
การทำเกลือสินเธาว์เป็นอาชีพดั้งเดิมที่อยู่คู่คนอีสานมายาวนาน ผ่านวิถีที่พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ ใช้ภูมิปัญญาที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น และใช้แรงกายมากกว่าเครื่องจักรเทคโนโลยี แต่ด้วยปัญหามากมายที่คนทำเกลือต้องเผชิญทั้งราคาเกลือตกต่ำ ค่าจ้างแรงงานสูงขึ้น ทำให้ไม่มีแรงจูงใจสำหรับคนรุ่นใหม่เข้ามาสืบทอดอาชีพนี้ต่อจากบรรพบุรุษ เส้นทางสายเกลือจึงใกล้สูญหายไปจากสังคมไทย
ก่อนที่วิถีทำเกลือสินเธาว์จะกลายเป็นเพียงตำนานและภาพถ่าย กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมมือกับกระทรวงการต่างประเทศ(กต.) จัดโครงการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมบนเส้นทางสายเกลือใน 3 จังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือประกอบด้วยสกลนคร บึงกาฬและนครพนม ขึ้น เนื่องจาก 3 จังหวัดดังกล่าวเป็นแหล่งผลิตเกลือสินเธาว์ นอกจากนี้ ยังมีชาวบ้านในชุมชนที่ทำเกลือสินเธาว์ และเปิดพื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

อิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า โครงการเส้นทางสายเกลือ 3 จังหวัดของอีสาน จะจัดระหว่างวันที่ 30 พ.ย. – 3 ธ.ค. นี้ โดยมีผู้แทน วธ. กต.และสื่อมวลชนไทยและต่างประเทศร่วมเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เส้นทางสายเกลือในพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ช่วยส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมระดับนานาชาติ สร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและประเทศอย่างยั่งยืน
“ ในพื้นที่ 3 จังหวัดนี้ เป็นแหล่งอารยธรรมเกลือสินเธาว์ลุ่มแม่น้ำสงครามเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ลุ่มน้ำโขง เนื่องจากแม่น้ำสงครามเป็นแม่น้ำสายสำคัญเชื่อมพื้นที่ 3 จังหวัด ตลอดเส้นทางน้ำระยะ 420 กิโลเมตร เป็นแหล่งวัฒนธรรมของหลายกลุ่มชาติพันธุ์ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ การก่อตั้งบ้านเมือง ทำให้เกิดชุมชนที่อยู่คู่กับแหล่งผลิตเกลือสินเธาว์และมีความเจริญก้าวหน้าในสมัยก่อนประวัติศาสตร์มาก่อน 5,000 ปี ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือแสดงถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น ในการใช้เกลือสินเธาว์ในแง่มุมต่างๆ เพื่อการดำรงชีวิตนำไปสู่วิถีวัฒนธรรมเกลือ “ อิทธิพลกล่าว
จากข้อมูลวัฒนธรรมพื้นที่ จ.สกลนคร บึงกาฬ และนครพนม เป็นเส้นทางแหล่งผลิตเกลือสินเธาว์ มีแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในชุมชนที่เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้กรรมวิธีผลิตเกลือสินเธาว์ โครงการนี้จะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำเกลืออย่างสนุกสนานผ่านชุมชนคุณธรรมฯ ในโครงการ“เที่ยวชุมชน ยลวิถี” เช่น จ.บึงกาฬ สามารถเที่ยวชมบ่อเกลือหัวแฮด เป็นแหล่งผลิตเกลือสินเธาว์กลางลุ่มน้ำสงครามและชมกระบวนการต้มเกลือสินเธาว์โบราณที่เชื่อมโยงกับสังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรมใน 3 จังหวัดมาตั้งแต่ครั้งอดีต
จากพื้นที่ทำเกลือ เส้นทางวัฒนธรรมเชื่อมโยงมาสู่ จ.สกลนคร เพื่อท่องเที่ยวเรียนรู้ชุมชนคุณธรรมฯ บ้านท่าวัดเหนือที่มีบึงหนองหารกว้างใหญ่ทิวทัศน์สวยงาม เป็นแหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง และสืบสานการทอผ้าลายขอมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่น มีวัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร อุทยานแห่งชาติภูพาน วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหารคู่บ้านคู่เมือง ส่วนชุมชนคุณธรรมฯ บ้านท่าแร่ตั้งอยู่ริมบึงหนองหาร สามารถชมบ้านโบราณร้อยปี โบสถ์อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอลที่งดงาม และร่วมงานประเพณีแห่ดาวช่วงเทศกาลคริสต์มาสที่จะถึงนี้

ขณะที่ จ.นครพนม มีชุมชนคุณธรรมฯ บ้านนาถ่อน เป็นชุมชนชาวไทยกวนที่อนุรักษ์สืบทอดวิถีชีวิต วัฒนธรรมการต้มเกลือสินเธาว์ มีการพัฒนาต่อยอดสู่เกลือสปาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรักสุขภาพ เส้นทางสายเกลือนครพนม ยังนำพาไปรู้จักประเพณีเก่าแก่ เช่น ประเพณีบุญฮีตสิบสอง ประเพณีบุญเดือน 3 ออกใหม่ 3 ค่ำ ประเพณีกินดอง และสารพัดภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนที่น่าสนใจ ทั้งการตีเหล็ก ทอผ้าและย้อมสี งานจักสาน ทำพานบายศรีขันหมากเบง เที่ยวชุมชนแล้ว ไปแวะพิพิธภัณฑ์จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม (หลังเก่า) เรียนรู้ประวัติศาสตร์เมืองนครพนม
เส้นทางสายเกลือที่เต็มไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เชื่อว่าจะเปิดประสบการณ์ใหม่ให้คนไทยและชาวต่างชาติ กระตุ้นรายได้สู่ชุมชนช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน ขณะที่ชุมชนก็ภาคภูมิใจที่ภาคภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งรักษาวิถีวัฒนธรรมให้คงอยู่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อาภรณ์จากผ้าไทยร่วมสมัย เฉลิมพระเกียรติ’พระราชินี’
สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ทรงสืบสานพระราชปณิธาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ รักษา และสืบทอดงานผ้าไทย งานหัตถศิลป์ไทย อันเป็นศิลปวัฒนธรรมของชาติ
'ภูเก็ต' เมืองสร้างสรรค์แห่งวิทยาการอาหาร
20 พ.ค.2566 - นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นางสาวฐิต์ณัฐ สมบัติศิริ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะผู้แทนกระทรวงวัฒนธรรม และนายสาโรจน์ อังคณาพิลาส นายกเทศมนตรีนคร ร่วมเปิดงานเทศกาลอาหารอร่อยเมืองภูเก็ต เมืองสร้างสรรค์แห่งวิทยาการ
‘รวมศิลป์ แผ่นดินสยาม’ ประชันการแสดงพื้นบ้าน
ประเทศไทยมีวัฒนธรรมประเพณีที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ดนตรีและการแสดงพื้นบ้านเป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ แต่วิถีชีวิตและสื่อใหม่ในปัจจุบัน ทำให้สิ่งเหล่านี้เลือนหายไป การขยายผล ต่อยอดการแสดงพื้นบ้าน โดยพัฒนาทักษะและเทคนิคการแสดงผ่านการจัดประกวด
บวงสรวงใหญ่งานใต้ร่มพระบารมี 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์
20 เม.ย. 2566 - เวลา 8.19 น. ที่ลานสังคีต พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เป็นประธานในพิธีบวงสรวงเทพยดา งาน “ใต้ร่มพระบารมี 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” โดยมี พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ ประธานพระครูพราหมณ์ นำ
ไหว้พระโบราณเสริมมงคลงานสงกรานต์ที่สยามพารากอน
กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับสยามพารากอนจัดงาน “สงกรานต์ประเพณีไทย สายน้ำแห่งวัฒนธรรม” อัญเชิญ “พุทธบูชา มหาสงกรานต์” 9 องค์สำคัญให้ประชาชนสักการะบูชาเป็นสิริมงคล ณ แฟชั่น แกลลอรี่ ชั้น 1 ศูนย์การค้าสยามพารากอน สำหรับพระพุทธรูปมงคลโบราณ 9 องค์ กรมศิลปากรเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และคลังพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