เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”

สถาพคลองเปรมในอดีตที่ผ่านมา

คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร  ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย เช่น น้ำเสีย ขยะมูลฝอย และการบุกรุกพื้นที่ ทำให้คลองเสื่อมโทรมลงอย่างมาก การฟื้นฟูคลองเปรมประชากรจึงกลายมาเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน

เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ ปี 2554 นับเป็นหนึ่งในวิกฤตที่สร้างความเสียหายอย่างมากต่อเมืองหลวงของประเทศไทย สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่คือการระบายน้ำในคลองสายหลักไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากมีบ้านเรือนที่รุกล้ำลำคลองทำให้ลำคลองคับแคบและตื้นเขิน ส่งผลให้ไม่สามารถระบายน้ำได้เพียงพอ เมื่อเกิดฝนตกหนัก น้ำจึงท่วมขังและล้นออกมาในพื้นที่ต่าง ๆ

ในปี 2555 คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ได้เสนอแผนงานการแก้ไขปัญหาและป้องกันน้ำท่วม โดยมีการสร้างเขื่อนระบายน้ำและขุดลอกคลองในลำคลองสายหลักในกรุงเทพฯ จำนวน 9 แห่ง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลในขณะนั้นยังไม่ได้ดำเนินการตามแผนที่เสนอมา จนกระทั่งในสมัยรัฐบาล คสช. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการสิ่งก่อสร้างรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ โดยเริ่มดำเนินการในคลองลาดพร้าวเป็นแห่งแรกในปี 2559 พร้อมกับดำเนินการสำรวจชุมชนริมคลองเปรมประชากร เพื่อจัดทำแผนงานในการแก้ไขปัญหาฯควบคู่กันไปพร้อมๆกัน

การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมประชากร เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ดำเนินการเพื่อปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ริมคลองเหล่านี้ โดยข้อมูลที่ได้จากการสำรวจพบว่ามีชุมชนริมคลองเปรมประชากรที่ปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่ในลำคลองและพื้นที่ริมตลิ่งซึ่งเป็นที่ดินราชพัสดุที่กรมธนารักษ์ดูแลอยู่ทั้งหมด 38 ชุมชน รวม 6,386 ครัวเรือนในพื้นที่เขตจตุจักร หลักสี่ ดอนเมือง และในจังหวัดปทุมธานี

ชุมชนริมคลองเปรมประชากร  ได้ดำเนินการโดยนำหลักการของโครงการ ‘บ้านมั่นคง’ มาใช้ ซึ่งมีหลักการสำคัญคือ "ชาวชุมชนที่มีความเดือดร้อนจะต้องรวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหา" การร่วมกันจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินงาน จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุน ร่วมกันออกแบบบ้านและผังชุมชน . โดย พอช. ยังสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาที่อยู่อาศัย ครัวเรือนละ 147,000 บาท และสนับสนุนสินเชื่อสร้างบ้านไม่เกินครัวเรือนละ 360,000 บาท ผ่อนระยะยาว 20 ปี

คลองเปรมประชากรหลังได้รับการพัฒนาที่อยู่อาศัย

ปัจจุบัน การก่อสร้างบ้านมั่นคงชุมชนริมคลองเปรมประชากรดำเนินการแล้ว 17 ชุมชน  รวม 1,699 ครัวเรือน ก่อสร้างบ้านแล้วเสร็จและชาวบ้านเข้าอยู่อาศัยแล้ว 1,197 ครัวเรือน ส่วนที่เหลือกำลังดำเนินการ  ส่วนที่เหลือจะดำเนินการต่อไป ขณะที่การก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำในคลองเปรมประชากรขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการช่วงที่ 4 ในพื้นที่เขตดอนเมือง โดยกรุงเทพมหานครก่อสร้างเขื่อนได้ความยาวรวม 3,200 เมตร จาก 10,700 เมตร มีความ การฟื้นฟูคลองเปรมประชากรนี้จะเป็นการฟื้นฟูคลองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 150 ปี ให้กลับมามีความสมบูรณ์อีกครั้ง ให้ประชาชนมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสามารถเชื่อมโยงการเดินทางทั้งทางรถยนต์ รถรางไฟฟ้า ทางเรือ และจักรยานเพื่อการคมนาคมและการท่องเที่ยวชุมชนได้

พี่เปีย  หรือ สุพิชญา สร้อยคำ ประธานชุมชนเปรมประชาสมบูรณ์ ดอนเมือง เล่าว่า เป็นความอดทนอันยาวนานของชาวชุมชนที่จะได้มีทะเบียนบ้านอย่างถูกต้อง ได้มีที่อยู่อาศัยอย่างถูกกฎหมาย ไม่เป็นผู้รุกล้ำลำคลอง ซึ่งเราได้รับความร่วมแรงร่วมใจจากสมาชิกและคณะกรรมการ ก่อนที่จะดำเนินการและจะมีการทำความเข้าใจร่วมกันก่อน โดยเราจะเล่าให้ทุกคนฟังว่า การมีบ้านเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะทุกคนในครอบครัวจะใช้อยู่อาศัยได้ตลอดไป

เดิมชุมชนมีสภาพเป็นสลัม  ตั้งอยู่หลังโรงแรมอมารี   เขตดอนเมือง    เมื่อก่อนชาวบ้านจะสร้างบ้านอยู่ริมคลอง  บางหลังก็รุกลงไปในคลอง  ส่วนใหญ่ใช้ไม้อัด  สังกะสีสร้างบ้าน  อยู่กันมานานหลายสิบปี  จนบ้านเรือนทรุดโทรม  เมื่อรัฐบาลมีโครงการพัฒนาคลองเปรมฯ ชาวบ้านก็ไม่ได้คัดค้านเพราะอยากจะมีบ้านใหม่  มีชีวิตที่ดีขึ้น  จึงเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงที่ พอช.สนับสนุน  รวมทั้งหมด 125 ครอบครัว  เป็นบ้านแถว 2 ชั้น 

ชุมชนเปรมประชาสมบูรณ์ ในปัจจุบัน

เริ่มสร้างบ้านเมื่อเดือนสิงหาคม 2565   แล้วเสร็จทั้งหมดเมื่อเดือนตุลาคม 2566 ขณะนี้ชาวบ้านเข้าอยู่อาศัยแล้ว  เปลี่ยนสภาพจากชุมชนที่เคยปลูกสร้างบ้านเรือนหนาแน่นแออัด สภาพทรุดโทรม  เป็นชุมชนใหม่ที่ดูสวยงาม  สะอาดตา  มีสภาพแวดล้อมที่ดี   นอกจากนี้  ชาวชุมชนยังร่วมกันสร้าง ‘บ้านกลาง’ ให้แก่ผู้ด้อยโอกาส 1 หลัง 

“คนจนๆ ไม่มีรายได้ประจำ ถ้าเราจะไปกู้ธนาคารเพื่อจะสร้างบ้าน คงไม่มีธนาคารที่ไหนจะให้กู้แน่ๆ ต้องขอขอบคุณ พอช. และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เข้ามาช่วยให้ชาวชุมชนคลองเปรมฯ มีที่อยู่อาศัยที่ถูกกฎหมาย  มีบ้านใหม่ที่สวยงาม  มั่นคง  ไม่ต้องกลัวถูกไล่รื้ออีกต่อไป”   สุุพิชญา ประธานชุมชนเปรมประชาสมบููรณ์ บอกทิ้งท้าย…

พยัพ  เขื่อนขันธ์ 

 ลุงพยัพ  เขื่อนขันธ์  ประธานชุมชนประชาร่วมใจ 1 หลังวัดเสมียนนารี เล่าว่า  ชุมชนประชาร่วมใจ 1 มีชาวบ้านเริ่มเข้ามาบุกเบิกสร้างบ้านเรือนอยู่ริมคลองเปรมประชากรตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2  หรือราวปี 2489  โดยบิดาของตนซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์เป็นครอบครัวแรกๆ ที่เข้ามาบุกเบิกสร้างบ้านเรือนอยู่ริมคลองเปรมฯ

“เมื่อก่อนน้ำในคลองยังใสสะอาด  เพราะแถวริมคลองเปรมฯ ยังมีแต่ทุ่งนา ชาวบ้านยังใช้น้ำในคลองทั้งอาบและกิน  น้ำกินเราจะตักโอ่ง  ใช้สารส้มแกว่งให้ตกตะกอนก็ใช้ได้  ปลาในคลองยังมีเยอะ  กุ้งก้ามกรามตัวโตๆ ยังชุม บ้านผมเมื่อก่อนยังยกยอหาปลาเอาไว้กิน  แต่ตอนหลังๆ ช่วงปี 2530-2531 น้ำในคลองเริ่มจะเสีย  เพราะบ้านเมืองขยายตัว  ทุ่งนากลายเป็นหมู่บ้าน น้ำจากที่ต่างๆ ทางดอนเมือง  หลักสี่  ไหลลงคลองเปรมฯ ทำให้น้ำเน่าเสีย  ช่วงหลังคนจากที่ต่างๆ ก็มาอยู่ริมคลองมากขึ้น  มาปลูกบ้านริมคลองเพราะไม่ต้องเสียค่าเช่า บางครอบครัวก็ขยายบ้านลงไปในคลองเลย  ทำให้กลายเป็นชุมชนแออัดริมคลอง”  ลุงพยัพ บอก

ลุงพยัพ เล่าต่อ  ราวปี 2560  เริ่มมีข่าวการพัฒนาปรับปรุงคลองเปรมฯ มีทหาร  มีจิตอาสาเข้ามาช่วยเก็บขยะในคลอง  ขุดลอกคลอง  มีเจ้าหน้าที่ พอช. เข้ามาพูดคุยกับชาวบ้านเรื่องการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมฯ ให้เหมือนกับคลองลาดพร้าว  ชาวบ้านก็เริ่มกลัวว่าจะโดนไล่ที่  เพราะที่อยู่อาศัยกันมานานหลายสิบปีเป็นที่ดินของหลวง  ถ้าจะสร้างเขื่อนริมคลองตามแบบคลองลาดพร้าว  กว้าง 38 เมตร  ชาวบ้านก็จะอยู่ไม่ได้  ต้องโดนไล่ที่แน่ๆชาวบ้านทั้งชุมชนมีทั้งหมด 283 ครอบครัว  เมื่อรู้ว่าจะได้อยู่อาศัยในที่เดิม  แต่จะต้องขยับบ้านให้พ้นแนวคลอง  แนวก่อสร้างเขื่อน  และร่วมกันตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนทำเรื่องที่อยู่อาศัยโครงการ ‘บ้านมั่นคง’ ที่ พอช.จะสนับสนุน  โดยชาวบ้านร่วมกันออมเงินเป็นรายเดือนครอบครัวหนึ่งตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป  เริ่มออมช่วงปี 2561 เป็นต้นมา

ชุมชนประชาร่วมใจ 1 หลังวัดเสมียนนารี ในปัจจุบัน

เริ่มสร้างบ้านในช่วงกลางปี 2564 จำนวน 283 หลัง ขนาดบ้านมีหลายแบบ  ตามขนาดพื้นที่และจำนวนผู้อยู่อาศัย  เช่น  บ้านแถว 2 ชั้น  ขนาด 4×7, 5×6 และ 6×7 ตารางเมตร  และบ้านชั้นเดียว  ราคาประมาณหลังละ 490,000 บาท  ผ่อนชำระประมาณเดือนละ 2,800 บาท  ระยะเวลา 20 ปี   สร้างบ้านเสร็จตั้งแต่ปี 2565  ตอนนี้ชาวบ้านเข้าอยู่กันหมดแล้ว  และช่วยกันปลูกต้นทองอุไรริมคลอง  ทำให้ชุมชนดูสวยงาม  ร่มรื่น  มีทางเดินเลียบคลอง  ใช้ขี่จักรยานเลียบคลองเพื่อออกกำลังกายหรือท่องเที่ยวได้

สมร จันทร์ฉุน หรือ พี่สมร ประธานสหกรณ์เคหสถานประชาร่วมใจ 2 จำกัด เล่าว่า เดิมชุมชนประชาร่วมใจ 2 อยู่กันมามากกว่า 80 ปี ดำเนินชีวิตแบบหาเช้ากินค่ำ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป ลักษณะจะปลูกสร้างแบบพออยู่พอกินตามฐานะของแต่ละครอบครัว ซึ่งมีความทรุดโทรมไม่แข็งแรง ไม่มีความปลอดภัยในการอยู่อาศัย เมื่อมีโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเข้ามา ชาวบ้านจึงยินดีที่จะเข้าร่วมโครงการพัฒนาไปพร้อมกัน ประกอบกับเป็นโครงการที่รัฐบาลให้การสนับสนุนทั้งเรื่องงบประมาณและการอำนวยความสะดวกในการรื้อย้าย ชาวบ้านจึงรวมตัวกันเพื่อเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงชุมชนริมคลองของ พอช. โดยรวมตัวเป็นกลุ่มออมทรัพย์และจัดตั้งเป็นสหกรณ์แล้ว ในชื่อ สหกรณ์เคหสถานประชาร่วมใจ 2 จำกัด ชาวบ้านเห็นว่าโครงการนี้จะเป็นการยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชน ทั้งในด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น และชุมชนมั่นใจว่าโครงการจะสามารถพัฒนาได้สำเร็จ จนเป็นที่ยอมรับของชุมชนข้างเคียง และดีใจที่จะเป็นชุมชนแรกของคลองเปรมประชากรในการพัฒนาและคาดหวังว่าจะเป็นต้นแบบการพัฒนาให้กับชุมชนอื่น ๆ ริมคลองเปรมประชากร

ชุมชนประชาร่วมใจ 2 ในปัจจุบัน

พี่สมร เล่าต่อ   ชุมชนประชาร่วมใจ 2 ถือเป็นชุมชนแห่งแรกในคลองเปรมประชากรที่ชาวชุมชนร่วมใจกันรื้อบ้านออกจากแนวคลองเพื่อให้รัฐบาลดำเนินการพัฒนาคลองเปรมฯ ทั้งระบบ  โดยรื้อย้ายและก่อสร้างบ้านใหม่ทั้งหมด 203 หลัง ส่วนแบบบ้านมีหลายขนาดเพื่อให้ชาวชุมชนได้ร่วมออกแบบและเลือกให้ตรงกับความต้องการ  รู้สึกดีใจมากเพราะพวกเราอยู่กันที่นี่มา 40-50 ปีแล้ว   ไม่มีใครอยากย้ายไปที่ไหน   ตรงนี้เหมือนเป็นชีวิตและเป็นครอบครัวของเรา  การเข้าร่วมโครงการนี้ทำให้บ้านของเราถูกกฎหมายอยู่ได้โดยไม่หวาดระแวง และหวังว่าเรื่องยาเสพติดจะน้อยลง เพราะว่าเวลาพื้นที่พัฒนาขึ้น  สังคมก็จะพัฒนาขึ้นไปด้วย  

“พอได้บ้านใหม่ตรงนี้  สิ่งที่เรารู้สึกได้คือการพัฒนาคุณภาพชีวิต ไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน จากแต่ก่อนที่เคยอยู่กันแบบไม่มีระเบียบ  ใครอยากทำอะไรก็ทำ  เพราะเป็นสังคมแออัด  ไม่ค่อยมีความเกรงใจกัน  แต่พอเริ่มสร้างบ้านขึ้นมาใหม่  เราได้มีการวางกฎระเบียบเพื่อรักษาสังคมของเราให้น่าอยู่มากยิ่งขึ้น  ต่อไปสิ่งที่เราอยากจะพัฒนาก็คือ การสร้างอาชีพให้ชุมชนว่าตรงนี้เปรียบเสมือนหัวใจของชุมชน มีลานกีฬา  มีตลาด  เราอยากจะจัดทำตลาดชุมชน  เพื่อในอนาคตเมื่อมีการส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยวชุมชน  ชุมชนเราจะได้มีอาชีพ  มีรายได้ที่มั่นคง” พี่สมร เล่าทิ้งท้าย

นี่คือเสียงแห่งความยินดี เสียงแห่งความสุข เพียงแค่บางส่วน จากคนริมคลองเปรมประชากร ยังมีอีกหลายหลายชุมชนที่กำลังดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมประชากรซึ่งพวกเขาเหล่านั้น หวังเพียงว่า ได้อยู่อาศัยอยู่ในบ้านที่มีความมั่นคง อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี อยู่จนชั่วลูกชั่วหลาน พร้อมๆกับการพัฒนาเมืองควบคู่ไป ดังคำว่า  “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง” เพื่อความสุขอย่างยั่งยืน

ชุมชนหลัก6 หลังวัดรังสิต ปทุมธานี  ในปัจจุบัน

ชุมชนริมคลองเปรมประขากรหลังโรงแรมอัสวิน หลักสี่   ในปัจจุบัน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปทรงเปิดสวน “เปรมประชาวนารักษ์” แลนด์มาร์กสีเขียวแห่งใหม่ริมคลองเปรมประชากร พระราชทานแก่ประชาชน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ “เปรมประชาวนารักษ์”

พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก นำทีมช่างชุมชน Kick Off ซ่อมบ้านผู้ประสบภัยพิบัติ ‘แม่ยาวโมเดล’

พอช. หนุนงบกว่า 30 ล้าน ซ่อม สร้าง 6 ตำบล 875 ครัวเรือน สร้างรูปธรรม การจัดการที่ดิน ที่อยู่อาศัย ยกระดับคุณภาพชีวิต พร้อมยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายจากชุมชน ถึงรัฐบาล

สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน

UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’

รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567

ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’

‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน

รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด