'ชัชชาติ' ออกทะเล! แจงยิบเปิดพื้นที่ม็อบหยุดเอเปก ไม่ได้คิดเอง ตร.ก็เห็นด้วย ปัดพัลวันหนุนสามนิ้ว

21 พ.ย.2565 - ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงกลุ่มผู้ชุมนุมราษฎรหยุดเอเปก 2022 ที่ชุมนุมที่ลานคนเมืองว่า ได้มีการหารือกับฝ่ายความมั่นคงอย่างต่อเนื่อง และการเปิดพื้นที่ลานคนเมืองเราไม่ได้คิดเอง ได้มีการหารือกับตำรวจ ซึ่งตำรวจก็เห็นด้วย โดยตั้งแต่ที่เราเปิดอนุญาตให้มีการใช้ลานคนเมือง เป็น 1 ใน 7 สถานที่ชุมนุมสาธารณะ จนถึงปัจจุบันมีผู้ขอใช้ทั้งหมด 36 ครั้ง โดย 14 ครั้งเป็นเรื่องของการเมือง อีก 22 ครั้งเป็นเรื่องอื่นๆ ทั่วไป จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาเป็นพื้นที่ที่สามารถให้คนมาแสดงออกได้ จากที่เราสังเกตมีการลดความขัดแย้งที่อยู่บนท้องถนน หรือปัญหาต่างๆได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ ยืนยันว่าสิ่งที่เราทำเราถือว่าได้มีการคิดละเอียดแล้ว อาจจะมีข้อที่มีปัญหากรณีที่มีผู้ชุมนุมขยับออกไป และเกิดการปะทะขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่อยากให้เกิด

“แต่ต้องเรียนว่า ยังดีกว่าที่ไม่มีพื้นที่ จะง่ายมากสำหรับกทม. ที่ไม่ให้ชุมนุม เป็นเรื่องง่ายเลย และเป็นการโยนภาระให้คนอื่น เพราะกลายเป็นว่าเมื่อไม่มีที่ชุมนุม ที่เป็นสัดส่วน คนต้องไปชุมนุมที่อื่น ยิ่งไปสร้างปัญหา คาดการณ์ไม่ได้ว่าจะไปชุมนุมที่ไหน การรับมือยิ่งลำบากมากขึ้นอีก ซึ่งการอาศัยการกำหนดพื้นที่ให้เขาสามารถมาแสดงออกได้ ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนเห็นตรงกัน แต่อาจจะมีจุดที่เกิดข้อผิดพลาดขึ้นบ้าง หรือข้อกระทบกระทั่ง ก็เป็นบทเรียนที่เราต้องพัฒนาขึ้น “ นายชัชชาติ กล่าว

ผู้ว่าฯกทม. กล่าวต่อว่า ในส่วนกทม. บทเรียนที่ได้มีการคุยกันของเรื่องจุดชุมนุมคือ ปัญหาเกิดจากตอนที่คนจะออกจากลานคนเมืองไปยื่นหนังสือที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยอนาคตเราสามารถจะจัดให้ 2 ฝ่าย มาเจอกันได้หรือไม่ สำหรับการประชุมที่มีตัวแทนจากต่างประเทศ จัดให้มีตัวแทนจากต่างประเทศมาเจอผู้ชุมนุมที่ลานคนเมืองได้หรือไม่ จะได้ไม่ต้องมีข้ออ้างออกจากพื้นที่ หรือจัดตัวแทนผู้ชุมนุมให้ยื่นหนังสือให้กับคนที่เขาอยากเจอได้หรือไม่ จะได้ลดความขัดแย้งและความเคลื่อนไหว นอกจากนี้ ประเด็นที่ผู้ชุมนุมจะเสนอ เราเองก็ยังไม่ชัดเจนว่าต้องการอะไรในรายละเอียด เราอาจจะเข้าไปสรุปประเด็นว่าเขาต้องการอะไร จะได้ทำให้ข้อเสนอชัดเจนและเป็นรูปธรรม ซึ่งอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่กทม. สามารถช่วยทำให้การประชุมครั้งหน้ามีประสิทธิภาพขึ้น แต่ตนเชื่อว่า การมีพื้นที่ชุมนุมเป็นสัดส่วนเป็นเรื่องที่ดี และสิ่งที่พิสูจน์ช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา มีการชุมนุม 36 ครั้ง ตนว่าสถานการณ์ตึงเครียดลดลง เหมือนกับมีพื้นที่เป็นสัดเป็นส่วน เป็นช่องที่หายใจได้

“ขอบคุณทุกท่านที่มีผู้แสดงความเห็น หลายคนบอกว่าไม่ควรเปิดพื้นที่ให้ แต่ตนเชื่อว่าเป็นวิถีทางที่เราคิดละเอียดแล้ว และผลที่ผ่านมาเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี ผมว่าเป็นคอนเซปเอเปกคือโอเพ่น คอนเนคท์ และบาลานซ์ คือเราเปิดเผย เชื่อมโยงคนทุกคนไม่ว่ามีความเห็นแตกต่างกัน และหาความสมดุลระหว่างผู้ที่เห็นต่าง ทั้งนี้ เรื่องตรวจสอบก็เป็นสิทธิ์สามารถตรวจสอบได้ ดีจะได้ช่วยกัน เรามาจากประบอบประชาธิปไตย เราไม่กลัวการตรวจสอบอยู่แล้ว อย่างที่เรียนว่าเรามีการหารือกับทางตำรวจตลอด ตำรวจก็ไม่ได้ขัดข้อง อยากให้เรามีพื้นที่ที่เปิดกว้างด้วยซ้ำ ” นายชัชชาติ กล่าว

นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า เราไม่ได้สนับสนุนใคร เราดูแลประชาชนทุกคนเท่าเทียมกัน อย่าไปโยงเรื่องประเด็นการเมือง หากจะมีการชุมนุมสนับสนุนเอเปกเราก็ไม่ว่า เพราะเนื้อหาเราไม่รู้ว่าใครเป็นใคร เราอยู่ตรงนี้ เราเป็นกลาง เพราะเรามีความไม่ได้ทะเยอทะยานทางการเมือง เราเป็นอิสระ และเชื่อว่าสิ่งที่ทำ ทำเพื่อประโยชน์สูงสุดของกรุงเทพมหานคร ทำเพื่อให้การประชุมเอเปกครั้งนี้ในแง่ของการประชุมจัดไปได้อย่างราบรื่น ถึงแม้จะมีการกระทบกระทั่งกันแต่ก็ไม่ได้บานปลายขนาดที่ทำให้กระทบกับการประชุม ทั้งนี้ ยืนยันว่าไม่สนับสนุนม็อบ ไม่มีความฝักใฝ่ฝ่ายใด

“เราดูแลทุกคนเท่าเทียมกัน อย่าเอาไปเป็นประเด็นการเมือง ผมเองไม่สนับสนุนใครเป็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เราอยู่ตรงนี้ ถือว่าเป็นผู้ว่าฯของทุกคน ผมต้องรับใช้คนกรุงเทพฯทุกคน และหน้าที่เราคือประคองสถานการณ์ให้ผ่านเอเปกไปให้เรียบร้อย ไม่มีผลกระทบกับการประชุม ซึ่งผมเชื่อว่าที่ผ่านมาเราทำได้ดีในระดับหนึ่ง และมีพื้นที่ให้คนแสดงออกได้ พื้นที่ตรงนี้ถือว่าเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ การบริหารจัดการก็สะดวกเพราะมีทางเข้าทางออกอย่างจำกัด ทำให้เราดูแลผู้ชุมนุมได้ ” ผู้ว่าฯกทม.กล่าว

นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า ตามกฎหมายเป็นพื้นที่อนุญาตให้คนมาแสดงออกอยู่แล้ว แต่อย่าให้เกิดคนรุนแรง ฉะนั้น คนที่มาก็ต้องรับผิดชอบเนื้อหาที่ตัวเองพูด ซึ่งการลงถนนผิดเรื่องพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ฉะนั้น แค่แจ้งให้เราทราบ เราจะได้จัดการให้ดี ที่ไม่ให้ค้างคืนเพราะเราไม่ต้องการให้กิจกรรมรบกวนประชาชนที่อาศัยบริเวณนั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณางานต่องาน หลักการคือต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน สิ่งที่เกิดขึ้นคงต้องทบทวนกับฝ่ายความมั่นคงว่า จุดตรงนี้มีอะไรที่จะปรับปรุงหรือไม่ ในอนาคตคิดว่าพื้นที่นี้มีความเหมาะสมอีกหรือไม่ เป็นเรื่องที่ปรับเปลี่ยนได้ในอนาคต

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นักวิชาการ กระตุก 'ชัชชาติ' จะประกาศให้กรุงเทพเป็นเขตควบคุมมลพิษ ต้องคิดให้ดี

ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า

น้ำลายการเมืองแก้“ฝุ่นพิษ” โปรย“งบฯ”-ลนลานรักษาฐานเสียง

รัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า “ไร้น้ำยา” ในการวางแผนรับมือปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก ทั้งที่รู้ว่าสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นวัฏจักรรายปี ยิ่งในปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถคาดการณ์ล่วงหน้าเป็นรายสัปดาห์ จากการใช้ชุดข้อมูลเทคโนโลยีตรวจวัด สถิติต่างๆ มาประมวลเพื่อเตรียมการได้อยู่แล้ว

มหานครจมฝุ่นพิษ ฉุดรัฐบาลทรุด-ชัชชาติร่วง

สถานการณ์ฝุ่นพิษ PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน ปกคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ตลอดจนการดำเนินชีวิตประจำวันถึงตอนนี้ สถานการณ์ยังน่าเป็นห่วงอยู่ โดยเฉพาะเมืองหลวงประเทศไทย กรุงเทพมหานคร ที่อยู่ในสภาพ มหานครจมฝุ่นพิษ มาหลายวัน

'ชัชชาติ' แจงฝุ่น PM 2.5 เพิ่มสูงมาจาก 3 ปัจจัย ย้ำแก้ปัญหาต้องใช้เหตุผล ใช้ความรู้สึกไม่ได้

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร ติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ณ ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร สำนักสิ่งแวดล้อม เขตดินแดง