU44 ขออย่าถามเกินเลย ทำประเทศขัดแย้ง หมดความเชื่อมั่น-กระทบศก. พร้อมส่ง 'สมคิด' รับหนังสือ 'สนธิ' บุกทำเนียบฯ

กมธ.ประชามติ สรุปใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น ชงรายงานให้ สส.-สว. ถ้าเห็นแย้งจะถูกแขวน 180 วัน

คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ นำโดย นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร สว. โฆษก กมธ., นายกฤช เอื้อวงศ์ โฆษก กมธ. และนายนิกร จำนง เลขานุการ กมธ. ร่วมกันแถลงถึงมติของกมธ.ร่วมกันฯ

'สมคิด' เผย 'ทักษิณ' ไปอุบลฯ ให้กำลังใจผู้สมัครนายก อบจ. ไม่ขึ้นเวทีปราศรัย

นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ในฐานะอดีตสส.อุบลราชธานี เปิดเผยว่าการเลือกตั้ง นายก อบจ.อุบลราชธานี ที่จะมีขึ้นในวันที่ 22 ธ.ค.นี้ว่านายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

'ไพบูลย์' เย้ยรัฐบาลไม่มีทางแก้รธน.ทั้งฉบับได้ทัน คาดอยู่ไม่ถึง 1 ปี

นายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรค พปชร. กล่าวถึงกรณีนายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ระบุว่าร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ จะตีความเป็นกฎหมายการเงิน