ได้-ไม่คุ้มหายนะ..! ยกเลิกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564

ต้องยอมรับกันว่าตั้งแต่ช่วงปี 2563-2564 กลุ่มธุรกิจที่เข้ามามีบทบาทในการบริหารความเสี่ยงภัย
ให้กับประชาชนอย่างโดดเด่น ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็คือ กลุ่มธุรกิจประกัน ทั้งในฝั่งของธุรกิจประกันชีวิตและธุรกิจประกันวินาศภัย โดยเห็นได้จากในช่วงปี 2563 บริษัทประกันภัย ได้ออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยโควิด -19 หลากหลายรูปแบบ สู่ตลาดเพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชน และดูเหมือนว่าผลิตภัณฑ์ประกันภัยโควิด-19 ที่โดนใจประชาชนมากที่สุด ก็คือ ประกันภัยโควิด-19 แบบ เจอ จ่าย จบ โดยเห็นได้จาก ณ สิ้นปี 2563 มีประชาชนทำประกันภัยโควิด-19 จำนวน 24.4 ล้านฉบับ เบี้ยประกันภัยสะสม 4.5 พันล้านบาท และมีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนจำนวน 4.2 ร้อยล้านบาท ส่งผลทำให้บริษัทประกันภัยที่รับประกันภัยโควิด-19 มีกำรี้กำไรกันทั่วหน้าก็ว่าได้

ถัดมาในปี 2564 บริษัทประกันภัยก็ยังคงเดินหน้ารับประกันภัยโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง และคาดหวังว่าการรับประกันภัยโควิด-19 จะยังคงราบรื่นไร้คลื่นลมมรสุมเหมือนปีที่ผ่านมา โดยเห็นได้จากข้อมูล ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2564 มีประชาชนทำประกันภัยโควิด-19 จำนวน 20 ล้านฉบับ เบี้ยประกันภัยสะสม 6.2 พันล้านบาท และมีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนจำนวน 2.3 หมื่นล้านบาท และกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วงสุด ก็คือ กลุ่มธุรกิจประกันวินาศภัย ที่ขายประกันภัย แบบเจอ จ่าย จบ

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลก เมื่อดำเนินธุรกิจประสบภาวะขาดทุนอย่างหนักเช่นนี้ บริษัทประกันวินาศภัยบางแห่ง จึงออกอาการเกเร และแสดงอาการไม่รับผิดชอบต่อผู้ทำประกันภัย ด้วยการส่งหนังสือบอกเลิกสัญญาประกันภัยโควิด-19 จำนวนมากแบบเหมาเข่ง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อระบบประกันภัยไทยเป็นอย่างมาก

ทันทีที่เกิดเหตุการณ์บอกเลิกสัญญาประกันภัยโควิด-19 แบบเหมาเข่ง และไม่เป็นธรรม จนสร้างความแตกตื่นให้กับผู้ทำประกันและสังคมไทย และกลายเป็นประเด็นร้อนติดอันดับหนึ่งของทวิตเตอร์ในขณะนั้น สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) จึงได้ออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโดยบริษัท สำหรับกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 ที่บริษัทได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน และกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 ที่บริษัทได้ออกให้แก่ผู้เอาประกันภัยก่อนวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 และยังคงมีผลใช้บังคับ เว้นแต่ปรากฏหลักฐานชัดเจนต่อบริษัทว่าผู้เอาประกันภัยได้กระทำการทุจริตหรือฉ้อฉลประกันภัย เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์จากการประกันภัย ซึ่งหมายความว่า กรมธรรม์ประกันภัยโควิดที่ยังไม่หมดอายุจะได้รับความคุ้มครองตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยต่อไปจนกว่าจะหมดอายุความคุ้มครอง โดยที่บริษัทประกันภัยจะไม่สามารถบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยได้ตามอำเภอใจ

โดยสำนักงาน คปภ. ได้ให้เหตุผลและความจำเป็นในการออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564  เนื่องจากเป็นเรื่องที่กระทบต่อพี่น้องประชาชนผู้เอาประกันโควิดเป็นวงกว้าง ทั้งส่งผลต่อความเชื่อมั่นของระบบประกันภัยไทย รวมทั้งมีการใช้มาตรการอย่างอื่นแล้วไม่เป็นผล จึงจำเป็นต้องใช้มาตรการทางกฎหมายดำเนินการโดยเร่งด่วนเพื่อมิให้ปัญหาลุกลามบานปลาย โดยที่คำสั่งดังกล่าวมีผลกับบริษัทประกันภัยทุกแห่ง จึงไม่มีการเลือกปฏิบัติ
แต่อย่างใด

“ซึ่งในช่วงที่ออกคำสั่งปรากฏว่ามีบริษัทประกันภัยต่าง ๆ ออกมาขานรับแนวทางตามคำสั่งนี้อย่างท่วมท้นโดยลั่นวาจาว่าจะไม่บอกเลิกกรมธรรม์ประกันโควิด”

แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ภายหลังเมื่อมีการระบาดของโควิดสูงมากและยอดผู้เคลมประกันโควิดเพิ่มสูงจนท่วมเบี้ยประกันที่ได้รับแล้วก็มีการเคลื่อนไหวให้มีการยกเลิกคำสั่งดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญ

โดยหากพิจารณาอย่างรอบด้าน การออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ของสำนักงาน คปภ.
ถือเป็นการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้ทำประกันภัยโควิด-19 ทั้งระบบไม่ให้ถูกเทอย่างไม่เป็นธรรม
ในขณะเดียวกันก็เป็นคุณต่อบริษัทประกันภัย ที่ไม่ต้องเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 4  ที่ระบุไว้ว่า ข้อตกลงในสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้า หรือ วิชาชีพ หรือในสัญญาสำเร็จรูป หรือในสัญญาขายฝากที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้า หรือวิชาชีพ หรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป หรือผู้ซื้อฝากได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควร เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น

ในกรณีที่มีข้อสงสัย ให้ตีความสัญญาสำเร็จรูปไปในทางที่เป็นคุณแก่ฝ่ายซึ่งมิได้เป็นผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูปนั้น โดยข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ เป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนี่ง เช่น ใน (3) ระบุว่า ข้อตกลงให้สัญญาสิ้นสุดลงโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร หรือให้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้โดยอีกฝ่ายหนึ่งมิได้ผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญ

ดังนั้น บริษัทผู้รับประกันภัย จึงไม่สามารถบอกเลิกสัญญากับประชาชนจำนวนมาก ๆ แบบเหมาเข่งในคราวเดียวกัน ในขณะเดียวกันผู้เอาประกันภัยที่ถูกบอกเลิกสัญญาก็ไม่ได้ทำผิดสัญญาหรือด้วยเหตุที่ไม่เป็นธรรมแต่อย่างใด และการที่บริษัทประกันภัยนำเอาสภาวะแวดล้อมภายนอกจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงและต่อเนื่อง นำมาเป็นเงื่อนไขในการบอกเลิกสัญญาด้วยแล้ว จึงเข้าข่ายเป็นการบอกเลิกสัญญาที่ไม่เป็นธรรมอย่างชัดแจ้ง 

นอกจากนี้ ในมาตรา 10  แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 ยังระบุไว้ว่า
ในการวินิจฉัยว่า ข้อสัญญาจะมีผลบังคับเพียงใด จึงจะเป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีให้พิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ทั้งปวง รวมทั้ง

  1. ความสุจริต อำนาจต่อรอง ฐานะทางเศรษฐกิจ ความรู้ความเข้าใจ ความสันทัด จัดเจน ความคาดหมาย แนวทางที่เคยปฏิบัติ ทางเลือกอย่างอื่น และทางได้เสียทุกอย่างของคู่สัญญาตามสภาพที่เป็นจริง
  2. ปกติประเพณีของสัญญาชนิดนั้น
  3. เวลาและสถานที่ในการทำสัญญาหรือในการปฏิบัติตามสัญญา
  4. การรับภาระที่หนักกว่ามากของคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง

โดยกฎหมายดังกล่าว บริษัทประกันภัยจะอ้างเรื่องหลักความศักดิ์สิทธิ์ในการแสดงเจตนาแล้วนำมาใช้ยกเลิกสัญญาแบบเหมาเข่งหรือตามข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ย่อมไม่อาจกระทำได้ เนื่องจากจะเกิดความไม่สงบสุขในสังคมได้ พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 จึงยกเว้นไม่นำหลักความศักดิ์สิทธิ์ในการแสดงเจตนามาใช้ ดังจะเห็นได้จากเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 คือ เนื่องจากหลักกฎหมายเกี่ยวกับนิติกรรมหรือสัญญาที่ใช้บังคับอยู่มีพื้นฐานมาจากเสรีภาพของบุคคล ตามหลักของความศักดิ์สิทธิ์ของการแสดงเจตนา รัฐจะไม่เข้าแทรกแซงแม้ว่าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง เว้นแต่จะเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน แต่ในปัจจุบัน สภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผู้ซึ่งมีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจเหนือกว่าถือโอกาสอาศัยหลักดังกล่าวเอาเปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งมีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจด้อยกว่าอย่างมาก ซึ่งทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมและไม่สงบสุขในสังคม สมควรที่รัฐจะกำหนดกรอบของการใช้หลักความศักดิ์สิทธิ์ของการแสดงเจตนาและเสรีภาพของบุคคล เพื่อแก้ไขความไม่เป็นธรรมและความไม่สงบสุขในสังคมดังกล่าว โดยกำหนดแนวทางแก่ศาลที่จะสั่งให้ข้อสัญญาหรือข้อตกลงที่ไม่เป็นธรรมนั้นมีผลใช้บังคับเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณี จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้นมาบังคับใช้

เมื่อการยกเลิกกรมธรรม์แบบเหมาเข่งโดยที่ไม่เหตุที่เป็นธรรมไม่สามารถกระทำได้โดยชอบกฎหมาย และหากบริษัทประกันภัยยังยืนยันที่จะบอกเลิก ก็จะทำให้บริษัทประกันภัยกลายเป็นผิดสัญญา เนื่องจากเป็นการบอกเลิกสัญญาโดยไม่มีสิทธิหรือเหตุอันเป็นธรรม ขณะเดียวกันคำสั่งนายทะเบียนยังมีผลตามกฎหมายและชอบด้วยกฎหมาย

