
วธ. ร่วมกับชาวบึงกาฬ เครือข่ายวัฒนธรรม จัดงานสืบสานตำนานแห่ธุงพญานาคศิลปะลุ่มน้ำโขง“เทศกาลแห่งศรัทธา” อย่างยิ่งใหญ่ ใช้ Soft Power สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ
3 ก.ย. 2565 – นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีบวงสรวงและพิธีเปิดการจัดงานสืบสานตำนานแห่ธุงพญานาคศิลปะลุ่มน้ำโขง “เทศกาลแห่งศรัทธา” ระหว่างวันที่ 2 – 4 กันยายน 2565 และเยี่ยมชมการสาธิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) “ตลาดวัฒนธรรมร่วมสมัย” ทั้งตลาดบกและตลาดน้ำ กิจกรรมของดีของเด่นอำเภอ กิจกรรมสาธิตผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์จากผ้า การโชว์ควายงาม บึงกาฬ โดยมีนายนฤชาโฆษาศิวิไลซ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ นายโกวิทผกามาศ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย นายชัยพล สุขเอี่ยม ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม นางสาวฐิต์ณัฐ สมบัติศิริ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายสุทธิพงษ์ สุริยะ ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต ผู้บริหาร วัฒนธรรมจังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเครือข่ายวัฒนธรรมเข้าร่วม ณ บริเวณลานพญานาค พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต และบริเวณองค์การบริหารส่วนตำบลหนองพันทาตำบลหนองพันทา อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ


นางยุพา กล่าวว่า รัฐบาล โดยกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) มีนโยบายผลักดัน “Soft Power” ความเป็นไทยเช่น งานฝีมือและหัตถกรรม ศิลปะการแสดง อาหารไทยการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ยกระดับเทศกาลประเพณีให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายไปสู่ระดับชาติและนานาชาติ วธ. โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดบึงกาฬ ร่วมกับสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย บูรณาการความร่วมมือกับจังหวัดบึงกาฬ องค์การบริหารส่วนตำบลหนองพันทา พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต นายสุทธิพงษ์ สุริยะ นักออกแบบชื่อดัง เครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน จัดงานสืบสานตำนานแห่ธุงพญานาคศิลปะลุ่มน้ำโขง “เทศกาลแห่งศรัทธา” ระหว่างวันที่ 2 – 4 ก.ย. นี้ ณ บริเวณองค์การบริหารส่วนตำบลหนองพันทา ตำบลหนองพันทา อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ ถือเป็นงานที่รวมเอาสองเทศกาลมารวมไว้ที่เดียว คือ เทศกาลผีตาโขนจังหวัดเลยและเทศกาลวันมาฆบูชาสักการะพระธาตุยาคู จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ใช้“ธุง” หลากสีสันมาประดับในงาน ซึ่งจังหวัดบึงกาฬมีพื้นที่ติดแม่น้ำโขง มีความเชื่อเรื่องพญานาค เกิดแรงศรัทธา ทำความดี จึงนำความเชื่อนี้มาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเกิดเป็นงานสืบสานตำนานแห่ธุงพญานาคศิลปะลุ่มน้ำโขง “เทศกาลแห่งศรัทธา” ผ่านงานวัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย

ปลัด วธ. กล่าวต่อว่า ภายในงานมีการจัดกิจกรรมท่องเที่ยววิถีชุมชนโดยรถสามล้อพ่วงข้างพญานาค การโชว์ผ้าพื้นถิ่น ชาติพันธุ์จังหวัดบึงกาฬกิจกรรมสาธิตผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม (CPOT) “ตลาดวัฒนธรรมร่วมสมัย” ทั้งตลาดบกและตลาดน้ำ กิจกรรมของดีของเด่นอำเภอ กิจกรรมสาธิตผลิตภัณฑ์อาหารผลิตภัณฑ์จากผ้า การโชว์ควายงาม บึงกาฬ โดยไฮไลท์สำคัญในการจัดงาน ในวันที่ 2 กันยายน 2565 มีการจัดขบวนเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขบวนแห่ธุงพญานาคศิลปะลุ่มน้ำโขง “เทศกาลแห่งศรัทธา” กว่า 500 ธุง พร้อมด้วยขบวนรถสามล้อพ่วงข้างพญานาค ขบวนขันหมากเบ็ง ขบวนแห่กระติ๊บข้าวขบวนนางรำจาก 8 ตำบล เป็นต้น


“การจัดงานครั้งนี้ มุ่งหวังให้ประชาชน เด็กเยาวชนศิลปินร่วมสมัยและเครือข่ายในชุมชนกลุ่มเป้าหมาย ได้เข้าร่วมกิจกรรมนำเอามิติวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นของจังหวัดในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงมาสนับสนุนการดำเนินโครงการ เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจสร้างค่านิยม ให้เกิดความภาคภูมิใจ มีจิตสำนึกรักและเห็นคุณค่าศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่น นำไปสู่การส่งเสริมการท่องเที่ยวในมิติงานวัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย พร้อมกับเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีและการเสริมความมั่นคงระหว่างประเทศในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง ขอขอบคุณทุกภาคส่วน ชาวจังหวัดบึงกาฬที่ร่วมใจกันจัดงานดังกล่าวขึ้น และขอเชิญชวนประชาชน นักท่องเที่ยวมาร่วมชมงานสืบสานตำนานแห่ธุงพญานาคศิลปะลุ่มน้ำโขง “เทศกาลแห่งศรัทธา” สนับสนุนสินค้าผลิตภัณฑ์ CPOT สร้างงาน สร้างรายได้ เรียนรู้วิถีชีวิตประเพณีและศิลปวัฒนธรรม มาร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมเทศกาลทางศิลปะที่รวมพลังการสร้างสรรค์จากการนำมิติวัฒนธรรมและ Soft Power ความเป็นไทยในการสร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชน ยกระดับงานเทศกาลประเพณีของอำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬให้เป็นที่รู้จักในระดับประเทศและนานาชาติ”ปลัด วธ. กล่าว

อาจารย์สุทธิพงษ์ สุริยะ ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิตจังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า งานสืบสานตำนานแห่ธุงพญานาคศิลปะลุ่มน้ำโขง “เทศกาลแห่งศรัทธา” เป็นการนำทุนวัฒนธรรมที่ท้องถิ่นมีอยู่แล้วและนำศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยมาต่อยอดให้เกิดมูลค่าเพิ่ม สำหรับ”ธุง” ประดับในงานนั้น ครูโต – ม.ล.จิราธร จิระประวัติ ศิลปินนักวาดภาพประกอบชื่อดัง ได้ออกแบบลวดลายพญานาค เพราะจังหวัดบึงกาฬมีพื้นที่ติดแม่น้ำโขง มีความเชื่อเรื่องพญานาค รวมถึงมีลวดลายดอกไม้ ธีมสีของธุง ประกอบด้วยสีม่วง สีประจำจังหวัดบึงกาฬ สีเขียว สีประจำอำเภอโซ่พิสัย และสีขาว สื่อพลังศรัทธาพญานาค ถือเป็นต้นแบบนำงานดีไซน์ยกระดับกิจกรรมวัฒนธรรม และยังเป็นครั้งแรกที่จัดแห่ธุงพญานาคในประเทศไทย ตั้งเป้าจะผลักดันให้เป็นประเพณีประจำจังหวัดต่อไป

