ครั้งแรกในรอบ 500 ปี มช.ใช้เทคโนโลยีปรากฏการณ์แสง ต่อยอดองค์เจดีย์หลวง สุดอลังการ

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สร้างความฮือฮา กับผลงานนิทรรศการสุดตระการตา “ต่อยอด แสงหลวง” ปลุกโบราณสถานให้ตื่น ต่อยอดองค์เจดีย์หลวง ด้วยเทคโนโลยีปรากฏการณ์แสง ในแบบที่ไม่มีใครเคยเห็นในรอบ 500 ปี  ชี้เป็นการร่วมสร้างมุมมองใหม่ นำปัจจุบันกลับไปยังอดีต เกิดการพัฒนาอย่างสร้างสรรค์

วันนี้( 28 ส.ค.2565 ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ด้านการบริหารนวัตกรรม วิเทศสัมพันธ์ และสื่อสารองค์กร เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยเขียงใหม่ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในส่วนภูมิภาค ที่จัดตั้งขึ้นตามนโยบายของรัฐ และเจตนารมณ์ของประชาชนในภาคเหนือ ให้เป็นศูนย์กลางทางวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง เพื่ออำนวยประโยชน์แก่ท้องถิ่นและประเทศชาติโดยส่วนรวม โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เป็นแหล่งสะสม ค้นคว้า วิจัย และถ่ายทอดความรู้ ตามวิสัยทัศน์ที่ว่า มหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยหนึ่งในพันธกิจที่สำคัญ คือ การมุ่งสืบสานวัฒนธรรมล้านนา-ไทยและบำรุงรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อการสืบสานพัฒนาล้านนาอย่างสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน เพื่อที่เชียงใหม่และภาคเหนือเป็นแหล่งท่องเที่ยว และสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจ สร้างอาชีพให้แก่ประชาชนได้ในอนาคต

“เชียงใหม่ ถือเป็นเมืองที่มีความผสมผสานอารยธรรมความล้านนา และความทันสมัยอย่างลงตัว ดั่งนั้น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) วิทยาลัยสื่อ ศิลปะ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) จึงร่วมกันจัดงาน KHUM Awaken Innovation Creative Economy โครงการส่งเสริมและพัฒนาการขยายผลธุรกิจนวัตกรรมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์พื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ขึ้น วัตถุประสงค์เพื่อตอบสนองต่อพันธกิจมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่จะสืบสานวัฒนธรรมล้านนา เป็นแหล่งสะสมองค์ความรู้ เผยแพร่ และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และผลงานตระการตา “ต่อยอด แสงหลวง” เป็น 1 ใน 3 นิทรรศการแสดงผลงานของการจัดงานครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่” ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ กล่าว   

ศาสตราจารย์ดร.ระวิวรรณ โอฬารรัตน์มณี คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า พระธาตุเจดีย์หลวง ตั้งอยู่ที่วัดเจดีย์หลวงวรมหาวิหาร อำเภอเมืองเชียงใหม่ สร้างขึ้นในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 20 ในสมัยพญาแสนเมืองมา ถือเป็นเจดีย์ที่สูงที่สุดในภาคเหนือ โดยจากการศึกษาเทียบเคียงหลักฐาน ตํานาน และข้อสันนิษฐานต่าง ๆ คาดว่า เดิมมีความสูงประมาณ 70 เมตร ฐานเจดีย์เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างประมาณด้านละ 60 เมตร แต่เมื่อ 477 ปีที่แล้ว ได้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ทำให้ส่วนยอดของเจดีย์หัก เหลือความสูงเพียง 40 เมตร ดั่งที่เห็นในปัจจุบัน และได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการทดลองนวัตกรรมสถาปัตยกรรม ที่มุ่งเน้นการต่อยอดภูมิปัญญาด้วยนวัตกรรมเพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ชุมชน 

“แนวคิดมาจากคําถามสำคัญว่า เราจะสามารถปลุกโบราณสถาน ให้ตื่นและมีชีพจรในจังหวะเดียวกับสังคมร่วมสมัยได้อย่างไร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงมีการค้นหาวิธีการสร้างประสบการณ์ใหม่ที่เร้าความรู้สึกด้วยปรากฏการณ์แสง และเป็นที่มาของผลงาน ตระการตา “ต่อยอด แสงหลวง” ที่ถือเป็นปรากฏการณ์ที่สามารถกระตุ้นให้ผู้คน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ได้เกิดความสนใจ และเริ่มหันมาสร้างบทสนทนาด้วยภาษาใหม่กับโบราณสถาน และงานชิ้นนี้เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า การเลือกใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สร้างสรรค์อาจเป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถที่ช่วยปลุกชีวิตให้มรดกทางวัฒนธรรมอื่นๆ สามารถเดินไปพร้อมกับจังหวะของโลกร่วมสมัยได้”ดร.ระวิวรรณ กล่าว

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุรินทร์ ธราวิจิตรกุล หัวหน้าศูนย์นวัตกรรมล้านนาสร้างสรรค์ (CLIC) กล่าวว่า สำหรับเทคนิคที่ใช้ เป็นการฉายแสงเลเซอร์เติมไปในบริเวณส่วนยอดขององค์เจดีย์หลวงที่หายไป โดยเป็นการใช้ปรากฏการณ์แสงเติม รูปทรงและสัดส่วนความสูงให้กับองค์เจดีย์หลวง ด้วยเทคนิคที่เรียกว่า “Projection” หรือ “ภาพฉาย” สร้างอุโมงค์แสงเสมือน (Space) ซ้อนทับลงไปกับองค์เจดีย์ ทำให้เกิดเป็นเส้นรอบรูปไปที่องค์เจดีย์ เพื่อแสดงสัดส่วนและความสูงของเจดีย์ที่สมบูรณ์ ส่งผลทำให้ชาวเชียงใหม่รวมถึงนักท่องเที่ยว ได้มีโอกาสได้ย้อนไปสัมผัสความสง่างามขององค์เจดีย์หลวงในอดีต หลังจากที่ไม่มีใครเคยเห็นมาเกือบ 500 ปี นับเป็นการแสดงผลงานที่ประชาชนและนักท่องเที่ยวไม่ควรพลาดที่จะได้มาเยี่ยมชม โดยกำหนดจัดแสดงอย่างต่อเนื่องทุกวันอาทิตย์  เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม และไปสิ้นสุดในวันที่ 25 กันยายน 2565 ในช่วงเวลา 20.00- 22.00 น. ณ วัดเจดีย์หลวงวรมหาวิหาร

อนึ่ง สำหรับนิทรรศการแสดงผลงานอีก 2 ส่วนสำคัญ ได้แก่ KHUM X NIA Innovative Showcase (SHOW CASE X SHOW KHUM) งานแสดงสินค้าธุรกิจนวัตกรรมสร้างสรรค์ของผู้ประกอบการ ที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมดั้งเดิมและอัตลักษณ์ของเชียงใหม่มาผลิตเป็นผลงานที่มีความร่วมสมัย สามารถปรับใช้ได้จริงกับชีวิตปัจจุบัน โดยงานแสดงจะจัดต่อเนื่องทุกวันอาทิตย์ จนถึงวันที่ 25 กันยายน 2565 เวลา 17.30-21.30 น. ณ ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์) และนิทรรศการ "สถาปัตยกรรมสมัยใหม่เมืองเชียงใหม่: ภาพสะท้อนความทันสมัย Chiang Mai Modern Architecture: the Reflection of Modernity" โดย รศ.ดร.สันต์ สุวัจฉราภินันท์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มช. และ "Modernized Bangkok" โดย foto-momo 2 นิทรรศการที่ถ่ายทอดภาพของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในเชียงใหม่และกรุงเทพฯ ที่เป็นนวัตกรรมทางสังคม ที่สะท้อนวิธีคิด ชีวิต และความเป็นอยู่ของผู้คนของยุคสมัยหนึ่ง จัดแสดงจนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2565 ทุกวัน เวลา 8:30 - 16:30 น. (ปิดวันจันทร์) ณ ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

มช. เปิดตัวเว็บไซต์ แสดง Dashboard ระบบการเฝ้าระวังโรคที่เป็นผลกระทบจากปัญหาหมอกควัน และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นพ.สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหัวหน้าโครงการวิจัย

มช. เปลี่ยนการเผาเป็นพลังงานสะอาด พัฒนาชีวมวลจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ทดแทนการใช้ถ่านหิน ลดมลพิษ เพิ่มโอกาสแก่ชุมชน

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย คณะวิศวกรรมศาสตร์ เดินทางไปยังอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่เพื่อสาธิตวิธีการใช้เครื่องต้นแบบ Torrefactor และ Pyrolyzer นำทีมโดย ศาสตราจารย์ ดร.นคร ทิพยาวงศ์

เปิดศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวข้าวหรือ “โรงเรียนโรงสีแห่งแรก” ของประเทศไทย

เมื่อวันที่ 26 ก.ย.ที่บริษัท ยนต์ผลดี จำกัด จ.นครสวรรค์ มีพิธีเปิดศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวข้าว มี ดร.วิสูตร จิตสุทธิภากร ตำแหน่ง ประธานกรรมการบริษัท ยนต์ผลดี จำกัด