หากจะมองว่าคำสั่งนายทะเบียนนั้นไม่ชอบ เพราะให้มีผลย้อนหลังไปเป็นโทษก็ไม่ถูกต้องแต่อย่างใด เพราะคำสั่งดังกล่าวไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใดๆ ขึ้นใหม่ระหว่างคู่สัญญาแต่ประการใด แต่เป็นการเน้นย้ำหลักการที่คู่สัญญาไม่อาจยกเลิกสัญญาด้วยเหตุที่ไม่เป็นธรรมซึ่งเป็นหลักการที่มีอยู่แล้วและสอดคล้องพระราชบัญญัติข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมฯ จึงไม่ใช่การออกคำสั่งให้มีผลย้อนหลังหรือไปเป็นโทษแต่อย่างใด หรือสุดท้ายแล้วแม้จะเป็นการมีผลบังคับย้อนหลัง แต่หากเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะและประชาชนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ ในหลักการออกกฎหมายก็ให้มีผลย้อนหลังได้โดยชอบเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตการนักกฎหมายในแวดวงธุรกิจประกันภัยว่า หากบริษัทประกันภัยยังยืนยันให้มีการยกเลิกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 เพื่อเปิดประตูให้บริษัทประกันภัยแห่บอกเลิกสัญญาประกันภัยโควิด-19 ก่อนจะสิ้นอายุสัญญาในช่วงเดือนมิถุนายน 2565 ได้ ย่อมจะมีความเสี่ยงอย่างมาก เนื่องจากประชาชนไม่ได้มีความผิดในสาระสำคัญย่อมเป็นการเอาเปรียบเกินสมควรเป็นการบอกเลิกตามอำเภอใจ ต่อให้บริษัทประกันภัยคืนเบี้ยประกันเต็มจำนวนก็ถือว่าไม่เป็นธรรมอยู่ดี เนื่องจากผู้เอาประกันภัยไม่สามารถทราบเงื่อนไขการบอกเลิกเช่นนี้ในขณะทำประกันแต่อย่างใด นอกจากนี้ ในแผนบริหารความเสี่ยงที่บริษัทประกันภัยจะต้องแจ้งต่อ คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลและให้ความเห็นชอบแบบกรมธรรม์ ก็เชื่อว่าไม่ได้มีการแจ้งเงื่อนไขการบอกเลิกในลักษณะดังกล่าวต่อ คปภ. แต่อย่างใด หรือหากมีการแจ้ง ก็เชื่อว่า คปภ. คงไม่อนุญาตให้บริษัทขายกรมธรรม์ที่มีเงื่อนไขไม่เป็นธรรมเช่นนี้อย่างแน่นอน

ดังนั้น หากบริษัทประกันภัยยังคิดว่าจะรับประกันไว้ก่อน ด้วยการรับเบี้ยประกันหรือรับประโยชน์จากผู้เอาประกันภัยไปแล้ว ต่อมาเกิดความเสี่ยงเกินคาดการณ์ไว้ กลับโยนความเสี่ยงให้ประชาชนแบกรับ ด้วยการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ด้วยเหตุที่ไม่เป็นธรรม ย่อมถือว่า เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและจงใจหลอกลวงประชาชนตั้งแต่ตอนแรก จึงเชื่อมั่นว่าการกระทำดังกล่าว ไม่เพียงแต่จะถูกสำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลใช้มาตรทางกฎหมายอย่างเคร่งครัดและสูงสุดกับบริษัทประกันภัยที่บอกเลิกสัญญาด้วยเหตุที่ไม่เป็นธรรม และอาจจะเป็นเหตุให้บริษัทประกันภัยนั้น ถูกสภาองค์กรของผู้บริโภค หน่วยงานเอ็นจีโอด้านผู้บริโภคต่าง ๆ รวมทั้ง
ผู้เอาประกันภัย ตลอดจนกลุ่มการเมืองที่ต้องการอาศัยฐานเสียงจากมวลชนผู้เอาประกันภัยที่มีจำนวนเป็นล้านๆคน รุมฟ้องร้องเกี่ยวกับประเด็นว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 อย่างแน่นอนอีกด้วย

จึงขอย้ำและขอเตือนว่า เป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับการไม่ยึดถือคำมั่นสัญญาที่ให้กับประชาชนที่บริษัทประกันภัยให้ไว้ตั้งแต่ทำสัญญา ด้วยการรับความผูกพันตามสัญญาต่อไป และจ่ายค่าสินไหมทดแทนเมื่อเกิดเหตุตามกรมธรรม์ขึ้น หรือใช้วิธีอื่นในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยการบอกความจริงและชักชวนให้ประชาชนเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของสัญญาด้วยความสมัครใจแล้ว หากยังยืนยันจะยกเลิกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 และบอกเลิกสัญญาประกันภัยโควิด-19 ด้วยเหตุไม่สุจริตหรือไม่เป็นธรรมที่แม้ในหลักการสากลตามมาตรฐานการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย  (Insurance Core Principles)  ก็ไม่สามารถกระทำหรือยินยอมให้กระทำเช่นนั้นได้ และถือเป็นการเอาเปรียบผู้เอาประกันภัยอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ รวมทั้งเป็นการหลอกลวงประชาชนเป็นการดำเนินการโดยไม่สุจริต และดูเหมือนว่าเวลานี้ฝั่งธุรกิจประกันภัยออกอาการดื้อแพ่งไม่ฟังเสียงเรียกร้องของประชาชน และสาดโคลนโทษกรรมการ คือ คปภ. อย่างไม่ลืมหูลืมตา ดูความผิดพลาด
ของตัวเองที่เกิดขึ้น ผลที่บริษัทประกันภัยและอุตสาหกรรมจะได้รับ จึง “ได้ ไม่คุ้มหายนะ” ที่จะถูกผู้บริโภครุมกินโต๊ะฟ้องร้อง รวมทั้งจะกระทบต่อความเชื่อมั่นและความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อระบบประกันภัยไทย
ให้ล่มสลายลงทันที และยากที่จะเรียกคืนความเชื่อมั่นกลับคืนมา

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เทคนิคเลือกประกันเจอจ่ายจบมะเร็งและโรคร้ายให้คุ้มค่าที่สุด!

ประกันเจอจ่ายจบมะเร็งเป็นแพ็กเกจประกันที่ให้ความคุ้มครองค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคมะเร็งเป็นหลัก โดยจะจ่ายเงินก้อนให้แก่ผู้ซื้อประกันเมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์

'รู้ใจ' ซื้อกิจการ 'เอฟดับบลิวดี' ลุยธุรกิจประกันวินาศภัยครบวงจร

รู้ใจ ก้าวสู่การเป็นผู้ให้บริการประกันภัยออนไลน์ในประเทศไทยแบบครบวงจร ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อยกระดับแพลตฟอร์มการขายและการให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ

"พรรคภูมิใจไทย" ออกนโยบายล่าสุด "กองทุนประกันชีวิต 60 ปีขึ้นไป" เป็นสวัสดิการใหม่ ที่รัฐบาล จะจัดให้แก่ประชาชนคนไทยทุกคน ที่มีอายุ 60 ขึ้นไป ฟรี

นายภราดร ปริศนานันทกุล โฆษกพรรคภูมิใจไทย เปิดเผยว่า พรรคภูมิใจไทย ออกนโยบายสำหรับผู้สูงวัยที่มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ จะได้รับสิทธิ เป็นสมาชิกกองทุนประกันชีวิต และมีกรมธรรม์ประกันชีวิต

กรุงไทย–แอกซ่า ประกันชีวิต คว้ารางวัลใหญ่ บริษัทที่น่าทำงานที่สุดในเอเชียต่อเนื่อง 3 ปีซ้อน จาก HR Asia Awards 2022

บมจ. กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต โดย คุณแซลลี่ โอฮาร่า ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (คนขวา) และคุณบุปผาวดี โอวรารินท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์และภาพลักษณ์องค์กรและการสื่อสารองค์กร (คนซ้าย)

กรุงไทย–แอกซ่า ประกันชีวิต จัดงานสัมมนา ERD & GA Owner ประจำปี 2565

บมจ.กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต จัดงานสัมมนา ERD & GA Owner ประจำปี 2565 เพื่อสนับสนุนฝ่ายขายช่องทางจัดจำหน่ายผ่านตัวแทน นำโดย คุณแซลลี่ โอฮาร่า ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (คนที่ 7 จากซ้าย) คุณ

นายกฯ กำชับให้บริษัทประกันภัย เร่งจ่ายเงินคุ้มครองโควิด-19 ตามสิทธิเงื่อนไขกรมธรรม์

นายกฯ กำชับหน่วยงานติดตาม บริษัทประกันภัย เร่งจ่ายเงินคุ้มครองโควิด-19 เพื่อให้ผู้เอาประกันภัยได้รับความคุ้มครองตามสิทธิประโยชน์