ติดต่อราชการออนไลน์สะดวกรวดเร็ว กับกฎหมายการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์

เคยไปติดต่อราชการด้วยตนเอง แล้วพบความยากลำบากเกินควรไหมครับ? เสียทั้งเวลาเดินทาง เวลาต่อคิวเป็นวัน ๆ เสียทั้งเงินทอง ไม่ว่าจะค่าเดินทาง ค่าถ่ายเอกสาร และค่าอื่น ๆ จิปาถะอีกมากมาย แถมช่วง 2 - 3 ปีหลังมานี้ยังมีเรื่องของความเสี่ยงที่จะเสียสุขภาพ ติดโควิดจากสถานที่ราชการหรือจากการเดินทาง เอากลับบ้านมาติดครอบครัวอีก  ยิ่งไปกว่านั้นในหลายกรณีเรียกได้ว่ามีความวัดดวง คือไปติดต่อแล้วไม่บรรลุผลตามความประสงค์ในครั้งเดียว หากแต่ต้องเทียวไปเทียวมา หอบหิ้วเอกสารไป-กลับหลายต่อหลายครั้ง เพิ่มต้นทุนหลายเท่าตัว กว่าจะสำเร็จในแต่ละเรื่องแต่ละงาน (ทำให้เกิดกิจการรับเดินเรื่องติดต่อราชการอันเป็นที่นิยมแพร่หลายในปัจจุบัน ซึ่งก็ยิ่งเพิ่มต้นทุนให้ประชาชนขึ้นไปอีก)

ท่ามกลางความยากลำบากที่เคยประสบพบมาเหล่านั้น หลายท่านอาจจะเคยมีความสงสัยว่า ด้วยโลกยุคนี้ก็พัฒนาไปมากแล้ว หลาย ๆ เรื่องหลายๆ อย่างที่เคยต้องไปทำด้วยตัวเอง แต่เดี๋ยวนี้ทำในมือถือหรือทางออนไลน์ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็เช่น การทำธุรกรรมกับธนาคาร การชำระเงินต่าง ๆ การชอปปิง ซื้อของจากห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ตลอดจนการสั่งอาหาร เครื่องดื่ม หรือแม้แต่การประชุม และการเรียนหนังสือตั้งแต่ระดับมหาวิทยาลัยลงมาจนเด็กอนุบาล...

แล้วทำไมการติดต่อราชการโดยส่วนใหญ่ จึงยังไม่สามารถทำทางออนไลน์ได้อย่างเป็นรูปธรรมจริง ๆ สักที?  ทั้งที่จะว่าไปรัฐบาลก็มีนโยบายที่ชัดเจนในเรื่องนี้ ตั้งแต่นโยบายและมติของคณะรัฐมนตรี ไปจนถึงรัฐธรรมนูญ ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศ ต่างก็เน้นย้ำให้ความสำคัญกับการให้บริการประชาชนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลทั้งสิ้น แต่ในความเป็นจริง หากประชาชนส่งอีเมลไปติดต่อราชการกับหน่วยงานรัฐ เมลนั้น ก็มักถูกกองไว้ใน inbox ไม่มีใครไปรับเรื่องมาดำเนินการ หรือหากมีเจ้าหน้าที่รับ สุดท้ายก็ถูกเรียกให้ไปพบหรือขอเอกสารเป็นกระดาษอยู่ดี ทำให้ประชาชนยังต้องไปติดต่อด้วยตัวเองเช่นเดิม ยังต้องยื่นเอกสารเป็นกระดาษเหมือนเดิม หากอยากให้กิจการงานของตนลุล่วงไปตามที่ปรารถนา

คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เล็งเห็นถึงสภาพปัญหา และความจำเป็นในการแก้ปัญหาดังกล่าว ประกอบกับที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) ได้ไปขับเคลื่อนดำเนินงาน e-Service แล้วพบว่าสาเหตุของปัญหาดังว่านั้น อุปสรรคสำคัญประการหนึ่งเกิดจากกฎหมายหรือกฎระเบียบ ที่อาจบัญญัติขึ้นมาในบริบทที่เป็นอนาล็อก (analog) ซึ่งสิ่งต่าง ๆ ขับเคลื่อนด้วยกายภาพ (เช่น การกำหนดให้ต้องไปยื่นเรื่องหรือชำระเงิน ณ สถานที่ทำการ) เมื่อนำมาปรับใช้ในยุคดิจิทัลในปัจจุบันจึงเกิดความล้าสมัย ไม่รองรับสภาพแวดล้อมและพฤติกรรมมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งสองหน่วยงานจึงเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้มีการตรากฎหมายเพื่อแก้ปัญหานี้ ซึ่งในที่สุด “ร่างพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ....” ก็ได้ผ่านสภาไปเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และน่าจะใกล้ประกาศใช้บังคับให้เกิดประโยชน์แก่การติดต่อราชการของประชาชนชาวไทยในเร็ว ๆ นี้

กฎหมายการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ที่คณะกรรมการพัฒนากฎหมายจัดทำขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 8 ธันวาคม 2563 นั้น เป็นกฎหมายกลางที่มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้การยื่นคำขอหรือติดต่อใด ๆ ระหว่างประชาชนกับหน่วยงานของรัฐ การออกเอกสารของรัฐให้แก่ประชาชน และการติดต่อราชการระหว่างหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน สามารถทำโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย โดยเจ้าหน้าที่ไม่ต้องกลัวทำผิดกฎหมายหรือกฎระเบียบของหน่วยงานตนอีกต่อไป  ทั้งนี้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน รวมทั้งลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพแก่การปฏิบัติราชการของภาครัฐ และศักยภาพของประเทศโดยรวม

นอกจากนั้น กฎหมายดังกล่าวยังมีการกำหนดเรื่องที่จะเป็นประโยชน์แก่การดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพของประชาชนอีกมากมาย อาทิ ให้ประชาชนสามารถแสดงเอกสารหลักฐานต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ (เช่น การโชว์รูปภาพของใบอนุญาตหรือบัตรต่าง ๆ ที่ถ่ายเก็บไว้ในมือถือ) ถ้าประชาชนนำเอกสารราชการตัวจริงมาติดต่อห้ามเจ้าหน้าที่เรียกสำเนาจากประชาชนอีก การแสดงใบอนุญาตติดผนังไว้ในสถานที่ประกอบกิจการให้สามารถแสดงโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ รวมทั้งให้หน่วยงานผู้อนุญาตจัดให้มีฐานข้อมูลใบอนุญาตให้ประชาชนตรวจสอบได้ทางออนไลน์ และที่เป็นพื้นฐานสำคัญคือ ต่อไปหน่วยงานรัฐทุกหน่วยต้องมีช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (เช่น อีเมลกลางของหน่วยงาน) ให้ประชาชนติดต่อได้เสมอ โดยต้องประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป รวมทั้งต้องมีเจ้าหน้าที่คอยรับเรื่องหรือส่งเรื่องต่อตลอดเวลา เพราะการส่งเรื่องของประชาชนมาทางช่องทางอิเล็กทรอนิกส์นั้นมีผลตามกฎหมายโดยสมบูรณ์เช่นเดียวกับการยื่นเป็นเอกสาร การเพิกเฉยหรือไม่ดำเนินการให้จึงอาจเป็นความผิดอาญาหรือวินัยฐานไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและละทิ้งหน้าที่ราชการได้

อย่างไรก็ดี นอกจากการแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางข้อกฎหมายด้วยกฎหมายการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวแล้ว ในการที่จะสร้างสังคมดิจิทัลในภาครัฐให้สำเร็จเป็นรูปธรรมได้นั้น จำเป็นที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติและ mindset ในการบริการประชาชน รวมทั้งการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจทางเทคโนโลยี (digital literacy) ไปพร้อมกับการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ทางเทคโนโลยีอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันด้วย  ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์คือ ประโยชน์สุขของประชาชน และเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ให้ก้าวทันและอยู่รอดได้ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ (the world of disruption) ต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

การใช้มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมคุณภาพยาเพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชน

การจะพัฒนากฎหมายเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามวิสัยทัศน์ “Better Regulation for Better Life” ได้นั้น นอกจากการพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทางด้านเศรษฐกิจแล้วนั้น

บทบาทของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกากับการขับเคลื่อนงานด้านกฎหมายเกี่ยวกับ “Soft Power”

นโยบายสำคัญอย่างหนึ่งที่ได้รับความสนใจและมีการกล่าวถึงอย่างแพร่หลายของรัฐบาลที่นายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) เข้ามาบริหารประเทศ

การยกเลิกกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น

สิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยรัฐจะดำเนินการที่กระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพดังกล่าวได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายให้อำนาจเท่านั้น

Regulate to elevate : บทบาทของกฎหมายกับการพัฒนาด้านสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

โลกหลังจากวิกฤติโควิด-19 ประชาชนหันมาให้ความสนใจในการพัฒนาด้านสังคมและเศรษฐกิจด้วยแนวคิดความยั่งยืนเป็นหลักการสำคัญ การจัดทำนโยบายแห่งรัฐและกระบวนการกฎหมายจึงจำเป็นต้อง

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กับการพัฒนากฎหมายที่ช่วยส่งเสริมสตาร์ทอัพ

การพัฒนาระบบเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการพัฒนาประเทศ ในยุคปัจจุบันเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเป็นเครื่องมือ

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้านกฎหมาย ซอฟต์พาวเวอร์ที่เอื้อมถึง

หลายท่านอาจไม่ทราบว่า นอกจากภารกิจด้านการตรวจพิจารณาร่างกฎหมายและการให้ความเห็นทางกฎหมายแล้ว สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกายังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาคุณภาพ