บรรยากาศการประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลปี 2565
พอช. / ผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบลทั่วประเทศ 200 คน เปิดประชุมสภาองค์กรชุมชนระดับชาติปี 2565 ที่ พอช. ชูประเด็น “สภาองค์กรชุมชนเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา สร้างการกระจายอำนาจ สู่ความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น ภายใต้วิถีวัฒนธรรมพื้นถิ่น” โดยจะมีการประชุมหารือใน 5 ประเด็นหลัก คือ สิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชน การกระจายอำนาจ เศรษฐกิจฐานราก และผลกระทบจากนโยบายการพัฒนา เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โครงการผันน้ำยวมแม่ฮ่องสอน ฯลฯ เพื่อนำข้อเสนอจากภาคประชาชนสู่ ครม. พิจารณาแก้ไขปัญหา
ระหว่างวันที่ 29-30 พฤศจิกายน มีการจัด ‘การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล ประจำปี 2565’ ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’ ถนนนวมินทร์ เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ โดยมีผู้แทนสภาองค์กรชุมชนทั่วประเทศ 77 จังหวัดๆ ละ 2 คน พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ เจ้าหน้าที่และผู้บริหาร พอช. เข้าร่วมประมาณ 200 คน
ส่วนหนึ่งของผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบลจากทั่วประเทศเข้าประชุมจังหวัดละ 2 คน
เปิดประชุมสภาฯ ถก 5 ประเด็นหลัก
นายทองใบ สิงสีทา หัวหน้าสำนัก สำนักประสานเครือข่ายสภาองค์กรชุมชน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวว่า สภาองค์กรชุมชนตำบลก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2551 ตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ รักษาการตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ และมีสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ทำหน้าที่ส่งเสริมการจัดตั้งและการดำเนินกิจการของสภาองค์กรชุมชนตำบล
ปัจจุบันสภาองค์กรชุมชนตำบลดำเนินการมาได้ 14 ปี มีการจัดตั้งในระดับตำบล เทศบาล และเขต (ในกรุงเทพฯ) รวมทั้งหมด 7,795 แห่ง ที่ผ่านมา สภาฯ มีบทบาทในการเป็นกลไกการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น รวมทั้งยังสามารถนำปัญหาหรือผลกระทบจากการพัฒนาประเทศเสนอเข้าสู่ที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลเพื่อเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีได้ (ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ ‘14 ปี สภาองค์กรชุมชน...’ / www.thaipost.net/ public-relations-news/270916/)
สภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านดง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ใช้สภาฯ ขับเคลื่อนทวงคืนผืนป่าสาธารณะห้วยเม็กเนื้อที่ 31 ไร่ จากบริษัทเครื่องดื่มผสมเคเฟอีนชื่อดังที่ทำเรื่องขอเช่าที่ดินสาธารณะโดยไม่ถูกต้องในช่วงปี 2559-2560 จนได้ป่าสาธารณะคืนมา
ทั้งนี้ตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ มาตรา 30 กำหนดว่า “ในปีหนึ่งให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ จัดให้มีการประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลอย่างน้อยหนึ่งครั้ง”
มาตรา 32 ให้ที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล ดำเนินการเรื่องต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
(1) กำหนดมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งและการพัฒนาสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบลให้เกิดความเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้ เพื่อเสนอให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ
(2) ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคมและกฎหมาย รวมทั้งการจัดทำบริการสาธารณะของหน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผลต่อพื้นที่มากกว่าหนึ่งจังหวัดทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม
(3) สรุปปัญหาที่ประชาชนในจังหวัดต่าง ๆ ประสบ และข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขเพื่อเสนอต่อคณะ รัฐมนตรีพิจารณาสั่งการ
“การประชุมในปีนี้มี Theme หรือสาระสำคัญในการประชุม คือ ‘สภาองค์กรชุมชนเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา สร้างการกระจายอำนาจ สู่ความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น ภายใต้วิถีวัฒนธรรมพื้นถิ่น’ โดยจะมีการประชุมหารือใน 5 ประเด็นหลัก คือ 1.สิทธิชุมชน 2.สิทธิมนุษยชน -3.การกระจายอำนาจ 4.เศรษฐกิจฐานราก และ 5.ผลกระทบจากนโยบายการพัฒนา เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โครงการผันน้ำยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ฯลฯ เพื่อนำข้อเสนอจากภาคประชาชนเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป” นายทองใบกล่าว
ปัญหาสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์เป็นเรื่องหนึ่งที่สภาฯ นำมาขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหาเชิงนโยบาย
พอช.หนุนสภาฯ สร้างชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง
การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล วันนี้ (29 พ.ย.) เป็นการเปิดประชุมวันแรก มีนายกฤษดา สมประสงค์ ผอ.พอช. กล่าวบรรยายในประเด็นที่เกี่ยวข้อง หลังจากนั้นมีการแบ่งกลุ่มประชุมตามภูมิภาคต่าง ๆ 5 กลุ่ม คือ ภาคเหนือ อีสาน กลางและตะวันตก กรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก และภาคใต้ ส่วนช่วงบ่ายเป็นการประชุมตามระเบียบวาระการประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลประจำปี 2565
นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช. กล่าวในประเด็น ‘พอช. กับการสนับสนุนสภาองค์กรชุมชนเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่นเช้มแข็ง’ มีใจความสำคัญว่า ระยะเวลา 14 ปีที่ผ่านมา พอช. ได้ทำหน้าที่นี้อย่างสมบูรณ์แล้วหรือยัง เราจึงมาทบทวนเพื่อที่จะสรุปประมวลทิศทางที่จะเดินต่อไป ซึ่งมีหลายเรื่องที่ยังไม่สมบูรณ์ หลายเรื่องดำเนินไปข้างหน้า ปัจจุบันมีการจดแจ้งสภาองค์กรชุมชน 7,795 ตำบลทั่วประเทศ หรือ 99% เหลือ 0.35 เท่านั้นที่ยังไม่ครบ เพราะฉะนั้น พอช.ต้องจัดตั้งสภาฯ ให้ครบ100% เพราะกฎหมายกำหนดให้ทำเรื่องนี้
นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช.
“มีสภาองค์กรชุมชนตำบลหลายแห่งมีการจดแจ้งจัดตั้งไปแล้วแต่ไม่มีการเคลื่อนไหวในพื้นที่ เราจะทำอย่างไร เพื่อที่จะให้พี่น้องได้รับโอกาสในการพัฒนาเช่นเดียวกับพี่น้องในชุมชนอื่นๆ โดยในช่วง 4-5 ปีนี้สภาองค์กรชุมชนทำเรื่องบ้านพอเพียง เป็นเครื่องมือที่จะไปร้อยเรียงผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ภาคธุรกิจเอกชน หน่วยงานทางวิชาการ มาทำงานร่วมกัน ซึ่งอาจารย์ไพบูลย์ (ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ผู้มีบทบาทก่อตั้ง พอช.) เรียกว่า ‘จตุพลัง’ มาร่วมกันในการขับเคลื่อนเชิงพื้นที่” ผอ.พอช. กล่าว และว่า ปัจจุบันมีภาคธุรกิจเอกชนสนใจที่จะเข้ามาสนับสนุน พอช. เช่น เรื่องป่าชุมชน รวมทั้งมีกองทุนพลังงานประมาณ 83 กองทุนที่ พอช.จะไปเชื่อมต่อกับกองทุนเหล่านี้ เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้นำงบประมาณจากกองทุนมาใช้ทำงานในพื้นที่
ผอ.พอช.กล่าวถึงการขับเคลื่อนสภาองค์กรชุมชนตำบลในช่วงต่อไปว่า สภาฯ ต้องทำตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด ว่าต้องประชุมอย่างน้อยปีละ 4 ครั้ง สิ่งที่ต้องพัฒนาคือ พื้นที่ต้องทำแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบล เชื่อมร้อยเพื่อดำเนินการเรื่องต่างๆ เช่น สังคมผู้สูงวัย เรื่องสังคม อาชีพ รายได้ และทำในระดับตำบลยังไม่พอ จะต้องบูรณาการเชื่อมร้อยปัญหาพี่น้องระดับตำบล อบต. เทศบาลขึ้นมา ผ่านเวทีปรึกษาหารือในจังหวัด สังเคราะห์ออกมาให้ได้ว่าจะทำที่ไหน ทำอย่างไร และใครต้องทำ เพื่อนำเข้าระบบแผนพัฒนาจังหวัด และผู้ว่าราชการจังหวัด และเชื่อมต่อการทำงานกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
นอกจากนี้จะต้องเชื่อมต่อกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุมทุกตารางนิ้ว มีนายก อบจ.มาจากการเลือกตั้ง มีระบบงบประมาณเป็นของตัวเองแต่ไม่มีแผนในการทำงาน ดังนั้นหากสภาองค์กรชุมชนฯ ไปเชื่อมต่อกับ อบจ.ได้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ โดยขณะนี้มี 22 จังหวัดที่ขับเคลื่อนในลักษณะนี้ หรือ ‘จังหวัดบูรณาการ’ และจะขยายไปสู่ 77 จังหวัดในอนาคต
ในตอนท้าย ผอ.พอช. ได้กล่าวถึงประเด็นที่อยากฝากไปถึงสภาองค์กรชุมชนฯ เช่น 1.เรื่องข้อเสนอเชิงนโยบายจากที่ประชุมสภาฯ ระดับชาติถึงรัฐบาลเพื่อให้ดำเนินการในเรื่องต่างๆ นั้น ตนขอให้ลองปรับวิธีการเสนอใหม่ว่า เราจะทำเรื่องอะไรในปีนี้ และขอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนเรื่องที่เราจะทำ ซึ่งหมายความว่า เป็นข้อเสนอที่ไม่ต้องให้ใครมาทำให้เรา แต่เราจะทำให้ตัวเอง เพราะสุดท้ายข้อเสนอที่เสนอไปสุดท้ายก็วนกลับมาที่ พอช. ดังนั้นเราจะต้องทำเอง
2. เรื่องภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นประจำ ห้ามไม่ให้เกิดไม่ได้ แต่พี่น้องไม่ควรอยู่กับภัยพิบัติตลอดชีวิต จะร่วมกันหาทางออกเรื่องนี้อย่างไร สภาองค์กรฯ จะทำเรื่องนี้เป็นข้อเสนอเชิงนโยบายได้หรือไม่ อย่างไร ? ซึ่งเรื่องต่างๆ เหล่านี้สภาฯ จะต้องขยับในเชิงนโยบาย โดย พอช. พร้อมที่จะสนับสนุนและทำให้เป็นเรื่องใหญ่
“บ้านหลังนี้ไม่ใช่ของคน พอช. แต่ออกแบบมาเพื่อให้เป็นบ้านของทุกคน เพื่อเป็นที่อยู่ ที่สร้างพลัง แล้วออกไปทำงานให้กับพี่น้องชุมชนทั้งประเทศ พอช.พร้อมหลอมรวมหัวใจของเรากับพี่น้องเข้าหากัน และก้าวเดินไปข้างหน้ากับพี่น้องพร้อมๆ กัน” นายกฤษดา ผอ.พอช.กล่าวในตอนท้าย
จากปัญหาชุมชนท้องถิ่นสู่การพิจารณาแก้ปัญหาของ ครม.
การประชุมตามระเบียบวาระในวันแรกนี้ ที่ประชุมได้เสนอชื่อ นายประยูร จงไกรจักร ผู้แทนสภาองค์กรชุมชนจังหวัดพังงา เป็นประธานที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล โดยประธานสภาฯ จะทำหน้าที่วาระละ 1 ปี
ทั้งนี้การประชุมในปีนี้ สภาองค์กรชุมชนแต่ละภาคได้จัดประชุมเพื่อรวบรวมปัญหาในท้องถิ่นและปัญหาเชิงนโยบายที่มีผลกระทบต่อประชาชน รวมทั้งหมด 11 ประเด็น และคณะกรรมการจัดประชุมได้สังเคราะห์รวบรวมเป็น 5 ประเด็นเพื่อนำเสนอในที่ประชุม คือ
1.ประเด็นสิทธิชุมชน ประกอบด้วย ข้อเสนอด้านที่ดิน ที่อยู่อาศัย การจัดการทรัพยากร การจัดการน้ำ สภาพภูมิอากาศ การจัดการภัยพิบัติ และประมงพื้นบ้าน 2.ประเด็นสิทธิมนุษยชน ประกอบด้วยข้อเสนอด้านรัฐสวัสดิการ สิทธิชุมชน สิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ ปัญหาชายแดนใต้
3.ประเด็นการกระจายอำนาจ ประกอบด้วยข้อเสนอด้านการปกครอง การจัดการทรัพยากร และการพัฒนาจังหวัดแบบบูรณาการ (จังหวัดจัดการตนเอง) 4.ประเด็นเศรษฐกิจฐานราก ประกอบด้วยข้อเสนอด้านเศรษฐกิจชุมชน เศรษฐกิจสีเขียว และ BCG
5.ประเด็นนโยบายการพัฒนาของรัฐ ประเด็นย่อยประกอบด้วย ด้านสิทธิการพัฒนาพื้นที่ เช่น เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ( Eastern Economic Corridor หรือ EEC) ซึ่งจะส่งผลกระทบกับความเป็นอยู่และวิถีชีวิตของประชาชนหลายด้าน โครงการอุโมงค์ผันน้ำยวม จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และตาก จะเกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรป่าไม้ ถิ่นที่อยู่อาศัยของประชาชน ฯลฯ
นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอจากที่ประชุมฯ ต่อสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ เพื่อสนับสนุนส่งเสริมให้สภาองค์กรชุมชนในระดับตำบลเกิดความเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้
“ข้อเสนอต่างๆ จากที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลในปีนี้ จะมีการรวบรวมเพื่อนำเสนอต่อรัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เพื่อนำเสนอเข้าสู่การประชุมของคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการต่อไป” นายประยูร ประธานในที่ประชุมฯ กล่าว
สภาองค์กรชุมชน “เป็นหุ้นส่วนการพัฒนา”
การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลในปีนี้ มีประเด็นการประชุมที่สำคัญ คือ ‘‘สภาองค์กรชุมชนเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา สร้างการกระจายอำนาจ สู่ความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น ภายใต้วิถีวัฒนธรรมพื้นถิ่น’
นายทองใบ สิงสีทา หัวหน้าสำนัก สำนักประสานเครือข่ายสภาองค์กรชุมชน พอช. กล่าวถึงประเด็นสภาองค์กรชุมชนเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาว่า การดำเนินงานของสภาองค์กรชุมชนนับตั้งแต่มี พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 14 ปี สภาองค์กรชุมชนในระดับตำบลและในภาพรวมระดับชาติได้รับการยอมรับมากขึ้นทั้งในระดับพื้นที่และหน่วยงานในระดับนโยบาย โดยมีกฎหมายหลายฉบับเปิดโอกาสให้ผู้นำสภาองค์กรชุมชนเข้าไปเป็นกรรมการหรือร่วมขับเคลื่อนงานภายใต้กฎหมายนั้น ๆ
เช่น พ.ร.บ. แร่ พ.ศ. 2560 พ.ร.ก.ว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2565 และล่าสุด พ.ร.บ.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 กำหนดให้ผู้แทนสภาฯ เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (กร.ตร.)
นอกจากนี้ที่ผ่านมา สภาองค์กรชุมชนได้เข้าไปมีบทบาทในการขับเคลื่อนงานในระดับนโยบายร่วมกับองค์กรต่างๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นมีบทบาทในการป้องกันการทุจริต โดยใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นกลไกขับเคลื่อนงานในท้องถิ่น, สำนักงานคณะ กรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เพื่อใช้พื้นที่สภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นพื้นที่นำร่องในการควบคุมพืชกระท่อม
“ดังนั้นสภาองค์กรชุมชนจึงเป็นกลไกสำคัญในการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา สร้างการบูรณาการงานพัฒนาให้ชุมชนท้องถิ่นและสังคมโดยรวม เป้าหมายเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งในทุกระดับ” นายทองใบกล่าว
ส่วนประเด็นการผลักดันให้เกิดกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ชุมชนท้องถิ่นนั้น นายทองใบกล่าวว่า การกระจายอำนาจเป็นความต้องการของภาคประชาชน รวมทั้งสภาองค์กรชุมชนที่ต้องการให้มีการลดอำนาจส่วนกลาง เพิ่มอำนาจให้กับชุมชนท้องถิ่นในการจัดการตนเอง เพื่อให้ประชาชนได้มีสิทธิในการพัฒนาตนเอง โดยมีหน่วยงานภาครัฐสร้างโอกาสหรือเอื้ออำนวยให้ชุมชนท้องถิ่นลุกขึ้นมาจัดการตนเอง
“ดังนั้นการกระจายอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่นจึงเป็นทิศทางสำคัญที่จะมาสนับสนุนงานพัฒนา บนหลักคิดการพัฒนาจากล่างขึ้นบน และเป็นกระบวนการพัฒนาที่จะช่วยหนุนเสริมความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น ภายใต้วิถีวัฒนธรรมพื้นถิ่น’ :ซึ่งเป็นธีมสำคัญของการประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลปีนี้” นายทองใบย้ำ
ย้อนมองข้อเสนอจากภาคประชาชน
ทั้งนี้ในการประชุมในระดับชาติฯ เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้รวบรวมข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อเตรียมนำเสนอต่อนายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขตามตามมาตรา 32 (1), (2) และ (3) รวม 9 ประเด็น โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างการปรับปรุงข้อเสนอ คือ
1.การจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนและการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น ในสถานการณ์การระบาดของโควิด 2. การบริหารจัดการงบประมาณภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด พ.ศ. 2563
3.การแก้ไขปัญหาที่ดิน ที่ทำกิน และที่อยู่อาศัย 4.การสร้างความเป็นธรรม ความเท่าเทียมให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ 5.การทบทวนเขตเศรษฐกิจพิเศษ และการสร้างระบบเศรษฐกิจเกื้อกูล โดยใช้การจัดการทางธุรกิจเป็นแกนกลางระดับตำบล 6.กฎหมายลิดรอนสิทธิของประชาชน กรณีการขับเคลื่อนรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และกรณีร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้
7.ความมั่นคงทางอาหาร 8.ข้อเสนอกรณีปัญหาเชิงพื้นที่ ได้แก่ โครงการผันน้ำยวม ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ตาก , โครงการนิคมอุตสาหกรรม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา , โครงการสัมปทานเหมืองแร่หินเขาโต๊ะกรัง จังหวัดสตูล , โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช และ 9.ข้อเสนอต่อ พอช. เพื่อให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการติดตามและขับเคลื่อนข้อเสนอตามมติที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบล
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รมว.พม. แจ้งตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว 34 แห่ง ใน 13 จว. ช่วยกลุ่มเปราะบาง-ผู้ประสบภัยน้ำท่วมริมแม่น้ำโขง ด้าน พอช. พร้อมอนุมัติงบช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบภัยพิบัติภาคเหนือและอีสาน
จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ภาคเหนือ ส่งผลกระทบในพื้นที่ 8 จังหวัด 47 อำเภอ 207 ตำบล 22,817 ครัวเรือน โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
10 ภาคีร่วมจัดประกวดองค์กร/กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นระดับชาติ ‘ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ตามแนวคิด ศ.ดร.ป๋วย’ ปี 2567
ธรรมศาสตร์ รังสิต / 10 องค์กรภาคีร่วมจัดประกวดรางวัลองค์กร/กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นระดับชาติ “ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ ตามแนวคิดของ ศ.ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ร่วมเวทีพลังองค์กรชุมชน ขับเคลื่อนจังหวัดบูรณาการ ระบุความท้าทายที่ขบวนองค์กรชุมชนต้องทำคือสร้างผู้นำและขยายผลรูปธรรมชุมชนเข้มแข็งเต็มพื้นที่
กทม. : องค์กรชุมชนขับเคลื่อนจังหวัดบูรณาการ ร่วมสรุปผลการดำเนินงาน และระดมความเห็นเสนอหน่วยงานที่สนับสนุนชุมชนเข้มแข็งบูรณาการและนำไปสู่การขับเคลื่อนให้เกิดรูปธรรม
ผู้บริหาร พอช.ลงพื้นที่ร่วมขบวนองค์กรชุมชน จัดทำแผนและช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคเหนือในหลายพื้นที่ พร้อมชูนโยบายแก้ไขปัญหาภัยพิบัติภาคประชาชน
จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ภาคเหนือ ส่งผลกระทบในพื้นที่ 8 จังหวัด 47 อำเภอ 207 ตำบล 22,817 ครัวเรือน และกำลังไหลลงสู่พื้นที่ภาคกลางและ กทม.
เมืองไข่มุกแห่งอันดามัน “รวมพลสวัสดิการชุมชน สานพลังความร่วมมือ ราษฎร์-รัฐ-เอกชน สร้างสังคมเอื้ออาทร
ภูเก็ต / เครือข่ายองค์กรสวัสดิการชุมชนจังหวัดภูเก็ต 18 อปท. ร่วมกันจัดสมัชชาสวัสดิการชุมชนครั้งที่ 15 “สวัสดิการชุมชน พลังความร่วมมือ ราษฎร์-รัฐ-เอกชน
บอร์ด พอช. เห็นชอบแผนและงบประมาณ พอช. ปี 2568 ส่งเสริมชุมชนเข้มแข็ง พร้อมเดินหน้าช่วยชุมชนบรรเทาทุกข์เร่งด่วนจากกรณีภัยพิบัติภาคเหนือ เล็งมีระบบระดมทุนช่วยเหลือยามวิกฤตระยะยาว
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) / วันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม 2567 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) จัดประชุมคณะกรรมการสถาบัน ครั้งที่ 9/2567