พลังสตรีปัตตานีที่ ‘รูสะมิแล’ ‘สร้างสวัสดิการ สร้างอาชีพให้ชาวชุมชน’

ส่วนหนึ่งของแกนนำสตรีรูสะมิแล  จ.ปัตตานี

ปัตตานีหรือ ปาตานี เป็นเมืองท่าค้าขายทางทะเลที่มีความสำคัญมาแต่โบราณ  ดินแดนแห่งนี้ในอดีตเคยมี กษัตรีย์หรือ รายา ปกครองอาณาจักรต่อเนื่องมานานถึง 4 พระองค์  (พ.ศ.2127-2231)

ล่วงมาถึงปัจจุบัน  ปัตตานีมีผู้ว่าราชการจังหวัดคนแรกที่เป็นสตรีมุสลิม คือ นางพาตีเมาะ  สะดียามู ปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมาตั้งแต่ปี 2565 ด้วยความเข้มแข็ง  ไม่แพ้นักปกครองเพศชาย  รวมทั้งปัตตานียังมีกลุ่มสตรีมากมายหลายหมู่บ้าน  หลายตำบล  หลายกลุ่มที่ร่วมกันพัฒนาชุมชนท้องถิ่นมายาวนาน  ดังเช่น  กลุ่มสตรีที่ รูสะมีแล

ตำนานท้องถิ่น รูสะมิแล-สนเก้าต้น

รูสะมิแล’  เป็นภาษามลายูท้องถิ่น  มีความหมายว่า  สนเก้าต้น (รู - ต้นสน , สะมิแล- เก้า)  ตำนานท้องถิ่นมีเรื่องเล่าขานหลายตำนานและเชื่อมโยงกับสองพี่น้อง ตระกูลลิ้มชาวจีนแต้จิ๋วจากกวางตุ้ง  คือ ลิ้มโต๊ะเคี่ยม และ ลิ้มกอเหนี่ยว

เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 400 ปีก่อน (ตรงกับสมัยกรุงศรีอยุธยา)   ตำนานบอกว่า ลิ้มโต๊ะเคี่ยมคือนักเผชิญโชคในท้องทะเล  ว่ากันตรงๆ ก็คือ โจรสลัด นั่นเอง  เขาล่องเรือสำเภาพร้อมด้วยไพร่พลตระเวนไปทั่วท้องทะเลจีนใต้และอ่าวไทย  ซ่องสุมกำลังและอาวุธมากมาย  ท้ายที่สุดเขามาปักหลักอยู่ที่ปาตานี  ได้อยู่กินกับธิดาของสุลต่าน  เข้านับถือศาสนาอิสลาม  ต่อมาเขาได้สร้างมัสยิด กรือเซะ                            

ล่วงมาหลายปี  ลิ้มกอเหนี่ยวน้องสาวรู้ข่าวพี่ชายที่จากมานาน  จึงเดินทางมาด้วยเรือสำเภาพร้อมผู้ติดตามจำนวน 9 ลำ  ขึ้นฝั่งที่ปาตานีเพื่อจะชวนพี่ชายกลับไปอยู่เมืองจีน  แต่ลิ้มโต๊ะเคี่ยมไม่ยอมกลับ  เพราะได้ลงหลักปักฐานมั่นคงแล้ว  น้องสาวเกิดความเสียใจจึงปลิดชีวิตตัวเองที่ปาตานี  ต่อมาเรือสำเภาที่จอดทิ้งไว้อยู่ริมฝั่งเป็นเวลานานก็ผุพังกลายเป็นต้นสน  9 ต้นขึ้นเรียงรายอยู่ริมชายหาดปาตานี  เป็นหมุดหมายที่คนเดินเรือมองเห็นแต่ไกล  จึงเรียกชายหาดนี้ว่า “รูสะมิแล”

 ในภายหลัง  ผู้ที่นับถือศรัทธาได้สร้าง ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ขึ้นมา ตามหลักฐานระบุว่าก่อตั้งศาลในปี พ.ศ.2117  (สมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาแห่งกรุงศรีอยุธยา) ปัจจุบันจะมีพิธีแห่เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวเพื่อสักการะบูชาในวันเพ็ญเดือนสามของทุกปี  ถือเป็นเทศกาลสำคัญประจำปีของเมืองปัตตานี 

ขณะที่เทศบาลตำบลรูสะมิแลซึ่งเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นได้นำรูปสนเก้าต้นมาเป็นตราสัญลักษณ์ของเทศบาล...สืบสานตำนานท้องถิ่นให้คงอยู่ต่อไป...!!

ชายหาดรูสะมิแลปัจจุบัน  ไม่มีร่องรอยของสน 9 ต้น  แต่ตำนานสองพี่น้องตระกูลลิ้มยังคงอยู่

พลังสตรีที่รูสะมิแล

ปัจจุบันรูสะมิแลมีฐานะเป็นเทศบาลตำบล  อยู่ในเขตอำเภอเมือง  จังหวัดปัตตานี  ทิศเหนืออยู่ติดทะเลอ่าวไทย  มีทั้งหมด 6 หมู่บ้าน  จำนวนกว่า 9,000 ครอบครัว  ประชากรประมาณ  20,000 คน  ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม 

จากสภาพที่ตั้งของรูสะมิแลอยู่ในอำเภอเมืองปัตตานีและชายฝั่งทะเล  การประกอบอาชีพของประชาชนจึงมีความหลากหลาย  ส่วนใหญ่ทำงานรับจ้างทั่วไป  ค้าขาย  รับราชการ  ลูกจ้างห้างร้าน  บริษัทเอกชน  ส่วนหมู่บ้านที่อยู่ติดฝั่งทะเลอ่าวไทยจะมีอาชีพประมงชายฝั่ง  แปรรูปอาหารทะเล  มีรายได้น้อย  เพราะอาชีพประมงไม่สามารถทำได้ตลอดปี  เนื่องจากติดฤดูมรสุมและข้อห้ามจับปลาในฤดูวางไข่ประมาณปีละ 6 เดือน

นางแวซัมเซีย นิอิสมัย  แกนนำพัฒนาตำบลรูสะมิแล  บอกว่า  ก่อนปี 2550  ในตำบลรูสะมิแลมีการรวมกลุ่มกันพัฒนาชุมชนหลายอย่าง  โดยมีผู้หญิงเป็นแกนหลัก  เพราะส่วนใหญ่ผู้หญิงจะดูแลทำงานบ้าน  จึงมีเวลาในการทำงานพัฒนาชุมชน  เช่น  มีกลุ่มอาชีพ  กลุ่มออมทรัพย์  เป็นต้น

ในปี 2551 เจ้าหน้าที่จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  หรือ ‘พอช.’สำนักงานภาคใต้  เข้ามาสนับสนุนการรวมกลุ่มชาวบ้านในตำบลเพื่อพัฒนาชุมชน  โดยในช่วงนั้น พอช.มีนโยบายส่งเสริมการจัดตั้ง กองทุนสวัสดิการชุมชนในระดับตำบลหรือเทศบาลทั่วประเทศ  เพื่อเป็นกองทุนเอาไว้ช่วยเหลือสมาชิกและผู้ด้อยโอกาสในตำบล  โดยให้สมาชิกสมทบเงินวันละ 1 บาทหรือเดือนละ 30 บาท  ปีละ 365 บาท  แล้วนำเงินนั้นมาช่วยเหลือสมาชิกในยามจำเป็น  โดยรัฐบาลจะร่วมสมทบเงินเข้ากองทุนผ่าน พอช. เพื่อให้กองทุนเติบโตช่วยเหลือสมาชิกได้ทั่วถึง

เมื่อเห็นว่ากองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นเรื่องที่ดี  สามารถช่วยเหลือพี่น้องชาวชุมชนที่มีรายได้น้อย  ช่วยผู้ด้อยโอกาส  เจ็บป่วย  หรือในยามเสียชีวิต  แกนนำในตำบลจึงจัดประชุมตัวแทนทั้ง 6 หมู่บ้านเพื่อชี้แจง  สร้างความเข้าใจ  และนำไปขยายผลให้ชาวบ้านที่สนใจสมัครเข้าเป็นสมาชิก  และเริ่มจัดตั้ง กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลรูสะมิแล ขึ้นมาในปี 2551 มีสมาชิกเริ่มต้นประมาณ 80 คน

ด้านการบริหาร  กองทุนฯ มีคณะกรรมการทั้งหมด 13 คน  มาจากตัวแทน 6 หมู่บ้านๆ ละ 2 คน  โดยมีประธานกองทุนฯ 1 คน  กำหนดให้สมาชิกสมทบเงินเข้ากองทุนเป็นรายเดือนๆ ละ 30 บาท  เมื่อเป็นสมาชิกครบ 6 เดือนจึงจะมีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุน  โดยสมาชิกจะสมทบเงินหรือทำเรื่องเบิกสวัสดิการผ่านคณะกรรมการกองทุนฯ ในแต่ละหมู่บ้าน  คณะกรรมการจะประชุมร่วมกันทุกเดือนเพื่อรายงานผลการดำเนินงาน

นางแวซัมเซีย นิอิสมัย  แกนนำสตรีรูสะมิแล

ส่วนสวัสดิการช่วยเหลือสมาชิกมีทั้งหมด 11 ด้าน  เช่น  คลอดบุตรช่วยเหลือ 500 บาท  เจ็บป่วย  นอนโรงพยาบาลช่วยเหลือคืนละ 300 บาท  ครั้งหนึ่งไม่เกิน 5 คืน  ปีหนึ่งไม่เกิน 3 ครั้ง  เสียชีวิตช่วยตามอายุการเป็นสมาชิก  ต่ำสุด 2,000 บาท  สูงสุดไม่เกิน 6,000 บาท

นอกจากนี้ยังมีสวัสดิการช่วยเหลือยามเกิดภัยพิบัติ  น้ำท่วม  เช่น  แจกข้าวสาร  ถุงยังชีพ  ช่วยเหลือเด็กกำพร้า  ทุนการศึกษา  สวัสดิการด้านสาธารณประโยชย์  โดยดูตามความเหมาะสมและความจำเป็น

นางแวซัมเซีย นิอิสมัย  ในฐานะประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนฯ บอกว่า  ตอนแรกกองทุนยังมีสมาชิกไม่มาก  เพราะชาวบ้านยังไม่รู้จักกองทุน  ยังไม่รู้จัก พอช.  แต่เมื่อมีสมาชิกกองทุนได้รับความช่วยเหลือตามสิทธิ์แล้ว  เช่น  ช่วยตอนเจ็บป่วย  เข้าโรงพยาบาล  หรือช่วยตอนน้ำท่วม  จึงทำให้ชาวบ้านรู้จักกองทุน  รู้ประโยชน์ของกองทุนจึงมีคนมาสมัครสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

“ตอนหลังเมื่อกองทุนสวัสดิการฯ ของเราโตขึ้น  เราจึงช่วยเหลือด้านการประกอบอาชีพด้วย  โดยให้สมาชิกที่มีความเดือดร้อนจำเป็นกู้ยืมเงินไปค้าขาย  หรือลงทุนหมุนเวียน  รายละ 5 พันถึง 2 หมื่นบาท  บางคนเอาไปทำขนมขาย  บางคนเอาไปลงทุนขายน้ำมะพร้าวสด จนสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้  ที่ผ่านมากองทุนให้สมาชิกกู้ยืมไปแล้วหลายร้อยราย  ไม่ต้องไปกู้เงินนอกระบบ  แต่ต้องชำระคืนกองทุนภายใน 2 ปี  เพื่อให้คนอื่นที่เดือดร้อนได้กู้ยืมบ้าง”  ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลรูสะมิแลบอก  และว่า  การกู้ยืมเงินจากกองทุนจะคิดค่าบำรุงในอัตรา 1,500 บาท  จากยอดเงินยืม 10,000 บาท

 นางสาวปาตีเมาะ  บูละ คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการฯ  เสริมว่า  กองทุนสวัสดิการชุมชนของเราช่วยเหลือสมาชิกหลายด้าน  และสมาชิกส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม  ดังนั้นในช่วงถือศีลอดของชาวมุสลิมในเดือนรอมฎอนทุกปี   คณะกรรมการกองทุนจะนำอาหารที่จำเป็นในช่วงถือศีลอด  เช่น  อินทผลัม  น้ำตาล  หรือน้ำหวาน ซึ่งเป็นอาหารที่ให้พลังงาน  เมื่อรับประทานแล้วจะทำให้มีเรี่ยวแรง  ไม่หิว  เอาไปมอบให้แก่สมาชิกที่มีฐานะยากจน  ผู้สูงอายุ  ผู้ด้อยโอกาส  ทำให้ชาวบ้านเกิดความเชื่อถือศรัทธาต่อกองทุน  เพราะเห็นว่ากองทุนเป็นที่พึ่งและให้ความช่วยเหลือแก่สมาชิกได้ทุกเรื่อง

ปัจจุบันกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลรูสะมิแลมีสมาชิกทั้งหมด  ประมาณ 1,500 คน  มีเงินกองทุนหมุนเวียนประมาณ  500,000 บาทเศษ 

สภาองค์กรชุมชนฯ เชื่อมประสานหนุนเสริมการพัฒนาชุมชน

สภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลรูสะมิแล ก่อตั้งในปี 2553  มีนางแวซัมเซีย นิอิสมัย  เป็นประธานสภาฯ  มีคณะทำงานสภาฯ 13 คน  มีตัวแทนกลุ่มต่างๆ ในตำบลร่วมเป็นสมาชิกจำนวน 8 กลุ่ม  สภาฯ จะทำหน้าที่เป็นกลไกเชื่อมโยงสมาชิกกลุ่มต่างๆ ในตำบลมาทำงานร่วมกัน  เช่น  กลุ่มอาชีพ  กลุ่มประมงพื้นบ้าน  กลุ่มออมทรัพย์  กลุ่มสตรี  กลุ่มเยาวชน  กองทุนสวัสดิการ ฯลฯ 

โดยจะประชุมสภาฯ ทุกวันที่ 10 ของเดือน  กลุ่มไหนมีเรื่องใดจะปรึกษาหารือก็จะใช้เวทีประชุมสภาฯ พูดคุยกัน  รวมทั้งเรื่องกองทุนสวัสดิการฯ หากสมาชิกกองทุนสวัสดิการหมู่บ้านใดจะเบิกจ่ายสวัสดิการ  หรือต้องการความช่วยเหลือใดๆ ก็จะใช้เวทีนี้พูดคุยหารือกัน   รวมทั้งยังใช้เวทีประชุม สภาฯสัญจร หมุนเวียนการประชุมแต่ละเดือนไปยังหมู่บ้านต่างๆ เพื่อขยายฐานสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชนด้วย

นอกจากนี้สภาองค์กรชุมชนฯ ยังเชื่อมประสานการทำงานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในท้องถิ่นและส่วนกลาง  เช่น  เทศบาล  อำเภอ  จังหวัด  และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ฯ หรือ พอช. จะสนับสนุนโครงการพัฒนาต่างๆ ผ่านสภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลรูสะมิแลเข้ามาสู่ชุมชน  เช่น  โครงการ บ้านพอเพียง  เป็นโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยครอบครัวที่มีรายได้น้อย  ฐานะยากจน  สภาพบ้านเรือนทรุดโทรม  หลังคารั่ว  พื้นบ้าน  เสาเรือน  ฝาบ้านผุพัง  ให้มีสภาพดีขึ้น  มีความปลอดภัยแก่ผู้อยู่อาศัย

นางแวซัมเซีย  ประธานสภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลรูสะมิแล  บอกว่า  สภาฯ จะให้คณะกรรมการในแต่ละหมู่บ้านสำรวจข้อมูลครอบครัวที่มีความเดือดร้อน  จากนั้นจึงนำรายชื่อมาทำประชาคมหมู่บ้าน  เพื่อให้ชาวบ้านช่วยกันตรวจสอบและรับรองว่าเป็นครอบครัวที่มีความเดือดร้อนจริง  สมควรได้รับการช่วยเหลือ  โดย พอช.จะสนับสนุนงบประมาณซ่อมแซมบ้านครอบครัวหนึ่งไม่เกิน 2 หมื่นบาท  หากเกินงบประมาณ  ครอบครัวจะต้องออกเงินสมทบเอง

ในปี 2563 สภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลรูสะมิแลได้รับงบประมาณซ่อมแซมบ้านจาก พอช. จำนวน 69 หลัง  งบประมาณไม่เกินหลังละ  20,000 บาท   นำมาซื้อวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมแซมบ้าน  เช่น  ไม้ฝา  ไม้พื้น  ประตู  หน้าต่าง  สังกะสี  อิฐ  ปูน  ทราย  ฯลฯ  (ไม่ได้ช่วยเหลือชาวบ้านเป็นเงินสด)  โดยชาวบ้าน  ช่างจิตอาสาในชุมชนช่วยกันซ่อมแซม

“เพื่อให้มีเงินกองทุนเอาไว้ช่วยเหลือซ่อมแซมบ้านครอบครัวที่เดือดร้อนต่อไปอีก  เราจึงตกลงกันว่า  สมาชิกที่ได้รับงบประมาณซ่อมแซมบ้านจะต้องคืนเงินเข้ากองทุนบ้านพอเพียง 100 เปอร์เซ็นต์  เช่น  ถ้าได้รับงบ 2 หมื่นบาท  จะต้องทยอยคืนเงินเข้ากองทุนเป็นรายเดือนๆ ละ 100-300 บาททุกเดือน  จนกว่าจะครบ 2 หมื่นบาท”  ประธานสภาองค์กรชุมชนฯ บอก

กลุ่มอาชีพแปรรูปปลาในช่วงโควิด-19

ช่วยสมาชิกและผู้เดือดร้อนช่วงโควิด-19

สถานการณ์โควิด-19  ส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วประเทศ  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ มี โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท ทั่วประเทศ  เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน  โดยเฉพาะเรื่องปากท้อง  การทำมาหากิน  เช่น  ส่งเสริมการสร้างแหล่งอาหาร  ปลูกผัก  เลี้ยงปลา  เลี้ยงไก่ไข่   ส่งเสริมอาชีพ  สร้างรายได้  การป้องกัน  เผ้าระวังโควิด  ฯลฯ

โดยสภาองค์กรชุมชนเทศบาลตำบลรูสะมิแลได้เสนอโครงการมายัง พอช. เพื่อจัดทำครัวกลาง  แจกจ่ายอาหารแก่สมาชิกในตำบลรูสะมิแล  ผู้ตกงาน  กลุ่มเปราะบาง  ผู้สูงอายุ  ฯลฯ  รวมถึงการสร้างอาชีพ  สร้างรายได้ ในช่วงปี 2563-2566  เช่น  ทำครัวกลางจำนวน 280,000 บาท  ส่งเสริมกลุ่มอาชีพแปรรูปปลา  ทำปลาแห้ง  ปลาเค็ม  ปลาหวาน  ส่งเสริมการปลูกผักในครัวเรือน จำนวน 45,000 บาท

นางสาวปาตีเมาะ  บูละ  กรรมการกลุ่มแปรรูปปลา  บอกว่า  เดิมชาวบ้านรูสะมิแลที่อยู่ติดชายทะเลมีอาชีพทำประมงพื้นบ้านอยู่แล้ว  และนำปลาที่จับได้มาทำปลาแห้ง  ปลาหวานขายในตลาด  ทำมาก่อนช่วงโควิด-19  พอเกิดโควิด  ทำให้การค้าขายไม่ดี  ตลาดซบเซา  กลุ่มจึงหยุดทำ 

เมื่อ พอช.สนับสนุนให้ชาวบ้านมีอาชีพ  มีรายได้ในช่วงโควิด  จึงรวมกลุ่มกันทำอีกครั้ง  มีสมาชิก 30 คน  สมาชิกลงหุ้นกันคนละ 100 บาท  นำมาซื้อปลาเพื่อเอามาตากแห้ง  เช่น  ปลาจวด  ปลาหลังแข็ง  ปลาเม็ดขนุน  ปลาสลา  ฯลฯ  นำมาผ่ากลาง  เอาไส้  เอาพุงออก  ล้างน้ำ  ตากแดดให้แห้งสนิท  แล้วบรรจุถุงขาย  ใช้ชื่อว่า ปลาเค็ม  กลุ่มแม่บ้านรูสะมิแล ราคาถุงละ 35 บาท  รสชาติอร่อย  ไม่เค็มมาก   เอาไปขายที่ตลาด  และทำตามออร์เดอร์   สมาชิกที่มาช่วยทำปลา  ขายปลา  จะมีรายได้เฉลี่ยประมาณเดือนละ 3 ,000 บาท

น้ำมัน กัสตูรีของดีที่รูสะมิแล

ปัตตานีเป็นเมืองท่าที่มีการค้าขายกับประเทศต่างๆ มาแต่สมัยโบราณ  นอกจากจะมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าแล้ว  ยังมีการสืบทอดความรู้และภูมิปัญญาด้านสมุนไพรพื้นบ้านจากประเทศเพื่อนบ้านแถบนี้มาจนถึงปัจจุบันด้วย  เช่น  การทำน้ำมันสมุนไพร กัสตูรี

นางสาวนวรจ  สวัสดิรักษา  กลุ่มผลิตน้ำมัน กัสตูรี บอกว่า  น้ำมันกัสตูรีมีสรรพคุณใช้ทาแก้ปวดเมื่อย  แผลไฟไหม้  น้ำร้อนลวก  แก้ปวดจากสัตว์มีพิษ  เช่น  งู  แมลงป่อง  ตะขาบ  ผสมน้ำดื่ม  แก้ปวดท้อง ท้องขึ้น  ท้องเฟ้อ  ฯลฯ  เป็นสูตรคุณยายของเธอที่มีเชื้อสายอินโดนีเซีย   ทำน้ำมันนี้ใช้ในครอบครัวและขายมานานหลายสิบปีแล้ว  เธอเคยช่วยครอบครัวเคี่ยวสมุนไพรมาก่อน  จึงนำความรู้และรวบรวมกลุ่มผู้หญิงในตำบลช่วยกันทำตั้งแต่ปี 2563  มีสมาชิก 15 คน  ลงหุ้นกันคนละ 100 บาท  เพื่อซื้อสมุนไพรมาเคี่ยวทำน้ำมัน 

มีสมุนไพรที่สำคัญ  คือ กัสตูรี ลักษณะคล้ายหัวมัน  มีสรรพคุณหลายอย่าง  เป็นสมุนไพรที่มีแหล่งกำเนิดจากประเทศอินโดนีเซีย และ มาย่ง เป็นสมุนไพรจากอินเดีย  ช่วยสมานแผล  สมุนไพรทั้ง 2 ชนิดหาซื้อได้ในร้านขายสมุนไพรและเครื่องเทศในปัตตานี

วิธีการทำ  จะนำน้ำมันระกำ  เมนทอล  ลงเคี่ยวไฟอ่อนในกระทะ  ใส่ใบคึ่นฉ่าย  หัวกัสตูรีบดและมาย่งลงไป  เคี่ยวไฟอ่อนไปเรื่อยๆ นานหลายชั่วโมงจนส่วนผสมเข้ากันดี  ทิ้งไว้ให้เย็นแล้วนำมาบรรจุขวด  (ใช้ขวดยานัตถุ์) ปิดฉลากที่พิมพ์บอกสรรพคุณด้วยภาษามลายู  และบางส่วนเป็นภาษาไทย  ขายในตลาดออนไลน์และมีพ่อค้ามาเหมาซื้อไปขายใน 3 จังหวัดชายแดนและที่มาเลเซีย  (ราคาขายปลีกที่กลุ่มขวดละ 30 บาท)  เดือนหนึ่งมียอดขายไม่ต่ำกว่า 1,000 ขวด   หรือผลิตตามคำสั่งซื้อ  กลุ่มจะแบ่งรายได้ให้สมาชิกที่มาช่วยทำครั้งละ 500-1.000 บาท  เดือนหนึ่งจะช่วยกันทำประมาณ 3 ครั้ง

นอกจากนี้ยังร่วมกันตัดเย็บเสื้อผ้าสตรีมุสลิมเพื่อจำหน่าย  มีสมาชิก 18 คน  ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพัฒนารูปแบบเสื้อผ้าและคุณภาพให้ได้มาตรฐาน  ได้รับการสนับสนุนจากโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต พอช....ถือเป็นตัวอย่างการพัฒนาชุมชนโดยกลุ่มสตรีจังหวัดปัตตานี...เป็นพลังสตรีรูสะมิแลที่ไม่เคยหยุดนิ่ง...!! 

*********

เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แม่ทัพภาค 4 เผยโจรใต้ระเบิดโรงไฟฟ้า มุ่งทำลายเศรษฐกิจระบบสาธารณูปโภค

พลโทศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง หลังเกิดเหตุกลุ่มคนร้ายวางเพลิงเผาภายในอาคารเครื่องผลิตไฟฟ้า และก่อเหตุวางระเบิดภายในโรงไฟฟ้ารุ่งทิวา ไบโอแมส

พอช. ร่วม 3 พื้นที่รูปธรรมภาคอีสาน ถอดบทเรียนเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่น

ระหว่างวันที่ 22-24 เมษายน 2567 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) โดยสำนักพัฒนาองค์ความรู้และสื่อสารองค์กร ร่วมกับสำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลงพื้นที่ถอดบทเรียน 3 พื้นที่รูปธรรม

โจรใต้ป่วนหนัก! เผาโรงไฟฟ้าปัตตานี-สงขลา

กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า รายงานว่า เมื่อเวลา 23.3. น. วันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา เกิดเหตุคนร้ายลอบวางเพลิงเผาโรงไฟฟ้าชีวมวล

เครือข่ายสวัสดิการชุมชนจัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ที่สุพรรณบุรี “สวัสดิการชุมชน พลังสร้างสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ แก้วิกฤตประชากรไทย”

สุพรรณบุรี : เครือข่ายสวัสดิการชุมชน ร่วม กระทรวง พม. พอช. จัดงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนระดับภาค ภาคกลางและตะวันตก และภาคกรุงเทพฯ ปริมณฑลและตะวันออก

บึ้มปัตตานี! ดักสังหารเจ้าหน้าที่ชุดคัดเลือกทหารเกณฑ์

เมื่อเวลา 05.30 น. ร.ต.อ.พงศกร ฤทธิศักดิ์ รอง สว. (สอบสวน) สภ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี ได้รับแจ้งมีเหตุลอบวางระเบิดเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บเหตุเกิดบนถนนสายทุ่งยางแดง-กะพ้อ