คนบ้านแมดทำเกษตรตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9
เสียงเครื่องยนต์จากเรือหาปลาลำเล็กค่อยๆ ดับลง เมื่อหัวเรือกำลังจะเกยหาดทราย ครั้นเรือจอดนิ่งดีแล้ว เจ้าของเรือและเมียของเขาก้าวเท้าลงมา ในมือมีถังใส่ปลาอยู่ค่อนถัง มีทั้งปลาตะเพียน ปลาสะกาง ปลาหมอ ปลาบู่ ปลาขาว ปลากา ฯลฯ
แต่ทั้งหมดเป็นปลาขนาดเล็ก ตัวที่ใหญ่ที่สุดดูเหมือนจะมีขนาดเท่าฝ่ามือ สะท้อนให้เห็นอะไรบางอย่าง...
“เมื่อก่อนปลาเยอะ ตัวใหญ่กว่านี้ แต่เดี๋ยวนี้มีแต่ปลาเล็ก หาปลาวันนึงได้ไม่ถึง 10 กิโลฯ พอได้กินไปวันๆ เท่านั้น” ชายหาปลาบอก
เรื่องเล่าจากคนท้ายเขื่อน
ตำบลบ้านแมด อ.บุณฑริก อยู่ห่างจากจังหวัดอุบลราชธานีลงมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 78 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 60,000 ไร่ มี 12 หมู่บ้าน ประชากรกว่า 8,000 คน ส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา เลี้ยงวัวควาย ประมงพื้นบ้าน ทำปลาส้ม ปลาร้า สานกระติบข้าว หวดนึ่งข้าว ฯลฯ
พื้นที่ส่วนหนึ่งของตำบลบ้านแมดอยู่ติดกับอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิรินธร เป็นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า (ตัวเขื่อนตั้งอยู่ที่อำเภอสิรินธร อยู่เหนือตำบลบ้านแมดขึ้นไปหลายสิบกิโลเมตร) ทำให้ชาวบ้านแมดอย่างน้อย 7 หมู่บ้านที่อยู่ใกล้ได้ใช้ประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำนี้ เช่น ทำประมง นำปลาที่จับได้มาแปรรูป เลี้ยงวัวควายริมอ่างเก็บน้ำ ฯลฯ
บุณฮู้ ดาราช ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านแมด เล่าว่า เขื่อนเริ่มสร้างประมาณปี 2511 แต่ก่อนหน้านั้น การไฟฟ้าได้ให้สัมปทานบริษัทเอกชนตัดไม้ที่อยู่ในพื้นที่สร้างเขื่อนตั้งแต่ปี 2509 พอเขื่อนสร้างเสร็จในปี 2514 และมีการกักเก็บน้ำแล้ว แต่ไม้ที่ถูกน้ำท่วมยังไม่หมด ยังมีการตัดไม้กันอยู่ เป็นไม้ใหญ่ เช่น ตะเคียน เต็ง รัง ฯลฯ ตัดไม้จนถึงปี 2538 ไม้ใหญ่ที่จมอยู่ใต้น้ำจึงหมดไป
“ช่วงที่ยังมีไม้อยู่ใต้น้ำ ปลายังมีชุกชุมมาก เป็นปลาใหญ่ พวกชะโด ค้าว ปลากา ตะเพียนก็มีแต่ตัวโตๆ ถ้าบ้านไหนจะกินต้มปลา ก็ตั้งหม้อต้มน้ำรอได้เลย กินกันไม่อดอยาก เหลือกินเอามาทำปลาส้ม ปลาร้า หรือตากแห้ง กินกันได้ทั้งปี วันนึงจับปลาได้รวมกันไม่ต่ำกว่า 10 ตัน มีพ่อค้ามารับซื้อปลาเต็มไปหมด แต่พอไม้ใต้น้ำหมดไป ก็เหมือนกับบ้านของปลาหมดไปด้วย ปลาไม่มีที่อยู่ ไม่มีที่วางไข่ เมื่อมีคนจับปลากันมาก ปลาก็หมดไป ถ้าเมื่อก่อนมีปลา 100 เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้ก็เหลือแค่ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น” บุญฮู้บอกถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
เขาบอกด้วยว่า นอกจากบ้านของปลาจะหมดไปแล้ว ในช่วงหลายปีหลังมานี้ มีคนทำประมงแบบทำลายล้างมากขึ้น เช่น ใช้ ‘แหสวรรค์’ คือใช้แหวางบนไม้ไผ่ที่ปักล้อมเป็นวง กว้างประมาณ 15 เมตร มีเชือกกระตุกแห แล้วเอาเหยื่อมาล่อปลาในน้ำ เมื่อฝูงปลาเข้ามารุมกินเหยื่อก็จะกระตุกแหจับปลา ได้ปลาครั้งหนึ่งหลายสิบกิโลกรัม มีทั้งปลาเล็กปลาใหญ่ วันหนึ่งได้หลายร้อยกิโลฯ ปลาจึงแทบจะหมดไป
ปลาเล็กปลาน้อยที่หาได้ในแต่ละวัน
ใช้สภาองค์กรชุมชนสร้างความมั่นคงทางอาหาร
สภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านแมดจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2552 ตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 (ดูรายละเอียดได้ที่ https//web.codi.or.th) Error! Hyperlink reference not valid. บุญฮู้ ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านแมด บอกว่า ที่ผ่านมา สภาฯ เป็นที่ประชุมปรึกษาหารือเพื่อพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ เช่น สำรวจข้อมูลครอบครัวที่มีฐานะยากจน สภาพบ้านเรือนทรุดโทรม เพื่อนำข้อมูลมาทำโครงการ ‘บ้านพอเพียงชนบท’ ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ สนับสนุน เพื่อซ่อมแซมบ้านเรือนให้กับครอบครัวที่มีฐานะยากจนในตำบล นอกจากนี้ยังใช้สภาฯ สนับสนุนเรื่องอาชีพ สร้างรายได้ ลดรายจ่ายส่งเสริมการทำเกษตรกรพอเพียง ฯลฯ
“จากปัญหาเรื่องปลาในอ่างเก็บน้ำที่ลดน้อยลง อาหารจากปลาที่ลดลง รวมทั้งเรื่องฝนฟ้าและน้ำใช้ในการเกษตรที่มีไม่พอ เราจึงใช้สภาองค์กรชุมชนฯ เป็นเวทีพูดคุยกันว่า เราจะทำอย่างไร เพื่อให้พี่น้องมีข้าวเต็มนา มีปลาเต็มไหเหมือนแต่ก่อน จะอาศัยปลาในอ่างอย่างเดียวไม่ได้แล้ว เพราะปลาเดี๋ยวนี้ก็โตไม่ทันคนกิน” ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลบอก
ในที่สุดจึงได้ข้อตกลงร่วมกันว่า ชาวบ้านจะต้องสร้างความมั่นคงทางอาหารขึ้นมาเอง โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 เป็นต้นมา จนถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครนในวันนี้ ชาวบ้านต่างได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า เพราะทำมาหากินลำบากขึ้น ลูกหลานที่ทำงานในเมืองต้องตกงาน การค้าขายฝืดเคือง น้ำมันรถ น้ำมันพืช ปุ๋ยเคมี และข้าวของต่างๆ แพงขึ้นทุกวัน
“การสร้างความมั่นคงทางอาหารก็คือ การใช้ทุน ใช้อาชีพของเราที่มีอยู่แล้ว เอามาเพิ่มผลผลิต ลดรายจ่าย โดยการทำเกษตรแบบพอเพียงและยั่งยืน เช่น คนบ้านแมดทำนาเกือบทุกครอบครัวอยู่แล้ว ก็เลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้งในนาข้าวเพิ่มเข้าไป เลี้ยงไก่ ปลูกผัก เพาะเห็ด ทำปุ๋ยอินทรีย์จากมูลวัวควายเอาไว้ใช้เอง ทำน้ำหมักชีวภาพเพื่อไล่แมลง เพิ่มผลผลิต ลดการใช้สารเคมี เพื่อผลดีต่อสุขภาพ และช่วยประหยัดเงิน” บุญฮู้ยกตัวอย่าง
เขาบอกว่า การสร้างความมั่นคงทางอาหารของคนตำบลบ้านแมด ได้รับการสนับสนุนจากโครงการ ‘พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในชนบท’ ของ พอช. จำนวน 80,000 บาท เพื่อนำมาใช้ในการจัดอบรม ให้ความรู้ ส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร ส่งเสริมอาชีพ และพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆ โดย พอช.จัดทำโครงการนี้ทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2563 เพื่อช่วยเหลือชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด
นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานพลังงานจังหวัดอุบลราชธานี สนับสนุนเรื่องการทำระบบสูบน้ำพลังงานโซล่าร์เซลล์ เพื่อสูบน้ำมาใช้ทำนา รดแปลงผัก หรือใช้เลี้ยงปลา เลี้ยงกบ
คนบ้านแมดทำนาเป็นหลัก สภาองค์กรชุมชนฯ จะส่งเสริมให้เลี้ยงปลาในนาข้าว
สร้างเกษตรกรตัวอย่าง 25 ครอบครัว
โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ ด้วยการสร้างความมั่นคงทางอาหารตำบลบ้านแมด เริ่มดำเนินในปี 2565 นี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างเกษตรกรต้นแบบจำนวน 25 ครอบครัวที่สนใจและเข้าร่วมโครงการ เพื่อเป็นการสร้างรูปธรรมให้เกิดขึ้นก่อนจะขยายไปทั้งตำบล โดยมีเกษตรต้นแบบอยู่แล้ว เช่น ครอบครัวของ ‘พ่อแสวง คูณแก้ว’
พ่อแสวง คูณแก้ว ปัจจุบันอายุ 69 ปี ในวัยหนุ่มเคยเป็นครูโรงเรียนประถมศึกษาในตำบล ช่วงที่คนไทยนิยมไปขายแรงงานที่ตะวันออกกลางก่อนปี 2530 พ่อแสวงลาออกจากครูไปขายแรงงานที่นั่นนานหลายปี เมื่อเก็บเงินกลับมาบ้านแมดจึงนำมาขยายไร่นาของครอบครัว อาศัยเป็นคนใฝ่รู้เพราะเคยเป็นครูมาก่อน จึงศึกษาเรียนรู้เรื่องการทำเกษตรผสมผสาน และลดการใช้สารเคมี
“เมื่อก่อนผมมีที่นา 48 ไร่ มีต้นทุนค่าปุ๋ย-สารเคมี ค่ารถไถ ค่าเกี่ยวข้าว รวมแล้วตกประมาณไร่ละ 4,000 บาท แต่พอขายข้าวแล้วได้ไม่คุ้ม ยิ่งทำมาก ยิ่งขาดทุน จึงแบ่งที่นาให้พี่น้อง ตอนนี้เหลือที่นาทำเอง 6 ไร่ ปลูกทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียว ได้ข้าวเปลือกประมาณปีละ 250 กระสอบก็พอกิน และพยายามลดการใช้สารเคมี หันมาทำเกษตรยั่งยืน เกษตรพอเพียงตามแนวทางของพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นเกษตรอินทรีย์ ใช้ขี้วัว น้ำหมักชีวภาพแทนสารเคมี เพื่อลดต้นทุน” พ่อแสวงบอก
รอบๆ ที่นาของพ่อแสวง ปลูกผักต่างๆ ที่กินได้ มีโรงเรือนเพาะเห็ดนางฟ้า เห็ดนางรม มีบ่อเลี้ยงปลาขนาดย่อมๆ 2 บ่อ เลี้ยงปลาตะเพียนและปลานิลบ่อละประมาณ 2,000 ตัว ในบ่อปลายังเลี้ยงหอยขม โดยเลี้ยงในถุงตาข่ายไนล่อน เลี้ยงไก่พื้นบ้านอีก 20 ตัว ให้คุ้ยหาอาหารกินเอง และเลี้ยงวัว 8 ตัว ควาย 2 ตัว มูลของวัวควายนำมาทำปุ๋ยอินทรีย์ หมักกับฟางข้าว หว่านลงในแปลงผักและบำรุงข้าวในนา
ทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองจากมูลวัวควายจะช่วยลดต้นทุนการผลิต
พ่อแสวงบอกว่า ในแปลงนายังปล่อยลูกปลาดุก นิล สวายลงไป พอใกล้จะเกี่ยวข้าวในช่วงปลายปี ปลาก็โตพอกินพอดี ได้ทั้ง “ข้าวใหม่และปลามัน” เอาปลาสดมาเคล้าเกลือปิ้ง จะต้มหรืออ่อมปลาใส่ผักกะแยงหอมๆ กินกับข้าวใหม่ แซบเหลือหลาย !! บางปีปล่อยกุ้งก้ามกรามลงไปในนาก็ได้กินไม่เคยอดยาก
“ทุกวันนี้ ผมไม่ต้องควักเงินซื้อของกิน อยากจะกินอะไรก็หาได้จากรอบๆ บ้าน ตอนนี้กำลังจะทำโรงสีขนาดเล็ก เพื่อเอาข้าวเปลือกมาสีใส่ถุงขาย และจะทำเป็นศูนย์เรียนรู้ เพื่อให้พี่น้องคนบ้านแมดที่สนใจอยากจะทำเกษตรพอเพียง เกษตรยั่งยืนได้มาศึกษา” พ่อแสวงเกษตรกรต้นแบบบอก
บุญฮู้ ดาราช ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านแมดเสริมว่า ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้ สภาองค์กรชุมชนฯ จะจัดอบรมการเพาะพันธุ์และเลี้ยงปลาตะเพียนให้แก่เกษตรกรต้นแบบ 25 ครอบครัว
“ปลาตะเพียนเลี้ยงไม่ยาก ตลาดมีความต้องการ เราจะมีวิทยากรจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีมาให้ความรู้ เพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านเลี้ยงปลาในนาข้าวหรือเลี้ยงในบ่อก็ได้ เพื่อเอามาแปรรูปทำปลาร้า ปลาส้ม จะขายเป็นอาชีพเพื่อสร้างรายได้ หรือเลี้ยงเพื่อเป็นอาหาร ลดรายจ่ายในครอบครัวก็ได้”
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ACT เปิด '10 ทุจริต อบจ.' เสียหาย 377 ล้าน เฉพาะอุบลฯ โกงถึง 42 คดี
ACT เปิดข้อมูล '10 ทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง' อบจ. ตั้งคำถาม 'ป.ป.ช.' ทำไมคดีน้อยแค่หลักสิบ สวนความเชื่อประชาชน งบท้องถิ่นโกงกันอื้อ
พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก นำทีมช่างชุมชน Kick Off ซ่อมบ้านผู้ประสบภัยพิบัติ ‘แม่ยาวโมเดล’
พอช. หนุนงบกว่า 30 ล้าน ซ่อม สร้าง 6 ตำบล 875 ครัวเรือน สร้างรูปธรรม การจัดการที่ดิน ที่อยู่อาศัย ยกระดับคุณภาพชีวิต พร้อมยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายจากชุมชน ถึงรัฐบาล
สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน
UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’
รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567
ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’
‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน
รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด
เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”
คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย