สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กับการพัฒนากฎหมายที่ช่วยส่งเสริมสตาร์ทอัพ

การพัฒนาระบบเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการพัฒนาประเทศ ในยุคปัจจุบันเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินธุรกิจ ส่งผลต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ดี กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันของไทยเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของสตาร์ทอัพ ทำให้สตาร์ทอัพที่จัดตั้งโดยคนไทยหลายแห่งเลือกจัดตั้งธุรกิจจากต่างประเทศ เนื่องจากกฎหมายของต่างประเทศนั้นเอื้อต่อการประกอบธุรกิจมากกว่า จึงมีการเรียกร้องให้พิจารณาทบทวนและปรับปรุงกฎหมาย

ความเป็นมา

ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2564 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สำนักงานฯ) ได้รับหนังสือจากคณะกรรมการร่วมสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เสนอขอให้ทบทวนและปรับปรุงกฎหมายเพื่อลดขั้นตอนการอนุญาตที่ไม่จำเป็น ลดอุปสรรคในการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจของประชาชน โดยมีข้อเสนอประการหนึ่ง คือ การแก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับหุ้นที่กำหนดในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อลดอุปสรรคในการประกอบธุรกิจและส่งเสริมสตาร์ทอัพ และสำนักงานฯ ได้เสนอเรื่องต่อคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย ซึ่งมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน และคณะกรรมการพัฒนากฎหมายเห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าวโดยเสนอแนวทางการปรับปรุงกฎหมายไปยังนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) และได้มีบัญชามอบหมายคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปรับปรุงกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน หรือหากมีความจำเป็นให้จัดทำร่างกฎหมายใหม่ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ด้วยเหตุดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2565 คณะกรรมการพัฒนากฎหมายจึงได้มีคำสั่งแต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางการปรับปรุงหลักการเกี่ยวกับการกำกับดูแลและส่งเสริมธุรกิจ Startup” (คณะอนุกรรมการฯ) โดยมี รศ.สุดา วิศรุตพิชญ์ เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและบุคลากรของสำนักงานฯ เป็นอนุกรรมการฯ เพื่อศึกษาและเสนอแนวทางการปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคและจัดทำร่างกฎหมายเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีปัจจุบัน (นายเศรษฐา ทวีสิน) เห็นความสำคัญของสตาร์ทอัพต่อเนื่องจากรัฐบาลชุดที่แล้ว โดยได้กล่าวถึงการส่งเสริมการลงทุนในสตาร์ทอัพไว้ในคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภา เมื่อวันจันทร์ที่ 11 กันยายน 2566

แนวทางการดำเนินการ

คณะอนุกรรมการฯ ได้ศึกษาข้อมูลปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญในการประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศไทย โดยรับฟังความคิดเห็นจากผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ  สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมสรรพากร สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง  สำนักงาน ก.ล.ต. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล  สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย สมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงบริษัทที่ปรึกษากฎหมายและผู้ประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพ และนำข้อคิดเห็นดังกล่าวมาศึกษาเปรียบเทียบกับมาตรการและแนวทางของต่างประเทศที่อาจนำมาปรับใช้ในประเทศไทยได้ เช่น อเมริกา อังกฤษ สิงคโปร์ อิตาลี อินเดีย อินโดนีเซีย สเปน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณายกร่างกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพ

คณะอนุกรรมการฯ ได้เสนอผลการศึกษาต่อคณะกรรมการพัฒนากฎหมายแล้ว จำนวน 2 ครั้ง และคณะกรรมการพัฒนากฎหมายได้มีมติเห็นชอบให้คณะอนุกรรมการฯ จัดทำร่างกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาหรืออุปสรรคของธุรกิจสตาร์ทอัพ ภายใต้หลักการสำคัญ 3 ข้อ คือ

(1) ให้เน้นการปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการบริหารจัดการองค์กรธุรกิจและการระดมทุนก่อน แล้วจึงขยายไปสู่การปรับปรุงกฎหมายในประเด็นอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพต่อไป

(2) ร่างกฎหมายที่จะเสนอจะต้องไม่สร้างคณะกรรมการหรือหน่วยงานขึ้นใหม่ เพื่อมิให้เพิ่มภาระแก่ผู้ประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพ แต่ต้องเน้นการขจัดอุปสรรคในการประกอบธุรกิจให้มากที่สุด เช่น อาจยกเว้นการปฏิบัติตามกฎหมายบางเรื่องที่เป็นอุปสรรคให้กับธุรกิจสตาร์ทอัพที่ควรได้รับการส่งเสริม

(3) ควรกำหนดลักษณะหรือนิยามของธุรกิจ Startup ที่จะได้รับประโยชน์จากกฎหมายให้กว้างขวาง และอาจนำระบบการขึ้นทะเบียนอย่างง่ายหรือการให้ธุรกิจ Startup รับรองตนเอง ที่มีการใช้ในต่างประเทศมาปรับใช้เพื่อลดภาระในการปฏิบัติตามกฎหมายหรือการขอรับการส่งเสริมของผู้ประกอบการ

ในขณะนี้ คณะอนุกรรมการฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพ พ.ศ. .... โดยดำเนินการตามแนวทางที่คณะกรรมการพัฒนากฎหมายให้ไว้ กล่าวคือ ไม่สร้างหน่วยงานใหม่ แต่กำหนดให้สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลสตาร์ทอัพตั้งแต่ต้น และกำหนดกลไกให้หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ร่วมกันส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพ รวมถึงกำหนดให้สิทธิและประโยชน์ที่จะช่วยส่งเสริมการประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพให้เติบโตยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของสำนักงานฯ คือ “Better Regulation for Better Life” หรือพัฒนากฎหมายให้ดีเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

กำลังใจในการทำงาน

จากบทบาทและความมุ่งมั่นที่จะขจัดอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ และเพื่อส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพโดยการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อการสร้างระบบนิเวศของสตาร์ทอัพในประเทศไทย  สมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทยได้มอบรางวัล “The Policy Advocate Friends of Makers Awards” และศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Innovation Hub) ได้มอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้แก่สำนักงานฯ (โดยคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย และคณะอนุกรรมการฯ) เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ในการพัฒนากฎหมายเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ร่างกฎหมายว่าด้วยเศรษฐกิจแพลตฟอร์มดิจิทัล

ปัจจุบันวิถีชีวิตของผู้คนได้เปลี่ยนแปลงไปจากในอดีตเป็นอันมาก โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ฯลฯ ของประชาชนได้เข้าสู่การดำเนินการผ่านโลกออนไลน์

การใช้มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมคุณภาพยาเพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชน

การจะพัฒนากฎหมายเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามวิสัยทัศน์ “Better Regulation for Better Life” ได้นั้น นอกจากการพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทางด้านเศรษฐกิจแล้วนั้น

บทบาทของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกากับการขับเคลื่อนงานด้านกฎหมายเกี่ยวกับ “Soft Power”

นโยบายสำคัญอย่างหนึ่งที่ได้รับความสนใจและมีการกล่าวถึงอย่างแพร่หลายของรัฐบาลที่นายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) เข้ามาบริหารประเทศ

การยกเลิกกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น

สิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยรัฐจะดำเนินการที่กระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพดังกล่าวได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายให้อำนาจเท่านั้น

Regulate to elevate : บทบาทของกฎหมายกับการพัฒนาด้านสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

โลกหลังจากวิกฤติโควิด-19 ประชาชนหันมาให้ความสนใจในการพัฒนาด้านสังคมและเศรษฐกิจด้วยแนวคิดความยั่งยืนเป็นหลักการสำคัญ การจัดทำนโยบายแห่งรัฐและกระบวนการกฎหมายจึงจำเป็นต้อง