'ทูตสหรัฐ' เผยขั้นตอนซื้อ 'เอฟ-35' ผ่านโครงการช่วยเหลือทางทหารให้หุ้นส่วนพันธมิตร

ทูตสหรัฐฯ เผยขั้นตอนซื้อเครื่องบินขับไล่ F-35 ผ่านระบบ FMS ให้กับหุ้นส่วน-พันธมิตร รูปแบบ Total package ต้องผ่านขั้นตอนรัฐบาลสหรัฐฯอนุมัติให้เทคโนโลยีหรือไม่ ย้ำขายของคุณภาพ-ก้าวล้ำ ดูแลหลังการขาย2-3ปี

11 มี.ค.2565 - นายไมเคิล ฮีธ อุปทูตและรักษาการแทนเอกอัครราชฑูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เปิดเผยถึงความต้องการของกองทัพอากาศไทยในการจัดหาเครื่องบินขับไล่ทดแทน F35 จากสหรัฐฯว่า ไม่เคยมีการพูดคุยถึงเครื่องบิน F-35 ในขณะที่ตนประชุมกับเจ้าหน้าที่ทางการไทยเลย ทั้งนี้ยุทโธปกรณ์ของสหรัฐฯ มีเทคโนโลยีที่เหนือชั้น ซึ่งเป็นที่ต้องการของหุ้นส่วนและพันธมิตรของเราเป็นอย่างสูงในทั่วโลก

“สหรัฐฯ มี วิธีการจำหน่ายแบบเต็มรูปแบบ’ (Total Package Approach) ซึ่งแสดงถึงความมั่นใจในคุณภาพของเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำของเรา วิธีการจำหน่ายนี้รวมไปถึงการฝึกอบรม ชิ้นส่วนอะไหล่ และการให้การสนับสนุนที่จำเป็นต่อการบำรุงรักษาอุปกรณ์ดังกล่าวในช่วง 2-3 ปีแรก และถือเป็นการสร้างความมั่นใจว่าลูกค้าจะสามารถใช้งานและบำรุงรักษาได้อย่างยั่งยืนหลังการซื้อขาย” อุปทูตฮีธ กล่าว

นายไมเคิล ฮีธ กล่าวอีกว่า การจำหน่ายยุทโธปกรณ์หรือการเพิ่มศักยภาพให้กับยุทโธปกรณ์ใด ๆ ของสหรัฐฯ เกิดขึ้นหลังจากกระบวนการตัดสินใจและการดำเนินการตามนโยบายเดียวกัน ซึ่งมีความโปร่งใส และมีภาระรับผิดชอบต่อลูกค้าและผู้เสียภาษีชาวอเมริกัน ซึ่งยุทโธปกรณ์ของสหรัฐฯ ที่จัดซื้อผ่านโครงการช่วยเหลือทางทหารแบบ FMS (Foreign Military Sales) ใช้เทคโนโลยีที่เหนือชั้น และมีลักษณะพิเศษเพราะ วิธีการจำหน่ายแบบเต็มรูปแบบ" (Total Package Approach) สำหรับหุ้นส่วนและพันธมิตร กล่าวคือ ลูกค้าจะไม่เพียงแค่ซื้ออุปกรณ์ไปชิ้นหนึ่งเท่านั้น แต่ได้รับสินค้าแบบเต็มรูปแบบซึ่งรวมถึง การฝึกอบรม ชิ้นส่วนอะไหล่ และการให้การสนับสนุนอื่น ๆ ที่จำเป็นสำหรับอุปกรณ์ดังกล่าวเป็นเวลาอย่างน้อย 2-3 ปีแรก วิธีการจำหน่ายแบบเต็มรูปแบบนี้ถือเป็นการสร้างความมั่นใจว่าลูกค้าจะสามารถใช้งานและบำรุงรักษาได้อย่างยั่งยืนหลังการซื้อขาย และเพื่อแสดงถึงการที่เรามั่นใจในคุณภาพของเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำของเรา

ทั้งนี้ การจำหน่ายยุทโธปกรณ์ผ่านโครงการช่วยเหลือทางทหารแบบ FMS ของสหรัฐฯ จะเริ่มจากประเทศพันธมิตรมีข้อกำหนดและความต้องการเทคโนโลยีอะไรบ้าง จากนั้นก่อนการพิจารณาอย่างเป็นทางการ ประเทศที่ต้องการซื้อยุทโธปกรณ์จะได้รับข้อเสนอจากกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เกี่ยวกับอุปกรณ์ชนิดต่าง ๆ ที่สามาถเลือกได้ในราคาที่แตกต่างกันเพื่อให้ตรงตามความต้องการของตน

สำหรับขั้นตอนอย่างเป็นทางการในการขอซื้อยุทโธปกรณ์ใด ๆ ของสหรัฐฯ ผ่านโครงการช่วยเหลือทางทหารแบบ FMS จะเริ่มจากลูกค้าต้องทำจดหมายขอราคาและยุทโธปกรณ์พร้อมส่งมอบ เพื่อยื่นต่อรัฐบาลสหรัฐฯ โดยจะต้องระบุชัดเจนถึงความสามารถและชนิดของยุทโธปกรณ์นั้น ๆ คำร้องขอนี้มิใช่การทำสัญญาซื้อ แต่เป็นเงื่อนไขเพื่อใช้ประเมินว่า 1) รัฐบาลสหรัฐฯ จะให้เทคโนโลยีนี้แก่พันธมิตรหรือไม่ (“ยุทโธปกรณ์พร้อมส่งมอบ”) และถ้าได้ 2) รัฐบาลสหรัฐฯ จะทำงานร่วมกับบริษัทผู้ผลิตยุทโธปกรณ์ของสหรัฐฯ หรือ บริษัทคู่ค้าภายนอก (third-party vendor) เพื่อประเมินราคาของโครงการนั้น ๆ

กระบวนการดังกล่าวมีหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐฯ หลายหน่วยงานเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ และสำนักงานกิจการการเมืองและการทหาร (Bureau of Political and Military Affairs) ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ นอกจากนี้ ในแทบทุกการจำหน่าย รัฐสภาสหรัฐฯ จะมีส่วนในการพิจารณาและให้ความเห็นชอบด้วย เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ แทบไม่ได้รับอนุญาตให้สนับสนุนบริษัทด้านยุทโธปกรณ์หรือยุทโธปกรณ์ใดเป็นพิเศษ และรัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ได้รับผลประโยชน์ใด ๆ จากการจำหน่ายยุทโธปกรณ์ หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกระบวนการเหล่านี้ สามารถเข้าไปดูได้ที่ https://www.dsca.mil/foreign-military-sales-faq

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เนื้อหาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่ง ของการการตอบคำถามผู้สื่อข่าวสายความมั่นคง ที่ได้รับเชิญไปพบปะพูดคุยสถานการณ์ทั่วไป ที่บ้านรับรองประจำตำแหน่งเอกอัคราชฑูตสหรัฐฯประจำประจำประเทศไทย ถนนวิทยุ เมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กองทัพยอมรับ 'ร้อยโท' โยงสังหารแม่ค้าออนไลน์เป็นกำลังพลจริง

กองทัพยอมรับ “ร้อยโท” ผู้ต้องสงสัยสังหารแม่ค้าออนไลน์ เป็นกำลังพลของกองทัพไทยจริง  ด้าน ผบ.ทหารสูงสุด ให้หน่วยงานต้นสังกัดดำเนินตามขั้นตอนพร้อมให้ความร่วมมือตำรวจ

ผบ.ทบ.ปัดตอบรัฐประหาร ปลื้มยอดสมัครทหารพุ่ง 40,000 คน

พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวถึง การเกณฑ์ทหารในปีนี้ว่า เมื่อวานนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้เดินทาง

'สุทิน' ควง 'เจ้าสัวธนินท์' สักขีพยาน MOU กลาโหมจับมือซีพี

นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกระทรวงกลาโหม กับบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด