ชีวิตใหม่ของชาวอีสานในที่ดิน ส.ป.ก.ระบำ จ.อุทัยธานี

ปัญหาความยากจน  ไร้ที่ดินทำกิน  ความแห้งแล้ง  กันดาร  ทำให้พี่น้องจากภาคอีสานต้องละทิ้งแผ่นดินเกิด  เพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า  บ้างอพยพครอบครัวเข้ามาบุกเบิกถางป่าทำไร่  บ้างตระเวนรับจ้างทำงานสารพัด  จากอีสานสู่ภาคเหนือถึงภาคใต้  จากตะวันตกสู่ตะวันออก  สภาพการณ์เช่นนี้เป็นมาเนิ่นนานไม่ต่ำกว่า 50-60 ปี

เช่นเดียวกับที่จังหวัดอุทัยธานี  มีพี่น้องจากภาคอีสานหลายจังหวัดอพยพเข้ามาหางานทำ  ส่วนใหญ่รับจ้างทำงานไร่  เช่น  ปลูกมันสำปะหลัง  ข้าวโพด  และสวนป่า  นานวันเข้าจึงบุกเบิกผืนป่าเป็นที่ดินทำกิน  โดยเฉพาะพื้นที่รอบๆ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง (ครอบคลุม 3 อำเภอในจังหวัดอุทัยธานี  คือ  ลานสัก  ห้วยคต  และบ้านไร่)

หนีแล้ง  ไร้ที่ดินทำกิน

บรรจง  สุโพธิ์  อายุ 44 ปี  ปัจจุบันปลูกสร้างบ้านและทำกินในที่ดิน ส.ป.ก.ตำบลระบำ  อ.ลานสัก  เล่าว่า  พ่อของตนเป็นคนโคราช  ไม่มีที่ดินทำกิน  ในวัยหนุ่มจึงหนีความยากจนเข้ามาบุกเบิกที่ดินทำกินที่อำเภอห้วยคตเมื่อประมาณ 50 ปีก่อน  และมาสร้างครอบครัวอยู่ที่นั่น  (แม่เป็นคนอุทัยธานี) 

บรรจง  สุโพธิ์   พ่อของเขาหนีความยากจนจากนครราชสีมาเข้ามาทำกินในจังหวัดอุทัยธานี

“ผมเกิดที่อำเภอห้วยคต   ตอนเด็กจำได้ว่าถนนจากหมู่บ้านไปอำเภอยังเป็นทางเกวียน  ไฟฟ้ายังไม่มีใช้  ตอนกลางคืนต้องใช้ตะเกียง  ใช้น้ำจากบ่อ  สมัยก่อนไข้ป่าก็เยอะ  โจรผู้ร้ายก็ชุกชุม เพราะเป็นป่าดง  และเป็นเขตติดต่อกับจังหวัดสุพรรณบุรี  โจรใช้เป็นที่หลบซ่อนตัว 

พอผมโตเป็นหนุ่ม  ผมก็ทำไร่ต่อจากพ่อ  ปลูกมันสำปะหลัง  ปลูกข้าวโพด  พ่อบุกเบิกที่ดินทำกินได้ประมาณ  35 ไร่  แต่ตอนหลังเจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็มาไล่  บอกว่าเป็นที่ป่าไม้  เป็นเขตป่าสงวนฯ  เวลาออกไปทำไร่ก็ต้องคอยหลบเจ้าหน้าที่  หรือต้องวิ่งหนี  เพราะถ้าถูกจับก็จะต้องติดคุก  บรรจงเล่าความเป็นมาของครอบครัว

ไม่ต่างจาก แสนสุข  ป้องสนาม  อายุ 40 ปีเศษ  ผู้นำชาวชุมชนในที่ดิน ส.ป.ก.ตำบลระบำ  เล่าว่า  พ่อแม่ของเขาเป็นชาวจังหวัดอุดรธานี   อพยพมาอยู่ที่อำเภอลานสักตั้งแต่เมื่อ 40 ปีก่อน  (ประมาณปี 2521)  ตอนนั้นเขาอายุได้ไม่กี่ขวบปี    ชีวิตความเป็นอยู่ก็ลำบากไม่ต่างจากครอบครัวของบรรจง  เพราะไม่มีที่ดินทำกิน  ต้องบุกเบิกจับจองที่ดินป่าไม้  ป่าสงวน ฯ  ปลูกมันสำปะหลัง  ปลูกข้าวโพดเป็นพืชหลัก  เพราะเป็นพืชทนแล้ง  ไม่ต้องดูแลมาก

คนที่อพยพมาอยู่ที่อุทัยธานีส่วนใหญ่จะมาจากอีสาน  พ่อแม่เล่าว่า  เมื่อก่อนอีสานแห้งแล้ง  ทำไร่นาก็ไม่ได้ผล  ส่วนใหญ่ก็ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง  บางคนก็มีที่ดินน้อย  ไม่พอทำกิน  พอรู้ข่าวว่าที่ไหนมีงานรับจ้าง  หรือมีที่ให้บุกเบิกก็จะอพยพตามกันมา  แสนสุขบอกเส้นทางชีวิตแบบย่อๆ

ใช้ที่ดิน ส... 3,239 ไร่แก้ปัญหาชาวบ้าน

แสนสุข  เล่าต่อไปว่า  ชาวอีสานที่อพยพมาอยู่ในอำเภอต่างๆ ในจังหวัดอุทัยธานี  ส่วนใหญ่จะบุกเบิกที่ดินทำกินเอง  แต่เป็นที่ดินในเขตป่าไม้  ป่าสงวนฯ  เขตอุทยาน  เพราะไม่มีเงินพอที่จะซื้อที่ดินเป็นของตัวเอง  แต่ก็อยู่อาศัยอย่างไม่มีความสุข  ไม่มีความมั่นคง  ไม่มีกรรมสิทธิ์  ไม่รู้ว่าจะถูกเจ้าหน้าที่จับกุม  หรือขับไล่ออกจากที่ดินในวันไหน  ปัญหานี้เป็นมานานหลายสิบปี  ไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ?

พอช่วงปลายปี 2557  ตอนนั้นเป็นสมัย คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติคสช.มีนโยบายจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่ชาวบ้านที่ยากจน  เดือดร้อน  เพราะไม่มีที่ดินทำกินทั่วประเทศ  โดยจะเอาที่ดิน ส...ที่ยึดมาจากนายทุน  หรือคนที่ครอบครองไม่ถูกต้องมาให้ชาวบ้านทำกิน  ซึ่งในจังหวัดอุทัยธานี  มีที่ดิน ส...ตำบลระบำ  อำเภอลานสัก  เดิมเป็นที่ดินสัมปทานปลูกสวนป่า  เมื่อหมดสัมปทานแล้ว  ส...ก็จะเอาที่ดินแปลงนี้มาให้ชาวบ้านได้อยู่อาศัยและทำกิน  แสนสุขบอกถึงแสงสว่างที่เริ่มมองเห็น  และบอกว่า  ชาวบ้านที่เดือดร้อนจึงไปลงทะเบียนกับ คทช. (คณะกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัด  มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน) ตามขั้นตอนที่ คทช.แจ้งมา

ที่ดิน ส.ป.ก.ที่ คสช.ยึดมาจากนายทุน  นำมาจัดสรรให้ประชาชนที่ขาดแคลนที่ดินเข้าทำกิน

หลังจากนั้น  คทช.พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.  กำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน  จึงลงสำรวจข้อมูลชาวบ้านที่มาลงทะเบียนว่ามีความเดือดร้อนจริงหรือไม่  ครอบครัวไหนไม่มีที่ดินทำกิน  หรือมีแต่ไม่เพียงพอ  เพราะมีลูกหลานเยอะ  ฯลฯ  เพื่อเตรียมจัดสรรที่ดินให้ตามนโยบาย คสช.  แต่ถึงกระนั้น  ชาวบ้านก็ยังไม่ค่อยเชื่อมั่น  ฝันไปเถอะ !! ”  ชาวบ้านบางคนบอกอย่างนั้น

ส่วนที่ดิน ส.ป.ก.แปลงนี้  (ดูแลโดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม) มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ  3,239 ไร่  เดิมเป็นป่าเสื่อมโทรม ส.ป.ก.ให้สัมปทานองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.)  ปลูกสวนป่า  ตั้งอยู่ในตำบลระบำและตำบลลานสัก  ห่างจากตัวอำเภอลานสักประมาณ 10 กิโลเมตรเศษ  และอยู่ไม่ไกลจากที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งมากนัก

แต่ในที่สุด  ความฝันของชาวบ้านที่ยากไร้ก็เป็นจริง !!  เมื่อ พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) เดินทางมามอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน ส...แก่ชาวบ้านที่ไร้ที่ดินทำกิน  เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559  ณ  ที่ดิน ส...ตำบลระบำ  โดยชาวบ้าน ได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินปลูกสร้างบ้านครอบครัวละ 5 ไร่  รวมทั้งหมด 486 ราย (ที่ดินส่วนที่เหลือเป็นพื้นที่ส่วนกลาง  สระน้ำเพื่อการเกษตร ฯลฯ)

พลเอกประยุทธ์มอบหนังสือการเข้าทำประโยชน์ที่ดิน ส.ป.ก.ให้กับชาวชุมชน  เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559

อย่างไรก็ตาม  ที่ดิน ส.ป.ก.ที่จัดสรรให้ชาวบ้านนั้น   ส.ป.ก.มีเงื่อนไขอนุญาตให้ชาวบ้านเข้าอยู่อาศัยและทำกินในลักษณะแปลงรวม  แต่ไม่ให้กรรมสิทธิ์  (ห้ามซื้อขายเปลี่ยนมือ  แต่ตกทอดให้ลูกหลานได้) และให้ชาวบ้านรวมตัวกันบริหารจัดการที่ดินในรูปแบบของสหกรณ์  ชาวบ้านจึงได้รวมตัวกันจดทะเบียนเป็นสหกรณ์ปฏิรูปที่ดินระบำ  จำกัด

แสนสุข  ป้องสนาม  ผู้แทนชุมชนรับมอบหนังสืออนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก.จากพลเอกประยุทธ์  เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559

 

ชีวิตใหม่ในที่ดิน ส.ปก.

แม้ว่าชาวบ้านจะได้รับมอบหนังสืออนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. ครอบครัวละ 5 ไร่แล้ว (แบ่งเป็นที่อยู่อาศัย 150 ตารางวา  ที่ดินทำดิน  4 ไร่  250 ตารางวา)   แต่ปัญหายังไม่จบ  เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่มีฐานะยากจน  ไม่มีเงินที่จะปลูกสร้างบ้านใหม่  อีกทั้งสภาพพื้นที่เป็นป่าเสื่อมโทรม  ไม่มีแหล่งน้ำ ไม่มีระบบสาธารณูปโภค 

ดังนั้นหน่วยงานต่างๆ  จึงบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อให้ชาวบ้านที่ไร้ที่ดินทำกินสามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ในที่ดิน ส.ป.ก.ได้  เช่น  กรมชลประทานช่วยขุดสระเก็บน้ำขนาดใหญ่  การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคติดตั้งไฟฟ้า   สำนักงานเกษตรจังหวัด  ส.ป.ก.  ปรับพื้นที่  ปรับปรุงดิน  ส่งเสริมด้านการเกษตร   ทำปุ๋ย  ปลูกผัก  เลี้ยงปลา  ส่งเสริมอาชีพ  ฯลฯ

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  หรือ ‘พอช.’ สนับสนุนการก่อสร้างบ้านตามโครงการบ้านมั่นคงชนบท  งบประมาณครอบครัวละ 40,000 บาท  จำนวน  369 ครัวเรือน  (แบ่งตามพื้นที่เป็น 6 ชุมชน)  และส่งเสริมกระบวนการรวมกลุ่ม  เพราะต่างคนต่างมาจากแต่ละที่  เพื่อให้สมาชิกในชุมชนและแกนนำร่วมกันพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆ ในชุมชน   เริ่มก่อสร้างบ้านและทยอยเข้าอยู่อาศัยตั้งแต่ปี 2560

ชาวบ้านช่วยกันก่อสร้างบ้านในที่ดิน ส.ป.ก.ตำบลระบำ

บรรจง  สุโพธิ์  ชาวบ้านในที่ดิน ส.ป.ก.ระบำบอกว่า  สมัยเมื่อ 20 ปีก่อน  ตอนยังไม่ย้ายมาอยู่ที่ดิน ส.ป.ก.   ครอบครัวปลูกข้าวโพด  กู้เงินจาก ธกส.มา 2 แสนบาท  แต่ยิ่งทำ  ยิ่งเป็นหนี้  เพราะข้าวโพดราคาไม่ดี  ต้องซื้อปุ๋ย  ซื้อสารเคมี  ทำให้ขาดทุนมาตลอด  พอมาอยู่ที่ดิน ส.ป.ก.  มีเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ เข้ามาส่งเสริมให้ปลูกพืชหมุนเวียน  เพื่อให้มีรายได้เลี้ยงครอบครัว  ดีกว่าข้าวโพดที่ขายได้ปีละครั้ง  ตอนนี้ที่ดิน 4 ไร่เศษ  ใช้ปลูกแตงกวา  คะน้า  มะระจีน  มะเขือเปราะ  ฝรั่ง  มะนาว  ฯลฯ  หมุนเวียนกัน  และขุดบ่อเลี้ยงปลาขนาด 15 X 15 เมตร  2 บ่อ  เลี้ยงปลาตะเพียนและปลานิล  บ่อละ 1 หมื่นตัว  แต่คราวที่แล้วโชคไม่ดี  มีขโมยเอาแหมาหว่านจับปลาไปหมด  เสียดายกำลังจะจับขาย  เอาเงินไปปลดหนี้ ธกส.

“แต่ตอนนี้ชีวิตก็ถือว่าดีกว่าแต่ก่อน  ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกเจ้าหน้าที่มาไล่  หรือต้องวิ่งหลบหนีอีก  เพราะได้อาศัยอยู่อย่างถูกกฎหมาย  แม้จะไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน   ซื้อขายเปลี่ยนมือไม่ได้  แต่ก็ตกทอดให้ลูกหลานได้ทำกินไปตลอด  ตอนนี้ปลูกมันสำปะหลัง  และมะเขือเปราะ  ตอนเย็นจะมีพ่อค้ามารับซื้อมะเขือเปราะเอาไปขายต่อที่อำเภอห้วยคต  วันนี้คงจะขายได้ประมาณ 500 บาท  แต่ถ้าเฉลี่ยทั้งเดือนจะมีรายได้ประมาณ 1 หมื่นบาท  บางเดือนได้ถึง 5-6 หมื่นบาท  แล้วแต่ว่าช่วงไหนจะมีอะไรออกมา  ถ้าปลดหนี้ ธกส.ได้  ชีวิตก็คงจะดีกว่านี้แน่ๆ ”  บรรจงบอกถึงความหวัง  และฝากขอบคุณทุกหน่วยงานที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือชาวบ้าน  ทำให้ลืมตาอ้าปากได้

บรรจงกับภรรยาและผลผลิตจากหยาดเหงื่อ

แสนสุข  ป้องสนาม  ผู้นำชุมชนในที่ดิน ส.ป.ก. บอกว่า  ชาวบ้านส่วนใหญ่มีชีวิตดีขึ้น  เพราะอย่างน้อยๆ  ก็มีที่ดินทำกิน  มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง  ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกจับข้อหาบุกรุกป่าเหมือนแต่ก่อน  ส่วนใหญ่ก็จะปลูกพืชหมุนเวียน  เป็นพืชระยะสั้น  เพราะแต่ละครอบครัวมีที่ดินไม่มาก  จึงต้องปลูกพืชที่ขายได้ตลอดปี  เช่น  มะระจีน  มะระขี้นก  บวบ  ฟักทอง  ผักกาด  คะน้า  แตงกวา  พริกขี้หนู   มีกลุ่มเลี้ยงวัวเนื้อ  เลี้ยงแพะ  ฯลฯ  และทำงานรับจ้างทั่วไป

“คนเฒ่า  คนแก่ที่มาจากอีสานก็ยังปลูกหม่อน  เลี้ยงไหม  ทอผ้าไหมขาย  มีงานบุญประเพณีแบบอีสาน  เราก็ยังช่วยกันจัด  ไม่ลืมว่าเราเป็นคนอีสาน  ส่วนผมกำลังจะทำเพจ  ใช้สื่อออนไลน์ทำตลาดสินค้าชุมชน  เช่น  นำผักสดต่างๆ  มารวมกลุ่มกันขาย  มีผ้าไหม  ใบหม่อนเอามาแปรรูป  ทำเป็นชา  ใครมีสินค้าอะไรก็เอามาฝากขายได้  ถ้าใครมาเที่ยวห้วยขาแข้งก็แวะมาเยี่ยมชุมชนของเราได้  อยู่ไม่ไกลกัน  ชาวสหกรณ์ปฏิรูปที่ดินระบำยินดีต้อนรับทุกท่าน”  แสนสุขกล่าวเชิญชวนทิ้งท้าย

ที่ดิน ส.ป.ก.ตำบลระบำ

ดร.วิณะโรจน์  ทรัพย์ส่งสุข  เลขาธิการ ส.ป.ก. เยี่ยมชาวชุมชน  (ภาพจาก ส.ป.ก.)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปัญหาความยากจนที่ไม่เคยหมดไปจากสังคมไทย

ประเทศไทยในทุกวันนี้ ประชาชนจำนวนมากมองประเทศจะต้องประสบกับภาวะความยากจน และต้องตกอยู่ในภาวะที่ขาดแคลน ไม่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และการมีหนี้สินล้นพ้น ซึ่งสาเหตุของความยากจนดังกล่าวก็เกิดจากการไม่มีงานทำ ประชากรเพิ่มขึ้น แต่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำ เมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตของประชากร

‘วราวุธ’ รมว.พม. เยี่ยมชุมชนริมคลองเปรมประชากร ด้าน ‘พอช.’ เดินหน้าพัฒนาที่อยู่อาศัย-คุณภาพชีวิตแล้ว 17ชุมชน 1,699 ครัวเรือน

คลองเปรมประชากร/ ‘วราวุธ ศิลปอาชา’ รมว.พม.ลงพื้นที่เยี่ยมชาวชุมชนริมคลองเปรมประชากร โดยลงเรือบริเวณท่าเรือชั่วคราวสะพานสูง เขตบางซื่อ

มอบรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น 10 ประเภท ตามแนวคิดสวัสดิการสังคมของ ‘ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์’

ธนาคารแห่งประเทศไทย / แบงก์ชาติร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดงาน ‘ธรรมาภิบาลดีเด่นแห่งปี 2567’ มอบรางวัลให้แก่ผู้ประกอบการ SME และ 10

10 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นรับรางวัล ‘ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ (10) กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลลาดชะโด จ.พระนครศรีอยุธยา “ย้อนรอยวิถีน้ำ คืนชีพเรือเก่า เล่าขานตำนานท้องถิ่น”

กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลลาดชะโด อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็น 1 ใน 10 กองทุนสวัสดิการชุมชนจากทั่วประเทศที่ได้รับรางวัล

10 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นรับรางวัล ‘ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ (9) กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลสุไหงปาดี จ.นราธิวาส “สร้างความเป็นธรรม.....เพื่อรักษาที่ดินทำกินให้ลูกหลาน”

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลสุไหงปาดี อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส เป็น 1 ใน 10 กองทุนสวัสดิการชุมชนจากทั่วประเทศที่ได้รับรางวัล