อาจารย์สุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า นอกจากงานแห่ธุงพญานาคแล้ว ในพื้นที่อ.โซ่พิสัย ยังมีพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิตจังหวัดบึงกาฬ เป็นแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรม ซึ่งก่อตั้งมา6 ปี เป็นตัวอย่างการนำซอฟต์ พาวเวอร์ มาพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจฐานราก เปลี่ยนโฉมหมู่บ้านเกษตรกรรมชนบทด้วยศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย นำวิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเชื่อเรื่องพญานาค มานำเสนอในพิพิธภัณธ์ฯ เจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อ นอกจากเที่ยวชมพิพิภัณฑ์ ชมผลงานกราฟฟิตี้ 100 ผลงานที่กระจายทั่วหมู่บ้าน ยังสามารถจับจ่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนที่นำงานออกแบบมาเพิ่มมูลค่า เช่น ปลาร้าบอง เครื่องจักสาน ยาหม่อง ผ้าฝ้ายทอมือ นอกจากนี้ ยังมีผลงานกราฟฟิตี้พญานาคร่วมสมัยกระจายในพื้นที่ต่างๆ ของอำเภอ ทั้งสถานีตำรวจ โรงพยาบาล สำนักสงฆ์ วัด โรงเรียน รวมแล้วกว่า 300 ชิ้น ที่จะสร้างรอยยิ้มให้กับผู้มาเยือน และเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้กับท้องถิ่น



ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นายกฯ หยอดหวาน 'เอาหัวใจมาฝาก' คนบึงกาฬ
นายกฯ ถึงบึงกาฬ ปลื้มเห็นบ้านเมืองสงบเรียบร้อยดี หยอดหวานเอาหัวใจ ความรัก ความคิดถึงมาให้ ขออย่าเพิ่งเบื่อ ยันตั้งใจทำงานเพื่อประชาชน
'ไทยสร้างไทย' ดัน 'บึงกาฬ' ศูนย์กลางส่งออกอีสานเหนือ เที่ยวสายมู
'สุดารัตน์ - สุพันธุ์' ดันบึงกาฬศูนย์กลางส่งออกอีสานเหนือ พัฒนาท่องเที่ยวสายมู ประกาศยางพาราราคาต้องไม่ต่ำกว่ากิโลละ 45 บาท
เที่ยวเมืองพญานาค’บึงกาฬ’ สัมผัสพลังศรัทธา
ชาวบึงกาฬเป็น 1 ใน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง มีความเชื่อ ความศรัทธา เรื่องพญานาคอย่างเหนียวแน่นสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน ทำให้พญานาคไปปรากฏในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ พบได้จากงานสถาปัตยกรรมตามวัดวาอารามในจังหวัดบึงกาฬ โดยเฉพาะวัดอาฮงศิลาวาสริมฝั่งแม่น้ำโขงบริเวณแก่งอาฮง จุดที่ได้ชื่อว่าลึกที่สุดของแม่น้ำโขง ซึ่งมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาเกี่ยวกับความเชื่อเป็นเมืองหลวงพญา
ฮืฮฮา ควักเงินสด 7 ล้านซื้อ 'เพชรลำโขง'
ฟาร์มควายบิ๊กไอซ์พิษณุโลก ซื้อควายพ่อพันธุ์วัยรุ่น “เพชรลำโขง” ในราคา 6,999,999 บาท หวังผลักดัน สุดยอดสายพันธุ์ควายไทยให้ได้ในอนาคต
เตือน 7 จังหวัดริมแม่น้ำโขงระวังน้ำเพิ่มฉับพลัน!
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติแจ้งเตือน 7 จังหวัดติดแม่น้ำโขง เฝ้าระวังผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของระดับแม่น้ำโขงฉับพลัน หนองคายวันเดียวน้ำโขงเพิ่มสูงขึ้นครึ่งเมตร
'อนุทิน' ชี้อีสานเปลี่ยนไปมาก มีศักยภาพผลักดันให้ประเทศก้าวหน้า
“อนุทิน” ชี้อีสานอุดมสมบูรณ์ มีศักยภาพสำคัญผลักดันความก้าวหน้าของประเทศ ฝากถึงคนในพื้นที่วางแผนใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลลงทุนทั้งทางถนน ทางรางสร้างอาชีพยกระดับรายได้