สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกากับความท้าทายในการปฏิบัติงานยุค New Normal

เป็นเวลาเกือบสองปีแล้วที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหานานัปการจากโรคโควิด-19 ซึ่งกระทบต่อการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ระบบเศรษฐกิจมีปัญหา แต่หากจะมองอีกแง่มุมหนึ่งแล้วโรคร้ายนี้ก็ทำให้ทุกคนต้องหันมาปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ เช่นเดียวกับระบบราชการ ก็ใช้โอกาสนี้ในการรีเซ็ตระบบราชการเพื่อรองรับการทำงานรูปแบบใหม่

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางทางด้านกฎหมายของรัฐบาลมีหน้าที่พิจารณาจัดทำร่างกฎหมายและให้ความเห็นทางกฎหมายแก่รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและหลักนิติธรรม เพราะกฎหมายเป็นส่วนสำคัญในการบริหารราชการแผ่นดิน และการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของประเทศ สำนักงานฯ จึงมีหน้าที่สำคัญอีกประการ คือ การพัฒนากฎหมายให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบันและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน ไม่เป็นอุปสรรค หรือสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนในการปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของสำนักงานฯ คือ การทำกฎหมายให้ดีขึ้น เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน “Better Regulation for Better Life” โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา สำนักงานฯ ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเพื่อตอบโจทย์การทำงานในยุค New Normal โดยได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานหลายประการ ทั้งในระบบการทำงานภายในสำนักงานฯ เอง โดยทำงานในรูปแบบ Work from Home หรือ Work from Anywhere การจัดประชุมออนไลน์ การใช้อีเมล OCS หรือไลน์ OCS ในการติดต่อสื่อสาร การจัดฝึกอบรมหลักสูตรนักกฎหมายภาครัฐและหลักสูตรอื่น ๆ ผ่านระบบออนไลน์ การรับ-ส่งเอกสารผ่านระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสำนักงานฯ ได้ร่วมกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) จัดทำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2564 (ระเบียบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์) เพื่อปรับเปลี่ยนให้การปฏิบัติงานสารบรรณภายในหน่วยงานของรัฐ ระหว่างหน่วยงานของรัฐ และระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชน สามารถดำเนินการด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก เพื่อความรวดเร็ว เพิ่มประสิทธิภาพ และเพิ่มความโปร่งใสในการดำเนินงาน โดยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2564 และมีผลให้หน่วยงานของรัฐต้องใช้อีเมลในการสื่อสารเป็นหลัก ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป ทำให้แม้มีการระบาดของโรคร้ายแรงแต่หน่วยงานของรัฐก็ยังคงปฏิบัติงานต่อไปได้โดยไม่ติดขัด การเร่งพิจารณาจัดทำร่างกฎหมายเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 กว่า 50 ฉบับ อาทิ พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 กฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. 2564 กฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบที่รัฐบาลจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคม สำหรับบุคคลซึ่งสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. 2564 ร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 พ.ศ. ....

นอกจากนี้ ยังได้ปรับปรุงวิธีการเขียนกฎกระทรวงและกฎหมายลำดับรองอื่น ๆ ให้หน่วยงานของรัฐให้บริการแก่ประชาชนโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก ตามมาตรา 8 และมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของราชการ พ.ศ. 2558 โดยได้ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 80 ฉบับ รวมทั้งยังได้สำรวจตรวจสอบกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันที่เป็นปัญหาและอุปสรรคสำหรับภาคเอกชนที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินกิจกรรม และได้ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์จัดทำร่างพระราชบัญญัติบริษัทมหาชน จำกัด (ฉบับที่..) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมให้ทันสมัย 6 ประเด็น) มีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงให้บริษัทมหาชนจำกัด และคณะกรรมการบริษัทมหาชนจำกัด สามารถดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ เช่น การใช้โฆษณาทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์แทนการโฆษณาทางหนังสือพิมพ์ การส่งหนังสือหรือเอกสารทางอีเมลแทนไปรษณีย์ลงทะเบียน และอยู่ระหว่างดำเนินการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 22 หุ้นส่วนบริษัท เพื่อให้ห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัดสามารถดำเนินงานด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้เช่นเดียวกัน และที่สำคัญได้เสนอร่างพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. .... ซึ่งคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว เพื่อให้การปฏิบัติราชการเป็นไปอย่างคล่องตัว มีประสิทธิภาพ และสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิป)

การดำเนินงานที่สำคัญอีกประการคือ สำนักงานฯ ร่วมกับ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล จัดทำ “ระบบกลางทางกฎหมาย” (law.go.th) ขึ้นตามมาตรา 77 วรรคหนึ่ง และมาตรา 258 ค. ด้านกฎหมาย (3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 เพื่อให้เป็นแพลตฟอร์มกลางเกี่ยวกับกฎหมายที่ให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (one stop service) แก่หน่วยงานของรัฐและประชาชน  โดยในขณะนี้ระบบกลางได้เปิดให้บริการในส่วนของการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมาย ข้อมูลรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย (RIA) และข้อมูลรายงานการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2564 แล้ว  สำหรับการดำเนินการระยะถัดไปจะเป็นการขยายการให้บริการข้อมูลกฎหมายทั้งหมดของประเทศ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด รวมตลอดถึงกฎหมายลำดับรองต่าง ๆ เช่น พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับ เทศบัญญัติ และข้อบัญญัติท้องถิ่นต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลกฎหมายและปฏิบัติตามกฎหมาย รวมทั้งเพิ่มความโปร่งใสในการใช้บังคับกฎหมายด้วย โดยมีกำหนดจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนกรกฎาคม 2565

 

สำนักงานฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาให้การจัดทำกฎหมายเป็นกฎหมายที่ดี ตอบสนองความต้องการของประชาชน และเป็นเครื่องมือในการบริหารราชการแผ่นดิน สนองตอบยุทธศาสตร์ของชาติเพื่อความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนของประเทศต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

การใช้มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมคุณภาพยาเพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชน

การจะพัฒนากฎหมายเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามวิสัยทัศน์ “Better Regulation for Better Life” ได้นั้น นอกจากการพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทางด้านเศรษฐกิจแล้วนั้น

บทบาทของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกากับการขับเคลื่อนงานด้านกฎหมายเกี่ยวกับ “Soft Power”

นโยบายสำคัญอย่างหนึ่งที่ได้รับความสนใจและมีการกล่าวถึงอย่างแพร่หลายของรัฐบาลที่นายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) เข้ามาบริหารประเทศ

การยกเลิกกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น

สิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยรัฐจะดำเนินการที่กระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพดังกล่าวได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายให้อำนาจเท่านั้น

Regulate to elevate : บทบาทของกฎหมายกับการพัฒนาด้านสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

โลกหลังจากวิกฤติโควิด-19 ประชาชนหันมาให้ความสนใจในการพัฒนาด้านสังคมและเศรษฐกิจด้วยแนวคิดความยั่งยืนเป็นหลักการสำคัญ การจัดทำนโยบายแห่งรัฐและกระบวนการกฎหมายจึงจำเป็นต้อง

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กับการพัฒนากฎหมายที่ช่วยส่งเสริมสตาร์ทอัพ

การพัฒนาระบบเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการพัฒนาประเทศ ในยุคปัจจุบันเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเป็นเครื่องมือ

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้านกฎหมาย ซอฟต์พาวเวอร์ที่เอื้อมถึง

หลายท่านอาจไม่ทราบว่า นอกจากภารกิจด้านการตรวจพิจารณาร่างกฎหมายและการให้ความเห็นทางกฎหมายแล้ว สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกายังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาคุณภาพ