“รสนา”ยื่นสภา กทม.พิจารณาไม่รับโอนหนี้สิน รถไฟฟ้าสีเขียวส่วนตอขยาย

ที่สภากทม. อาคาร ไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร2 ดินแดง นางรสนา โตสิตระกูล ได้ยื่นหนังสือถึงประธานสภากทม.และสก.50เขต เพื่อให้สภากทม.มีมติไม่เห็นชอบรับโอนทรัพย์สิน/หนี้สินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย(2)มาเป็นหนี้ของกทม. ที่เป็นภาระเกินตัวกทม.จนนำไปสู่การขยายสัมปทานรถไฟฟ้าส่วนหลักที่กำลังจะหมดสัมปทานในปี2572ไปอีก30ปี เพื่อแลกหนี้ที่ไม่ใช่ของ กทม. ซึ่งสภา กทม.ควรระวังจะผิด มาตรา 157 ถ้ารับโอนหนี้ส่วนต่อขยายที่ 2
.
ซึ่งในวันนี้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจะนำเรื่องแผนจัดการรถไฟฟ้าสีเขียวส่วนต่อขยาย (2) และหนี้สินในส่วนต่อขยาย (1) และ (2 ) เข้าพิจารณาในที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร เพื่อขอให้มีมติแก้ไขปัญหาที่ค้างคาสะสมมาตั้งแต่สมัยอดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนก่อนนั้น นางรสนาจึงขอเสนอให้สภากรุงเทพมหานครโปรดพิจารณาไม่ให้ความเห็นชอบในการรับโอนทรัพย์สินและหนี้สินส่วนต่อขยาย (2) มาเป็นของกรุงเทพมหานคร เพราะจะทำให้กรุงเทพมหานครต้องแบกรับภาระเกินตัวจนถึงขั้นล้มละลายได้ และยังถูกบีบต้องแก้ไขหนี้สินด้วยการขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลักให้เอกชนออกไปอีก 30 ปี จนถึงปี 2602 ซึ่งจะกลายเป็นภาระให้กับประชาชนคนกรุงเทพมหานครที่ต้องจ่ายค่าโดยสารรถไฟฟ้าราคาแพงต่อไปอีก 30 ปี

ทั้งที่เมื่อถึงปี 2572 ระบบรถไฟฟ้าสายสีเขียวจะสิ้นสุดสัมปทานและกลับคืนเป็นของกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะไม่มีต้นทุนค่าโครงสร้างระบบรางอีก เหลือเพียงค่าจ้างเดินรถและค่าบำรุงรักษาเท่านั้น ดังนั้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวจึงควรถูกลงสำหรับประชาชนชาวกรุงเทพมหานคร ที่ได้ร่วมกันจ่ายค่าโครงสร้างระบบรางของรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลักผ่านค่าโดยสารมาตลอดระยะสัมปทาน 30 ปี (ตั้งแต่ปี 2542 - 2572) นอกจากนี้กรุงเทพมหานครยังจะมีรายได้เชิงพาณิชย์อีกปีละประมาณ 5,000 ล้านบาท และนี่คือประโยชน์ของชาวกรุงเทพมหานครที่จะได้ค่าโดยสารที่ถูกลง
นางรสนากล่าวตอว่า หากที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครมีมติเห็นชอบการรับหนี้ส่วนต่อขยาย (2) ซึ่งยังไม่ใช่หนี้ของกรุงเทพมหานคร และยังเป็นเส้นทางคาบเกี่ยวนอกเขตที่ไปถึงจังหวัดปทุมธานีและจังหวัดสมุทรปราการ ภาระหนี้ดังกล่าวจึงไม่ควรเป็นของกรุงเทพมหานครในฐานะที่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีหน้าที่ดูแลเฉพาะพื้นที่ขอบเขตกรุงเทพมหานครเท่านั้น ซึ่งการไปรับโอนหนี้ส่วนต่อขยาย (2) จากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม.มาเป็นหนี้ของกรุงเทพมหานครเองนั้น นอกจากจะไม่ได้ก่อเกิดผลประโยชน์อันใดต่อประชาชนกรุงเทพมหานครแล้ว ยังเป็นกลอุบายเพื่อต่อสัญญาสัมปทานสายสีเขียวส่วนหลักไปอีก 30 ปี เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินที่ไม่ใช่หนี้ของกรุงเทพมหานคร ดังนั้นสภากรุงเทพมหานครควรมีมติส่งคืนรัฐบาล โดยไม่รับโอนส่วนต่อขยาย (2) ตามคำสั่งของรัฐบาล คสช.

ทั้งนี้ นางรสนาเห็นด้วยกับดำริของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่เสนอจะยกรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งเส้นรวมทั้งเส้นทางหลัก (ที่ติดสัมปทานถึงปี 2572) คืนให้รัฐบาลบริหารจัดการแบบเจ้าของเดียว เพื่อเป็นการทำให้รถไฟฟ้าสายสีเขียวถูกบริหารเป็นระบบเดียวกับรถไฟฟ้าทั้ง 10 สายในระยะทางรวม 499 กิโลเมตร ด้วยระบบตั๋วใบเดียว ราคาเดียว ในราคาถูกที่สุด ไม่มีค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน ซึ่งเกิดขึ้นได้ต้องไม่ขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลักไปอีก 30 ปี

หากสภากรุงเทพมหานครให้ความเห็นชอบการรับโอนทรัพย์สิน/หนี้สินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย (2) จนต้องแก้ไขปัญหาหนี้สินด้วยการขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลักจะทำให้ประชาชนชาวกรุงเทพมหานครต้องเสียประโยชน์ ต้องจ่ายค่าโดยสารแพงต่อไปอีก 30 ปี จากมูลเหตุอันไม่ใช่หนี้ของกรุงเทพมหานคร ที่สำคัญหากสมาชิกสภากรุงเทพมหานครท่านใดที่ลงมติเห็นชอบอาจต้องระวังว่าจะเข้าข่ายเป็นการกระทำที่มีความรับผิดตามมาตรา 157 ด้วยหรือไม่

จึงขอเสนอให้ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร โดยสมาชิกสภากรุงเทพมหานครทั้ง 50 เขต มีมติไม่ให้ความเห็นชอบรับรองการรับโอนทรัพย์สิน/หนี้สินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย (2) เพื่อรักษาผลประโยชน์อันชอบธรรมของชาวกรุงเทพมหานครต่อไป นางรสนากล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทีมทนายบิ๊กโจ๊ก ยื่น ‘รรท.ผบ.ตร.’ ขอส่งสำนวนคดีเว็บพนัน สน.เตาปูน ไปป.ป.ช.

ทนายความผู้ได้รับมอบอำนาจจากพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผบ.ตร. เข้ายื่นหนังสือถึงพล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ดูวอลเลย์เป็นเหตุ! 'เรืองไกร' ร้อง กกต. สอบ 'พิธา'

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เปิดเผยว่า เช้านี้ได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS เพื่อขอให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบว่า สมาชิกภาพของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์

'ชัชชาติ' หวิดไปแล้ว! โครงติดตั้งจอแอลอีดีถล่มกลางสภากทม.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานครเก็บกวาดโครงวัสดุติดตั้งจอแอลอีดีขนาดใหญ่ที่ติดตั้งในห้องประประชุมสภากทม. ดินแดง