การสะสมทุน-สร้างเศรษฐกิจชุมชน รูปธรรมที่ตำบลคลองน้ำไหล อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร

ปั๊มน้ำมันชุมชนตำบลคลองน้ำไหล

ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ‘กลุ่มวิสาหกิจชุมชนคนเกษตรก้าวหน้า’

ตำบลคลองน้ำไหล  อ.คลองลาน  จ.กำแพงเพชร  เป็นตำบลหนึ่งที่มีการพัฒนาชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง  จากกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตที่เริ่มก่อตั้งในปี 2541 มีสมาชิกแรกเริ่มเพียง 35 คน  มีเงินออมรวมกันประมาณ 3,800 บาท  ปัจจุบันมีสมาชิกเกือบ 900  คน  มีเงินหมุนเวียนประมาณ  22 ล้านบาท  เป็นแหล่งทุนของชุมชนที่สำคัญ  และต่อยอดไปทำปั๊มน้ำมันชุมชน 2 แห่ง  ล่าสุดผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากมูลสัตว์มียอดขายเดือนละ 1 แสนบาท  !! 

ทุนชุมชนจากกลุ่มออมทรัพย์

ตำบลคลองน้ำไหล  มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 393 ตารางกิโลเมตร  พื้นที่ส่วนหนึ่งอยู่ติดกับอุทยานแห่งชาติน้ำตกคลองลาน  ประมาณปี 2499  เริ่มมีชาวบ้านจากจังหวัดลำปางเข้ามาตั้งถิ่นฐาน  หลังร้างถางดง  ปลูกบ้านสร้างเรือนขึ้นมา  หลังจากนั้นจึงมีชาวบ้านจากจังหวัดต่างๆ  ทั้งภาคเหนือและอีสานทยอยเข้ามาอยู่อาศัย 

ปัจจุบันตำบลคลองน้ำไหลมีทั้งหมด 28 หมู่บ้าน  จำนวน 7,300 ครัวเรือน  ประชากรประมาณ 20,000 คน  ส่วนใหญ่มีอาชีพปลูกมันสำปะหลัง  ทำนา  ปลูกข้าวโพด  เลี้ยงสัตว์   ค้าขาย  และรับจ้างทั่วไป

หลังประเทศไทยประสบวิกฤตเศรษฐกิจ ‘ต้มยำกุ้ง’ ในปี 2540   เจ้าหน้าที่กรมการพัฒนาชุมชนได้เข้ามาส่งเสริมให้ชาวบ้านในตำบลต่างๆ จัดตั้ง ‘กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต’ ขึ้นมา  เพื่อเป็นแหล่งทุนของชุมชน  ให้สมาชิกกู้ยืมไปประกอบอาชีพ  หรือใช้จ่ายในยามเดือดร้อนจำเป็น  ตำบลคลองน้ำไหลเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ชาวบ้านร่วมกันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นมา

ประพันธ์  จิตคำ  อายุ 66 ปี  แกนนำพัฒนาชุมชนตำบลคลองน้ำไหล  บอกว่า  ตำบลคลองน้ำไหลจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ฯในปี 2541   มีสมาชิกเริ่มแรกประมาณ 35 คน  กำหนดให้สมาชิกออมเงินอย่างต่ำ 30-200 บาทต่อเดือน  ช่วงแรกยังมีสมาชิกไม่มาก  การบริหารจึงไม่ยุ่งยาก  คณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์ก็มาจากสมาชิกที่ช่วยกันตั้งกลุ่ม  ช่วยกันบริหารงาน  การทำบัญชีใช้วิธีจดบันทึกลงในสมุดแบบง่ายๆ ยังไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้  แต่คณะกรรมการมีความตั้งใจ       ยึดหลักการแบบเครดิตยูเนี่ยน  คือคุณธรรม 5 ประการ

ประพันธ์  จิตคำ

“เราเห็นกลุ่มอื่นๆ  จัดตั้งได้ไม่นานก็ล้มไป  บางกลุ่มก็มีปัญหาเรื่องการบริหารงาน  คณะกรรมการทำงานไม่โปร่งใส  ชาวบ้านก็ไม่เชื่อถือ  จึงตั้งใจว่าจะไม่ยอมให้กลุ่มของเราล้ม  แม้ว่าจะมีปัญหาต่างๆ  หรือโดนกล่าวหาว่าร้าย  แต่พวกเราก็ไม่ท้อ   เรายึดหลักคุณธรรม   5 ประการ  ตามที่ได้รับการอบรมมา   นำมาเป็นแนวทางในการบริหารกลุ่ม เป้าหมายก็เพื่อให้ชาวบ้านสร้างวินัยในการออมเงิน  เพราะต้องออมเงินกันทุกเดือน  อย่างน้อยเดือนละ 30 บาท  เมื่อกลุ่มมีเงินมากขึ้นก็จะให้สมาชิกกู้ยืมไปประกอบอาชีพ  หรือใช้จ่ายยามจำเป็น  ไม่ต้องไปกู้เงินนอกระบบ”  ประพันธ์บอก

คุณธรรม 5 ประการที่ประพันธ์บอก  คือ 1.ความซื่อสัตย์ต่อกัน  ถือตามสัญญาที่ให้ไว้  2.มีความเสียสละ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง   3.รับผิดชอบร่วมกัน  ปฏิบัติตามสัญญาอย่างเคร่งครัด  4.เห็นอกเห็นใจกัน  เอื้อเฟื้อ  ช่วยเหลือผู้อื่น   และ 5.ไว้วางใจกัน   ซึ่งทั้งหมดนี้มาจากหลักการ  หรือ ‘จิตตารมณ์’ ของกลุ่มการเงินแบบ ‘เครดิตยูเนี่ยน’ นั่นเอง

ด้วยหลักการทำงานดังกล่าว  ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยของกลุ่มออมทรัพย์ฯ ที่คิดเพียงร้อยละ 1.25 ต่อเดือน  หรือร้อยละ 15 ต่อปี  ซึ่งถูกกว่าเงินกู้นอกระบบที่คิดดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ต่อเดือน  จึงมีชาวบ้านสมัครเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  ขณะที่สมาชิกสามารถฝากเงินออมทรัพย์พิเศษได้ไม่จำกัดวงเงิน  และกู้ยืมได้สูงสุดถึง 3 เท่าของเงินออมของตน (ต้องมีสมาชิกค้ำประกัน)  กลุ่มจึงเติบโตขึ้นทุกปี

ปัจจุบัน (กรกฎาคม 2565)  กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตตำบลคลองน้ำไหล  มีสมาชิก  895 คน   มีเงินหมุนเวียนทั้งหมด 22 ล้านบาทเศษ  เป็นแหล่งทุนให้สมาชิกกู้ยืมเงินไปประกอบอาชีพ  เช่น  เลี้ยงหมู  วัว  สูงสุดไม่เกิน  150,000 บาท  โดยกลุ่มออมทรัพย์ฯ กู้เงินจาก ธ.ก.ส. จำนวน 2 ล้านบาทเพื่อนำมาหมุนเวียนให้สมาชิกกู้ยืมไปประกอบอาชีพ 

ด้านการบริหารงาน  มีคณะกรรมการ 18 คน  แบ่งหน้าที่กันทำงาน  เช่น  ประธาน  ฝ่ายบัญชี  พิจารณาเงินกู้  ฝ่ายตรวจสอบ  ฯลฯ  มีพนักงาน 2 คน (เป็นคนในตำบล  มีเงินเดือนประจำ)  ทำบัญชี  รับฝาก-ถอน-กู้  โดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์บันทึกข้อมูล  มีสมุดบัญชีเหมือนธนาคารพาณิชย์ทั่วไป  เปิดทำการทุกวันจันทร์-ศุกร์  เวลา 08.30-15.30 น.  สมาชิกที่กู้เงิน  จะต้องยื่นเรื่องภายในวันที่ 1-4 ของทุกเดือน  เมื่อผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการจะรับเงินได้ในวันที่ 8 ของเดือนนั้น

กลุ่มออมทรัพย์เป็นฐานในการสร้างทุนชุมชน

โตแล้วแตก...สร้างปั๊มน้ำมันชุมชน

ในช่วงปี 2546  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  มีแนวทางสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศ  จึงร่วมกับ ‘ครูชบ  ยอดแก้ว’  (ปัจจุบันเสียชีวิต)  ต้นแบบกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์วันละ 1 บาท  จาก  อ.จะนะ  จ.สงขลา  จัดเวทีแนะนำการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนขึ้นในภูมิภาคต่างๆ  ทั่วประเทศ  

แกนนำกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตตำบลคลองน้ำไหลได้เข้าร่วมเรียนรู้ด้วย  และในปีนั้นจึงได้จัดตั้ง ‘กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลคลองน้ำไหล’ ขึ้นมา  โดยมีหลักการสำคัญคือ  ให้สมาชิกลดรายจ่ายเพียงวันละ 1 บาท  หรือปีละ 365 บาท  แล้วนำเงินนั้นมาสมทบร่วมกันเพื่อช่วยเหลือสมาชิกในยามจำเป็น  ตั้งแต่เกิดจนถึงตาย

ในปี 2552 เมื่อกลุ่มออมทรัพย์ฯ ดำเนินการมาได้ 10 ปีเศษ  มีเงินกองทุนมากขึ้น  ประพันธ์ ซึ่งมีบทบาทเป็นประธานกลุ่ม  หารือร่วมกับคณะกรรมการเพื่อจะจัดตั้งปั๊มจำหน่ายน้ำมันขึ้นมา  เนื่องจากเห็นว่าตำบลคลองน้ำไหลเป็นตำบลใหญ่  มีถึง 28 หมู่บ้าน  ประชากรหนาแน่น  ชาวบ้านส่วนใหญ่ใช้มอเตอร์ไซค์  รถกระบะ  รถอีแต๋น  รถไถนา  ใช้เครื่องยนต์ในการเกษตร  จึงเห็นดีที่จะทำธุรกิจปั๊มน้ำมันในตำบล   ใช้เงินลงทุนครั้งแรกประมาณ 36,000 บาท  เป็นปั๊มเล็กๆ แบบใช้มือหมุน 

เมื่อกิจการดีขึ้น  ในปี 2562  กลุ่มออมทรัพย์ฯ ได้กู้เงินจากธนาคารออมสินจำนวน 2.4 ล้านบาทเพื่อนำมาขยายกิจการ  เป็นปั๊มแบบมาตรฐาน  มี 4 หัวจ่าย  ขายน้ำมันดีเซลและแก๊สโซฮอล์  มีพนักงานเติมน้ำมัน 1  คน  ปัจจุบันขยายไปเปิดอีก  1 แห่ง  เป็นปั๊มน้ำมันแบบหยอดเหรียญ  จำนวน 2 ตู้  (ตั้งอยู่บริเวณที่ทำการกลุ่มออมทรัพย์)  มียอดขายน้ำมันรวมกันประมาณเดือนละ 100,000 บาท   เมื่อหักรายจ่ายและค่าจ้างพนักงานแล้ว  จะมีรายได้เข้ากลุ่มออมทรัพย์ประมาณเดือนละ 15,000 บาท

ส่วนกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลคลองน้ำไหล  ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 900 คน  (สมาชิกมาจากกลุ่มออมทรัพย์) มีเงินกองทุนประมาณ  3  ล้านบาท  สมาชิกจะสมทบเงินเข้ากองทุนคนละ 365 บาทต่อปี  มีสวัสดิการช่วยเหลือ  เช่น  คลอดบุตร 1,000 บาท  (ให้เป็นเงินออมในบัญชีสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์)  เจ็บป่วยนอนโรงพยาบาลปีหนึ่งไม่เกิน 10 คืน  ช่วยเหลือคืนละ 150 บาท  เสียชีวิตช่วยเหลือ 10,000-20,000 บาท  ตามอายุการเป็นสมาชิก

ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ยอดขายเดือนละแสน

ในช่วงปลายปี 2564  กลุ่มออมทรัพย์ได้ขยายธุรกิจไปทำโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์  ใช้งบลงทุนประมาณ 600,000 บาท  เป็นเงินลงหุ้นจากกลุ่มออมทรัพย์  กองทุนสวัสดิการ  และสมาชิกลงหุ้นในนามบุคคล  ผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากมูลเป็ด  ไก่  หมู  ค้างคาว  แร่ยิปซั่ม  ฟอสเฟต  โคโลไมท์  เปลือกไข่  แกลบดำ  ฯลฯ   ใช้ชื่อกลุ่มว่า ‘กลุ่มวิสาหกิจชุมชนคนเกษตรก้าวหน้า’ (ตรานกอินทรีย์ขาว) โดยมีชาวบ้านในชุมชนช่วยกันผลิต 7 คน  ได้ค่าแรงวันละ 300 บาท 

ส่วนขั้นตอนการผลิต  กลุ่มจะรับซื้อวัตถุดิบที่มีอยู่ในชุมชน  เช่น  มูลไก่จากชาวบ้านที่เลี้ยงไก่  ราคากระสอบละ50 บาท (ประมาณ 25 กิโลกรัม)  มูลหมูกระสอบละ 30 บาท  ส่วนวัตถุดิบที่ชุมชนไม่มีจะสั่งซื้อจากภายนอก   โดยจะนำส่วนผสมทั้งหมดมาคลุกเคล้าให้เข้ากันดีแล้วจึงนำเข้าเครื่องตีป่น   แล้วนำเข้าเครื่องร่อนเพื่อแยกเศษหินและบนเศษวัสดุอื่นๆ ออก     

จากนั้นจึงนำเข้าเครื่องผสมปุ๋ย  ราดด้วยน้ำหมักชีวภาพ  ผสมให้เข้ากัน  แล้วนำมาเทกอง  คลุมด้วยผ้าใบ 1 คืน  ตอนเช้าจึงนำมาเข้าเครื่องบดอัดเป็นเม็ดหรือแท่ง   นำไปตากแดดที่ลานตากให้แห้งสนิท  แล้วนำมาบรรจุถุงๆ ละ 25 กิโลกรัม  หากแดดจัดๆ  วันหนึ่งจะผลิตได้ถึง 120  ถุง  ต้นทุนประมาณถุงละ 110 บาท  ราคาจำหน่ายสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์และกองทุนสวัสดิการ  ถุงละ 180 บาท  ขายทั่วไปถุงละ 200 บาท  

มียอดขายเฉลี่ยเดือนละ 500 ถุง  เช่น  เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา  มียอดขาย  597  ถุง  ราคาขายรวม  109,360 บาท  เดือนมีนาคมมียอดขาย 1,247 ถุง  ราคาขายรวม 232,680 บาท  หักต้นทุนแล้วจะมีรายได้สุทธิประมาณถุงละ 70-90 บาท  หรือมีรายได้เข้ากลุ่มไม่ต่ำกว่าเดือนละ 35,000-40,000 บาท 

ส่วนด้านการตลาด  ในช่วงแรกยังเป็นการประชาสัมพันธ์แบบปากต่อปาก  โดยมีสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ฯ  กองทุนสวัสดิการชุมชนและเครือข่ายสวัสดิการชุมชนช่วยกันแนะนำ  บอกต่อผ่านกลุ่มไลน์และเฟซบุ๊ก

“ปุ๋ยของเราตอนแรกตั้งใจว่าจะขายภายในตำบลเพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านทำเกษตรอินทรีย์  แต่เมื่อราคาน้ำมันแพงขึ้น  ประเทศผู้ผลิตปุ๋ยเคมี  เช่น  รัสเซีย  ยูเครน  เกิดสงคราม  ทำให้การขนส่งลำบาก  ราคาปุ๋ยเคมียิ่งแพงขึ้น  เกษตรกรจึงหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์มากขึ้นด้วย  ตอนนี้เราส่งไปขายหลายจังหวัดในภาคเหนือ  บางคนก็ซื้อไปขายต่อ  เพราะใช้แล้วเห็นผลดี  ราคาถูก  จึงบอกกันปากต่อปาก  มีประโยชน์ช่วยบำรุงดิน  บำรุงพืชทุกชนิด  ทำให้ผลผลิตงอกงาม    โตไว  ไม่มีสารตกค้าง”  ประพันธ์บอก

นอกจากนี้เขายังบอกด้วยว่า  การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ของชุมชนถ้าดำเนินการต่อไปได้ดีก็จะเป็นรายได้หลักที่จะช่วยให้กลุ่มออมทรัพย์ฯ และกองทุนสวัสดิการชุมชนเติบโตเข้มแข็ง  สามารถพึ่งพาตัวเองได้  

นี่คือตัวอย่างการสะสมทุนชุมชนของชาวบ้านตำบลคลองน้ำไหล  อ.คลองลาน  จ.กำแพงเพชร  นำไปสู่การสร้างธุรกิจชุมชนที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ  ช่วยสร้างงาน  สร้างรายได้  เป็นแหล่งทุน  และสร้างสวัสดิการให้แก่ชุมชนได้อย่างยั่งยืน   !!

คณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์และกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลคลองน้ำไหล

 

เรื่องและภาพ :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แพปลา ธนาคารปูชุมชนแหลมผักเบี้ยเพชรบุรี ต้นแบบในการฟื้นฟูท้องทะเลไทย

ความอุดมสมบูรณ์ของทะเลเมืองเพชร ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ได้ถูกฟื้นฟูโดยชาวประมงกลุ่มหนึ่ง เริ่มจากจุดเล็กๆ ทำแพปลาชุมชนแหลมผักเบี้ย

คนลิบงร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล “พะยูนอยู่ไม่ได้ คนเกาะลิบงก็อยู่ไม่ได้”

“ถ้าไม่มีพะยูน คนเกาะลิบงก็อยู่ไม่ได้ เพราะถ้าที่ไหนมีพะยูน ท้องทะเลตรงนั้นก็จะแสดงถึงความอุดมสมสมบูรณ์ และคนเกาะลิบงส่วนใหญ่ก็หากินกับท้องทะเล

สสส. พอช. และไทยพีบีเอส เปิดบ้าน ชวนคนรุ่นใหม่เสนอโครงการ คนรุ่นใหม่คืนถิ่นเฟส 2 “Movement คนรุ่นใหม่”

สสส. : วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม 2567 เวลา 10.00 – 12.00 น. สสส. ร่วม พอช. และ Thai PBS เปิดบ้านรับข้อเสนอโครงการ “Movement คนรุ่นใหม่” ตั้งแต่วันนี้ – 25 พฤษภาคม 2567

พอช. แจงความคืบหน้าในการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากรถไฟทางคู่ 9 จังหวัด ภาคใต้

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.เดินหน้าแก้ไขปัญหาชุมชนในที่ดินการรถไฟฯ ทั่วประเทศตาม มติ ครม.14 มีนาคม 2566 ในพื้นที่ 35 จังหวัด 300 ชุมชน จำนวน 27,084 ครัวเรือน ใช้งบประมาณรวม 7,718 ล้านบาทเศษ

พอช. ร่วม ศูนย์คุณธรรม และ สช. ขับเคลื่อนคุณธรรมของเครือข่ายทางสังคม มุ่งสร้างคุณธรรมด้วยระบบเครดิตทางสังคม

กรุงเทพมหานคร / วันนี้ 29 เมษายน 2567 ระหว่างเวลา 14.00 – 16.00 น. ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) นำโดย รศ นพ.สุริยเดว ทรีปราตีผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม

พอช. ร่วม 3 พื้นที่รูปธรรมภาคอีสาน ถอดบทเรียนเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่น

ระหว่างวันที่ 22-24 เมษายน 2567 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) โดยสำนักพัฒนาองค์ความรู้และสื่อสารองค์กร ร่วมกับสำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลงพื้นที่ถอดบทเรียน 3 พื้นที่รูปธรรม