เครือข่ายอาสาภัยพิบัติอุบลฯ ใช้หลัก ‘1 แสนเซฟ 1 ล้าน’ เตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมและโรคอุบัติใหม่

สภาพน้ำท่วมชุมชนริมแม่น้ำมูลในปี 2562

อุบลราชธานี / เครือข่ายอาสาชุมชนป้องกันภัยพิบัติ จ.อุบลฯ เตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมและโรคอุบัติใหม่    ใช้หลัก “1 แสนเซฟ 1 ล้าน”  สร้างแพพร้อมอพยพคน-สิ่งของ  เตรียมพื้นที่จัดทำคลังเก็บอาหาร  ครัวกลาง  สร้างแหล่งอาหาร  ปลูกสมุนไพรสู้โรค  สร้างกองทุนจากขยะ  ฯลฯ  เสนอจัดตั้ง ‘คณะกรรมการร่วมรัฐ-ชุมชน’ เพื่อสนับสนุนและเพิ่มศักยภาพอาสาสมัครเพื่อเป็นกำลังสำคัญของชุมชนและสังคม

จังหวัดอุบลราชธานีเป็นพื้นที่รองรับน้ำของแม่น้ำสายหลัก 2 สายในภาคอีสานตอนบน  คือ  แม่น้ำชีที่มีต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาในจังหวัดชัยภูมิ   และแม่น้ำมูลที่ไหลมาจากจังหวัดนครราชสีมา  แม่น้ำสองสายไหลมาบรรจบกันที่บริเวณอำเภอวารินชำราบ  จ.อุบลฯ  และบริเวณอำเภอกันทรารมย์  จ.ศรีสะเกษ  ไหลผ่านอำเภอวารินชำราบ  อำเภอเมืองอุบลราชธานี  และอำเภอต่างๆ เข้าสู่เขื่อนปากมูลและไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่อำเภอโขงเจียม  จ.อุบลราชธานี

โดยเฉพาะพื้นที่ริมฝั่งลำน้ำมูล  เคยประสบปัญหาน้ำท่วมใหญ่มาแล้ว 3 ครั้ง  คือในปี 2521, 2545 และล่าสุดในปี 2562  เกิดภัยพิบัติน้ำท่วมในช่วงปลายเดือนสิงหาคม-ต้นเดือนกันยายน  มีชาวบ้านริมน้ำมูล 4  อำเภอ  คือ  อำเภอวารินชำราบ  อำเภอเมือง  สว่างวีระวงศ์  และดอนมดแดง  บ้านเรือนถูกน้ำท่วม  ข้าวของ  พืชไร่  สัตว์เลี้ยง  ฯลฯ  เสียหายประมาณ 4,000 ครอบครัว  รวมผู้ประสบภัยประมาณ  10,000 คน  บางพื้นที่ระดับน้ำท่วมสูงกว่า 6 เมตร  ถือว่าเป็นภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งใหญ่ในรอบ 40 ปี 

ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ระบุความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมทั้งจังหวัดอุบลราชธานีในปี 2562ว่า  มี  23 อำเภอที่ได้รับผลกระทบ  (จากทั้งหมด 25 อำเภอ)  มีมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจโดยรวมประมาณ  2,000 ล้านบาท !!

น้ำท่วมในปี 2562 ระดับน้ำสูงถึงชั้น 2 ของบ้าน  ถือว่าท่วมหนักในรอบ 40 ปี

พลังชุมชน-คนจนเมืองอุบลฯ

          ชุมชนริมสองฝั่งแม่น้ำมูล  ส่วนใหญ่เป็นชุมชนผู้ที่มีรายได้น้อย  มีสภาพเป็นชุมชนแออัด  มีอาชีพรับจ้างทั่วไป  เช่น  ก่อสร้าง  ขี่สามล้อ ปั้นหม้อ  ไห  อิฐ  ประมงพื้นบ้าน  เก็บของเก่าขาย  ขายพวงมาลัย  ฯลฯ  บางส่วนปลูกสร้างบ้านเรือนในที่ดินสาธารณะ  ที่ดินรถไฟ (รฟท.) ไม่มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย  พวกเขารวมตัวช่วยเหลือกันมาตั้งแต่หลังวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540   

ในปี 2549  ชุมชนในเขตอำเภอเมืองและวารินชำราบจำนวน 19 ชุมชน  เช่น  ชุมชนลับแล  ดอนงิ้ว  คูยาง  หาดสวนสุข  หาดสวนยา  ท่าก่อไผ่  ท่าบ้งมั่ง  กุดปลาขาว  ฯลฯ  ได้รวมตัวกันเป็น ‘เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมืองจังหวัดอุบลราชธานี’ (คปสม.) เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดิน  ที่อยู่อาศัย  การพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆ  

ต่อมาในปี 2554 คปสม. ได้เริ่มจัดทำแผนงานเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก  เนื่องจากชุมชนส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่ราบริมฝั่งแม่น้ำมูล   โดยมีการอบรมแกนนำเครือข่ายในพื้นที่เสี่ยงภัย  เพื่อเตรียมความพร้อมชุมชนในการรับมือภัยพิบัติ  การทำข้อมูล  แผนที่ทำมือพื้นที่เสี่ยงภัย   เส้นทางหนีภัย  จุดปลอดภัย  จัดตั้งอาสาสมัครภัยพิบัติในแต่ละชุมชน  ฯลฯ  และจัดตั้งเป็น  ‘เครือข่ายอาสาชุมชนป้องกันภัยพิบัติจังหวัดอุบลราชธานี’  ขึ้นมา  มีสมาชิกจำนวน 22ชุมชนในพื้นที่ 4 อำเภอ  คือ  อำเภอวารินชำราบ  อำเภอเมือง  สว่างวีระวงศ์  และดอนมดแดง 

จำนงค์  จิตนิรัตน์  ที่ปรึกษาเครือข่ายอาสาชุมชนป้องกันภัยพิบัติจังหวัดอุบลราชธานี  บอกว่า  การช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่อุบลราชธานีในช่วงหลายปีที่ผ่านมา  หน่วยงานต่างๆ เน้นการเยียวยาช่วยเหลือชาวบ้านภายหลังน้ำลด  แต่ไม่ได้ช่วยให้ชาวบ้านเรียนรู้วิธีการป้องกันและรับมือ  

“เมื่อหลายปีก่อนมูลนิธิชุมชนไทเข้ามาสนับสนุนให้เครือข่ายอาสาชุมชนป้องกันภัยพิบัติฯ  นำภูมิปัญญาการต่อเรือของท้องถิ่นมาสร้างเรือไว้รับมือเหตุการณ์น้ำท่วมที่ชุมชนคูสว่างและชุมชนหาดสวนสุข  รวม 4 ลำ  เมื่อเกิดน้ำท่วมในปี 2562  จึงนำเรือมาใช้อพยพผู้คนและสิ่งของ  ทำให้ช่วยลดความเสียหายได้มาก  แต่การช่วยเหลือทำได้ในวงจำกัด  เนื่องจากมีเรือไม่กี่ลำ” จำนงค์บอก

เรือของเครือข่ายอาสาชุมชนป้องกันภัยพิบัติในแม่น้ำมูล

หลังเหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2562  เครือข่ายอาสาชุมชนป้องกันภัยพิบัติฯ จึงประสานขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานและองค์กรต่างๆ เพื่อให้ชุมชนริมสองฝั่งแม่น้ำมูลได้ต่อเรือเอาไว้ใช้ในยามน้ำท่วม  เพราะเรือที่มีอยู่ 4 ลำยังไม่เพียงพอ  โดยมีหน่วยงานต่างๆ ร่วมสนับสนุนงบประมาณและอุปกรณ์ในการต่อเรือและแพตั้งแต่ปลายปี 2562-2563  

เช่น  จังหวัดอุบลราชธานี  สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.  มูลนิธิชุมชนไท  ฯลฯ  รวมทั้งเงินบริจาคจากประชาชน  ภาคเอกชน  รวมเป็นเงินประมาณ 900,000 บาท

ภูมิปัญญาจากท้องถิ่น

จากนั้นจึงมีการฝึกอบรมการต่อเรือ  มีวิทยากรมาช่วยสอน  และนำภูมิปัญญาความรู้เรื่องการต่อเรือของชาวบ้านที่สืบทอดต่อกันมาใช้เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพลำน้ำของแต่ละท้องที่  เช่น ในพื้นที่ที่มีกระแสน้ำไหลเชี่ยวจะต้องต่อหัวเรือให้สูงขึ้น  เพื่อให้เรือสู้กับกระแสน้ำเชี่ยว  และหากพื้นที่ไหนที่ลำน้ำไม่ไหลเชี่ยวมากให้ลดส่วนหัวของเรือลง  เพื่อลดแรงปะทะของน้ำ  ทำให้เรือแล่นได้เร็วขึ้นและรับปริมาณน้ำหนักบรรทุกสิ่งของได้มากขึ้นด้วย

จนถึงปัจจุบัน  ชาวชุมชนริมแม่น้ำมูลได้ช่วยกันต่อเรือติดเครื่องยนต์เสร็จแล้ว 28 ลำ  (ในจำนวนนี้ 6 ลำ เครือข่ายภัยพิบัติจากภาคใต้ช่วยกันสร้าง) ขนาดกว้างยาวประมาณ 1.40 X 6 เมตร  โครงสร้างเป็นเหล็ก  หล่อด้วยเรซิ่น  บรรทุกคนได้ประมาณ 10 -15 คน  ส่วนแพต่อเสร็จแล้ว 1 ลำ เป็นแพโครงสร้างเหล็ก  ขนาดกว้างยาวประมาณ 6 X 6 เมตร  ใช้ถังพลาสติคขนาด 200 ลิตรช่วยพยุงแพ  สามารถบรรทุกคนได้ครั้งละ 40 คน

อย่างไรก็ตาม  จำนงค์บอกว่า  เรือและแพที่ต่อใหม่  รวมทั้งเรือที่ชาวบ้านมีอยู่เดิมอีกประมาณ 60 ลำ  คงจะไม่เพียงพอต่อการอพยพชาวบ้านได้ทันท่วงที  เพราะมีชุมชนที่ตั้งอยู่ริมน้ำมูลและเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยประมาณ 30 ชุมชน  หากจะให้เพียงพอจะต้องใช้เรืออีกประมาณ 300 ลำ ซึ่งจะต้องหาช่องทางมาสนับสนุนชุมชนต่อไป

เรือที่ต่อเสร็จตั้งแต่ช่วงปี 2563

เสนอตั้งคณะกก.ป้องกันฟื้นฟูภัยพิบัติและโรคอุบัติใหม่

นอกจากการต่อเรือและแพดังกล่าวแล้ว  ชาวชุมชนริมแม่น้ำมูลและลำเซบก (ลำน้ำสาขาของแม่น้ำมูล) ในนามของ ‘เครือข่ายอาสาชุมชนป้องกันภัยพิบัติจังหวัดอุบลราชธานี’  ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 30 ชุมชนในพื้นที่ 4 อำเภอ  คือ  อำเภอวารินชำราบ  อำเภอเมือง  สว่างวีระวงศ์  และดอนมดแดง  ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง  เช่น  จัดอบรมอาสาสมัครป้องกันภัย  แจ้งเตือนข่าว  การอพยพผู้คน  สิ่งของ  สร้างแหล่งอาหาร  เลี้ยงปลา  ปลูกผัก  ปลูกสมุนไพร  ฯลฯ   รวมทั้งการจัดประชุม  เสวนา  สรุปบทเรียน  เพื่อรับมือกับปัญหาน้ำท่วม

ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา  เครือข่ายอาสาชุมชนป้องกันภัยพิบัติจังหวัดอุบลราชธานีได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ จัดเวที ‘สรุปบทเรียนประสานพลังรับมือภัยพิบัติ’ ที่ห้องประชุมเทศบาลเมืองวารินชำราบ  โดยมีนายจีระชัย  ไกรกังวาร  นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองวารินชำราบ  และผู้แทนชาวชุมชนต่างๆ  เข้าร่วมงานประมาณ 200 คน

นางหนูเดือน แก้วบัวขาว  ผู้แทนเครือข่ายอาสาชุมชนป้องกันภัยพิบัติ  จังหวัดอุบลราชธานี  กล่าวว่า  ปัญหาน้ำท่วมใหญ่ที่เกิดขึ้นในปี 2562  คือ  น้ำมาเร็ว  และไม่มีระบบการสื่อสารที่ดีพอ  จึงทำให้ชาวบ้านเตรียมตัวไม่ทัน  ส่วนในปี 2563  มีสถานการณ์โควิด  เครือข่ายฯ จึงจัดทำระบบคลังอาหาร  และป้องกันโควิดด้วยสมุนไพร  

“ส่วนการเตรียมรับมือกับน้ำท่วม   ตอนนี้เครือข่ายฯ  อยากจะให้หน่วยงานท้องถิ่นหรือเทศบาลสนับสนุนและมาออกแบบร่วมกัน  เช่น  การเตรียมจัดตั้งศูนย์อพยพที่เป็นระบบ  มีสาธารณูปโภค  มีห้องน้ำ  สนับสนุนเรื่องการจัดทำครัวกลางและวัตถุดิบ  อนุญาตให้ชาวบ้านใช้พื้นที่ว่างของหน่วยงานราชการเพื่อปลูกผักและสมุนไพรเพื่อนำมาเป็นอาหารในตอนน้ำท่วม  รวมทั้งสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันโควิดด้วย”  ผู้แทนเครือข่ายฯ บอก

นายจีระชัย  ไกรกังวาร  นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองวารินชำราบ  กล่าวว่า  เทศบาลจะดูว่าสิ่งไหนที่ชุมชนต้องการก็จะสนับสนุน   เช่น  ตอนนี้มีเรือแล้ว  แต่ขาดเครื่องเรือ  ก็จะสนับสนุนเครื่องเรือ  หรือสนับสนุนเรือขนาดเล็กให้กับครัวเรือน  และสนับสนุนเรื่องของการฝึกอบรมขับเรือ

ทั้งนี้ในการจัดเวทีสรุปบทเรียนฯ ครั้งนี้   เครือข่ายฯ ได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี  โดยมีสาระสำคัญ  คือ  ขอให้แต่งตั้ง คณะกรรมการป้องกันฟื้นฟูภัยพิบัติและโรคอุบัติใหม่  ทั้งในระดับจังหวัดและระดับท้องถิ่น (เทศบาล,อบต.,ชุมชน)  เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชนกับหน่วยงานภาครัฐในการรับมือป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติและโรคอุบัติใหม่  ทั้งในระยะสั้นระยะยาว  ใช้กระบวนการขับเคลื่อนโดย “คณะกรรมการร่วมรัฐ-ชุมชน”  ที่มีความต่อเนื่อง  พร้อมรับมือทุกโรคอุบัติใหม่   โดยจังหวัด  ท้องถิ่น  และชุมชนร่วมเป็นกรรมการ  และบรรจุไว้ในแผนงานของจังหวัด

เครือข่ายชุมชนใช้หลัก ‘1 แสนเซฟ 1 ล้าน’

โดยเครือข่ายฯ  ได้ระบุเหตุผล  บทเรียน  ประสบการณ์  และข้อเสนอเชิงประเด็นต่างๆ เช่น  1.สภาพการณ์น้ำท่วมปี  2562  ชุมชนมีความเสียหายมากเพราะน้ำมาเร็ว  แรง  และไม่รู้ตัวล่วงหน้า ภายหลังน้ำลดจึงขอการสนับสนุนทำเรือจาก พอช.  ปภ.จังหวัด  ทำเรือรวม  28 ลำ  ทำแพตัวอย่าง 1 ลำ  โดยใช้หลักการ ‘1 แสนเซฟ 1 ล้าน’ (งบประมาณสร้างแพลำละ 1 แสนบาท  สามารถขนย้ายผู้คน-สิ่งของไม่ให้เกิดความเสียหายคิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท)

“เหตุการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นอีกแน่นอนตามลักษณะภูมิศาสตร์ของจังหวัดอุบลราชธานีที่เป็นพื้นที่รับน้ำ  ดังนั้นการมีเรือ   แพ  ที่มีจำนวนเพียงพอกับความต้องการและปัญหา  รวมทั้งอยู่ในภาพสมบูรณ์  จึงเป็นแนวทาง ‘เซฟ’ ที่สำคัญ” ข้อความในหนังสือถึง ผวจ.อุบลราชธานีระบุ

แพ 1 ลำจะช่วยชีวิตผู้คนและลำเลียงทรัพย์สินออกมาได้มาก

2.ข้าวกล่องที่นำมาแจก ไม่มีคุณภาพ  เกิดขยะเพราะเป็นกล่องโฟม  และได้รับไม่ทั่วถึง  ชุมชนจึงทำ ครัวกลาง’  ทำอาหารกินกันเองในชุมชน  ตามที่อยากกินในแต่ละมื้อ  ซึ่งเป็นวิธีที่ชุมชนถนัดตามวิถี  แต่ในภาวะน้ำท่วม  ชุมชนขาดแคลนวัตถุดิบ  จึงควรได้รับการสนับสนุนวัตถุดิบประกอบอาหาร  เช่น  เนื้อสัตว์  ผัก  ไข่ไก่  น้ำมันพืช และอุปกรณ์เครื่องครัว

3.จังหวัดอุบลราชธานีเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก  มีพื้นที่กว้างขวาง  มีผู้เดือดร้อนนับหมื่นคน   แต่หน่วยงาน ภาครัฐที่เกี่ยวข้องมีกำลังพลน้อย  แต่ชุมชนมีอาสาสมัครชุมชนละไม่ต่ำกว่า 10  คน  หากมีการพัฒนาระบบความร่วมมือ ในรูปแบบ  คณะกรรมการรัฐ-ชุมชนป้องกันภัยพิบัติ’  และเพิ่มศักยภาพอาสาสมัครชุมชนให้มีความรู้  ทักษะในการปฏิบัติงานเพิ่มขึ้น   เช่น  การกู้ชีพ  การใช้เรือ  การสื่อสาร  การอพยพผู้เปราะบาง   การทำข้อมูลผู้เดือดร้อน  รวมทั้งการสนับสนุนเครื่องมือ  อุปกรณ์ที่จำเป็น  จะเป็นกำลังของชุมชนและสังคม

เสนอพัฒนาอาสาสมัคร-สร้างแหล่งอาหาร-สมุนไพรสู้โควิด

ส่วนกรณีโควิด-19  เครือข่ายมีบทเรียนและแนวทางแก้ปัญหาจากประสบการณ์  เช่น  1. กระตุ้นและสนับสนุนให้กลุ่มกิจกรรม เช่น  กลุ่มออมทรัพย์  กลุ่มเยาวชน  ให้มีบทบาทป้องกันโควิดในชุมชน  โดยให้ความรู้พื้นฐาน  ความตระหนักในการรับผิดชอบสังคม  และสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์  เครื่องมือ  ในระยะยาวสามารถพัฒนากลุ่มเหล่านี้เป็น ‘อาสาบุคลากรสุขภาพประจำชุมชน’  สามารถทำงานร่วมกับ อสม.ได้

2.ในภาวะที่โรงพยาบาลเกิดภาวะเตียงเต็มและยาขาดแคลน  ชุมชนใช้สมุนไพรสร้างภูมิคุ้มกันร่างกาย  และประสบผลค่อนข้างดี  เช่น  ชาสมุนไพรสามแม่ทัพ’ (กระเทียม หอมแดง ขมิ้นชัน)  ฟ้าทะลายโจร  กระชาย  ฯลฯ  ดังนั้น จึงควรสนับสนุนการจัดระบบ ศูนย์สมุนไพรชุมชน’  โดยให้มีในทุกชุมชนตามความเหมาะสม

3.ประสานทรัพยากรระหว่างพื้นที่ ชนบท- เมือง’  ทั้งด้านความมั่นคงทางอาหารและสมุนไพร  โดยสนับสนุนให้เกิดความเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนอาหาร-สมุนไพรผ่านรูปแบบและกิจกรรมต่างๆ

4.เพิ่มพื้นที่อาหารชุมชน โดยเฉพาะชุมชนเมืองซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างรายวัน หาเช้ากินค่ำ  ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด  ขาดรายได้  แต่ถ้ามีแหล่งอาหาร  ชุมชนก็สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้

ตัวอย่างพื้นที่รูปธรรม  เช่น  ชุมชนหาดสวนสุข   ชุมชนหนองกินเพล-ทางสาย  อ.วารินชำราบ  มีกลุ่มเลี้ยงปลาดุก  กลุ่มปลูกผักปลอดพิษ,   บ้านหนองยาง  อ.ดอนมดแดง  มีป่าสมุนไพร  หน่อไม้  เห็ด  เป็น ซุปเปอร์มาเก็ตในบ้าน’  ช่วยให้ชาวบ้านใช้ชีวิตผ่านวิกฤตในช่วงโควิดมาได้  ดังนั้นจึงควรสนับสนุนพื้นที่สร้างแหล่งอาหารเพื่อให้คนจนเมืองและชุมชนรอบนอกสามารถผลิตอาหารเลี้ยงคนในชุมชนได้

นอกจากนี้เครือข่ายฯ ยังได้เตรียมพื้นที่ชุมชนที่มีความสูง  ไม่เคยโดนน้ำท่วม  เช่น  ชุมชนลับแล (หลังสถานีรถไฟอุบลฯ ) เป็นพื้นที่จัดทำคลังอาหาร  จัดทำครัวกลาง  เพื่อนำไปแจกจ่ายพี่น้องชุมชนที่เกิดภัยพิบัติรวมทั้งเตรียมจัดตั้งกองทุนภัยพิบัติ  โดยให้ชุมชนที่มีความพร้อมนำขยะรีไซเคิ้ลจากการบริจาคของสมาชิกในชุมชน  เพื่อรวบรวมนำไปจำหน่าย  และนำรายได้เข้ากองทุนภัยพิบัติต่อไป !!

 

เรื่องและภาพ :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ภูมิธรรม' ใช้อินฟูเอนเซอร์ช่วยโปโมตอัตลักษณ์ผ้าไหมหนองบ่อ

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในระหว่างการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมกลุ่มอาชีพสตรีทอผ้า บ้านหนองบ่อ (ศูนย์ผ้าไหม) อำเภอเมือง อุบลราชธานี ว่า รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์จะเร่งนำภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็น Soft Power ของเรา

‘วราวุธ’ รมว.พม. เยี่ยมชุมชนริมคลองเปรมประชากร ด้าน ‘พอช.’ เดินหน้าพัฒนาที่อยู่อาศัย-คุณภาพชีวิตแล้ว 17ชุมชน 1,699 ครัวเรือน

คลองเปรมประชากร/ ‘วราวุธ ศิลปอาชา’ รมว.พม.ลงพื้นที่เยี่ยมชาวชุมชนริมคลองเปรมประชากร โดยลงเรือบริเวณท่าเรือชั่วคราวสะพานสูง เขตบางซื่อ

มอบรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น 10 ประเภท ตามแนวคิดสวัสดิการสังคมของ ‘ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์’

ธนาคารแห่งประเทศไทย / แบงก์ชาติร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดงาน ‘ธรรมาภิบาลดีเด่นแห่งปี 2567’ มอบรางวัลให้แก่ผู้ประกอบการ SME และ 10

ทำพิธีอัญเชิญ พระบรมสารีริกธาตุ ไปจังหวัดอุบลราชธานีแล้ว

ที่ท่าอากาศยานทหารกองบิน 41 จังหวัดเชียงใหม่ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่พร้อมส่วนราชการหน่วยงานต่างๆในพื้นที่ร่วมในพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระ

10 กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นรับรางวัล ‘ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ (10) กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลลาดชะโด จ.พระนครศรีอยุธยา “ย้อนรอยวิถีน้ำ คืนชีพเรือเก่า เล่าขานตำนานท้องถิ่น”

กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลลาดชะโด อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็น 1 ใน 10 กองทุนสวัสดิการชุมชนจากทั่วประเทศที่ได้รับรางวัล