พระราชินี ทรงเปิดงาน 'อัตลักษณ์แห่งสยาม'

22 พ.ค. 2566 เวลา 13.28 น. สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดงาน "อัตลักษณ์แห่งสยาม" ครั้งที่ 14 ที่โถงนิทรรศการ 100 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา การนี้ นายจุรินทร์ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ศาสตราจารย์กิตติคุณตีรณ พงศ์มณพัฒน์ ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริม ศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) นายภาวี โพธิ์ยี่ รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) เฝ้า ฯ รับเสด็จ

สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีเสด็จเข้าบริเวณจัดงาน ฯ โถงนิทรรศการ ดนตรีบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีประทับพระราชอาสน์ รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) เข้าเฝ้า ฯ ทูลเกล้า ฯ ถวายสูจิบัตร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กราบบังคมทูลรายงานวัตถุประสงค์การจัดงาน ฯ และกราบบังคมทูลเชิญเปิดงานอัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 14 ทอดพระเนตรนิทรรศการ และการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทย ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน)เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้า ฯ ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย

รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาขน) เข้าเฝ้า ฯ ทูลเกล้า ฯ ถวายของที่ระลึกผอบคร่ำทองงานอัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 14

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จ ฯ ไปทรงตัดแถบแพรเปิดงานอัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 14

ดนตรีบรรเลงเพลงมหาฤกษ์ ทอดพระเนตรนิทรรศการ ประกอบด้วยนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนิทรรศการ "มรดกสยามอันล้ำค่า" จัดแสดงและสาธิตงานศิลปหัตถกรรมที่ล้ำค่า หาดูยาก โดยครูศิลป์ของแผ่นดินครูช่างศิลปหัตถกรรมและทายาทที่ได้รับการยกย่องเชิดชูจากสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย ปี 2552 - 2565 กิจกรรมสาธิตกระบวนการสร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทย จัดแสดงสาธิตการสร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรม ซึ่งเป็นการรักษามรดกภูมิปัญญาที่แสดงถึงทักษะฝีมือเชิงช่างของครูและทายาท กิจกรรมสาธิตงานช่างศิลปาชีพ นานาศิลปาชีพ การจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง บูธกิจกรรมหัตถศิลป์ทั่วถิ่นไทย การจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม นิทรรศการเชิดชครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรมและทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ประจำปี 2566

จากนั้นเสด็จออกจากบริเวณจัดนิทรรศการฯไปยังห้องรับรอง ดนตรีบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี เสด็จเข้าห้องรับรอง ประทับพักพระราชอิริยาบถ ตามพระราชอัธยาศัย เสด็จออกจากห้องรับรอง ไปยังบริเวณฉายพระฉายาลักษณ์

ฉายพระฉายาลักษณ์ร่วมกับคณะกรรมการจัดงาน ฯ และผู้บริหารสถาบัน ส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย เสด็จออกจากบริเวณฉายพระฉายาลักษณ์ ประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับ

งาน “อัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่14” จัดโดย สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ สศท. (sacit) กระทรวงพาณิชย์ ภายใต้แนวคิด “ภูมิใจ ภูมิปัญญา สืบสานงานหัตถศิลป์ล้ำค่าคู่พระบารมี” เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงทนุบำรุงสร้างมรดกภูมิปัญญาจากท้องถิ่น สู่งานศิลป์แห่งแผ่นดิน พร้อมส่งเสริม สนับสนุน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ต่อยอดงานศิลปหัตกรรมของไทยประจักษ์สายตาสู่สากล โดยงานจัดระหว่างวันที่ 22-28 พ.ค.2566 ณ โถงนิทรรศการ 100 ศูนย์นิทรรศการ และการประชุม ไบเทค บางนา สามารถเข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

สำหรับงาน “อัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่14” นับเป็นงานแสดงสินค้าศิลปหัตถกรรมไทยที่ยิ่งใหญ่ระดับประเทศ ที่จัดมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตลอดระยะเวลาของการจัดงานที่ผ่านมา ได้รับการชื่นชมจากประชาชนชาวไทย และนานาประเทศทั่วโลก ต่างรอคอยเพื่อมาสัมผัสสุดยอดความสวยงามของศิลปหัตถกรรมไทย โดยครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 14 จัดอย่างยิ่งใหญ่เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พร้อมเผยแพร่เกียรติประวัติ, ผลงาน, เทคนิคเชิงช่าง รวมถึงการถ่ายทอดแนวคิดแรงบันดาลใจในการทำงานศิลปหัตถกรรมระดับบรมครูผ่านนิทรรศการ, การสาธิต, กิจกรรม workshop และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมล้ำค่าจากครูศิลป์ของแผ่นดิน, ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ที่ได้รับการเชิดชูจาก สศท. รวมทั้งสิ้นกว่า 120 คูหา อีกทั้งยังเพื่อส่งเสริมสนับสนุน และสร้างความแข็งแกร่งให้งานศิลปหัตถกรรมไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดสากล พร้อมผลักดันให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางงานศิลปหัตถกรรมในระดับภูมิภาคอาเซียน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ในหลวงทรงรับทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาครุศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

6 เม.ย.2567 เวลา 17.24 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ คณะบุคคลต่าง ๆ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ตามลำดับดังนี้ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้

'ในหลวง' ทรงเปิดโครงการพัฒนาบึงสีไฟ-สนามจักรยาน 'สราญจิตมงคลสุข'

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโครงการพัฒนาบึงสีไฟเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567

'ในหลวง-พระราชินี' พระราชทานพระบรมราชวโรกาส ทหาร-ตำรวจชั้นนายพล เฝ้าฯ ถวายสัตย์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จลง ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายสุทิน คลังแสงรัฐมนตรีว่าการ

'ในหลวง-พระราชินี' ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันมาฆบูชา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปในการทรงบำเพ็ญ พระราชกุศลเนื่องในวันมาฆบูชา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง