'อังคณา' ชำแหละมติครม.ออกพรก.เลื่อนการบังคับใช้พรบ.ป้องกันการอุ้มหาย

'อังคณา' กังวลครม.ออกพรก.เลื่อนการบังคับใช้พรบ.ป้องกันการอุ้มหาย ชี้เป็นการชะลอการบังคับใช้บทบัญญัติในมาตราที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหมด จี้รัฐบาลเร่งให้สัตยาบันอนุสัญญาการบังคับสูญหายขององการสหประชาชาติ

15ก.พ.2566- จากกรณี ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 เห็นชอบร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 พ.ศ. .... ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 เพื่อขยายกำหนดเวลาในการมีผลใช้บังคับเฉพาะมาตรา 22 มาตรา 23 มาตรา 24 และมาตรา 25 ออกไป ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2566 เป็นต้นไป (จากเดิมที่เริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566)

นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงเรื่องดังกล่าวมีเนื้อหาดังนี้

สิ่งหนึ่งที่ครอบครัวคนหายต้องเผชิญ คือ #การไม่ยอมรับจากรัฐว่าบุคคลนั้นถูกทำให้สูญหาย #ทำให้บรรดาผู้สูญหายอยู่ภายนอกการคุ้มครองของกฎหมาย #TortureEDAct

ในฐานะเหยื่อการบังคับสูญหาย และอดีตกรรมาธิการร่าง #พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 รู้สึกกังวลอย่างยิ่งต่อการที่คณะรัฐมนตรีมีมติออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อเลื่อนการบังคับใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ ในหมวด 3 มาตรา 22- 25 ออกไปโดยจะให้มีผลบังคับใช้ทั้งฉบับในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 เนื่องจาก สาระสำคัญของมาตรา 22 -25 ถือเป็นหัวใจสำคัญของการป้องกันการทรมานและการบังคับบุคคลสูญหาย เช่น การบันทึกการจับกุม ควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ การบันทึกภาพและเสียงขณะจับกุม การบันทึกข้อมูลของผู้ถูกจับกุม รวมถึงการให้ญาติ ผู้แทนหรือทนายความ หรือคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ มีสิทธิร้องขอต่อเจ้าหน้าที่ ของรัฐผู้รับผิดชอบให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว หากเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิเสธที่จะเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว ผู้ร้องขอมีสิทธิยื่นคําร้อง ต่อศาลที่ตนเองมีภูมิลําเนา ศาลอาญาหรือศาลจังหวัดแห่งท้องที่ที่เชื่อว่ามีการทรมาน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือพบเห็นผู้ถูกกระทำให้สูญหาย ครั้งสุดท้าย แล้วแต่กรณี เพื่อให้ศาลสั่งเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวได้ (มาตรา 24) .. สรุปง่ายๆ คือ ครม. มีมติชะลอการบังคับใช้บทบัญญัติในมาตราที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหมด
.
อย่างไรก็ดี แม้มาตรา 22-25 จะถูกชะลอการบังคับใช้ แต่ก็หวังว่าเจ้าหน้าที่จะเดินหน้าปฏิบัติตามมมาตราอื่น ๆ โดยเฉพาะมาตรา #มาตรา10 “ในคดีความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหายตามมาตรา ๗ ให้ดำเนินการ สืบสวนจนกว่าจะพบบุคคลซึ่งถูกกระทำให้สูญหายหรือปรากฏหลักฐานอันน่าเชื่อว่าบุคคลนั้น ถึงแก่ความตายและทราบรายละเอียดของการกระทำความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด” ... นั่นคือ #การสืบสวนกรณีผู้ถูกบังคับสูญหาย ในประเทศไทยทุกคน #จนกว่าจะทราบที่อยู่และชะตากรรม และ #รายละเอียดของการกระทำความผิด และ #รู้ตัวผู้กระทำความผิด
.
นอกจากนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังมีภาระผู้พันที่ต้องปฏิบัติตามมาตราอื่น เช่น มาตรา 1-4 รวมถึงในหมวดที่ 1 (บททั่วไป) คือมาตราที่เกี่ยวข้องกับ คำจำกัดความ /นิยามต่างๆ รวมถึง #หลักการไม่ผลักดันบุคคลสู่อันตราย (มาตรา 13) และหมวดที่ 2 เรื่อง #คณะกรรมการ โดยที่คณะกรรมการทั้งหมดตาม พรบ. ที่ปรับแก้โดย สว. คณะกรรมการมาจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจากการแต่งตั้งของคณะรัฐมนตรี รวมถึงผู้มีประสบการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน เป็นที่ประจักษ์ 2 คน ซึ่งน่าจะพอเดาออกว่าจะเป็นใคร .. ในส่วนคณะกรรมการ หวังว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมจะแต่งตั้งคณะกรรมการให้สอดคล้องกับ #ข้อห่วงใยของคณะกรรมการการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ ขององค์การสหประชาชาติ (#CEDAW) ที่มีคำถามเชิงประเด็น (List of Issues CEDAW Pre Session -LoIs) ถึงประเทศไทยในเรื่องคณะกรรมการตาม พรบ. ฉบับนี้ เกี่ยวกับการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิง ว่า

- “รัฐภาคี (ประเทศไทย) จะมีหลักประกันอย่างไรว่า #คณะกรรมการว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลสูญหาย #จะมีสัดส่วนที่เท่าเทียมทางเพศ และ #โปรดแจ้งแผนการปรับปรุง พรบ. ฉบับนี้ เกี่ยวกับ #การนิรโทษกรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำความผิด และ #การรับฟังพยานหลักฐานที่ได้จากการทรมาน เพราะ #ข้อยกเว้นนี้อาจสร้างความเสียหายต่อผู้หญิง” และ “รับประกันว่าผู้หญิงที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือผู้หญิงที่สามีถูกทำให้สูญหายสามารถเข้าถึงการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพและได้รับความยุติธรรม”

จากนี้รัฐบาลควรแสดงเจตจำนงทางการเมือง (political will) ในการคุ้มครองบุคคลจากการทรมานและการบังคับสูญหายตาม #กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ โดยรีบเร่งดำเนินการ #ให้สัตยาบันอนุสัญญาการบังคับสูญหายขององการสหประชาชาติ (#ICPPED) ตามที่ให้คำมั่นโดยสมัครใจต่อสภาคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน สหประชาชาติ (UPR) เพื่อให้คณะกรรมการสหประชาชาติ (CED) สามารถตรวจสอบสถานการณ์การบังคับสูญหายในประเทศไทย และให้การคุ้มครองเหยื่อและครอบครัวตามกฎหมายระหว่างประเทศต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อังคนา' เผยสหประชาชาติจี้ไทยรับผิดชอบการสูญหายของ 'ทนายสมชาย' เมื่อ20ปีก่อน

นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นักเคลื่อนไหวสตรี ภรรยาของนายสมชาย นีละไพจิตร นักกฎหมายและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนมุสลิมชาวไทยที่หายสาบสูญ โพสต์ข่าวสารจากเว็บไซต์ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ว่า

กสม. ชี้ผู้ต้องขังร้องเรียนถูกตร.ปปส.ทำร้ายร่างกายระหว่างจับกุมเป็นการละเมิดสิทธิฯ

กสม. ชี้ กรณีผู้ต้องขังร้องเรียนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบปรามยาเสพติดทำร้ายร่างกายระหว่างจับกุม เป็นการละเมิดสิทธิฯ เสนอให้สอบสวนและเยียวยาความเสียหาย

กสม.ชี้กรมอุทยานฯเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเขื่อนศรีนครินทร์ช้า เป็นละเมิดสิทธิฯ

กสม. ชี้กรมอุทยานฯช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนศรีนครินทร์ ช้าถึงห้าสิบปีเป็นการละเมิดสิทธิฯ เสนอ ครม. เร่งแก้ไข

'กสม.' เรียกร้องทุกฝ่าย แก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนใน 'ฉนวนกาซา' อย่างเร่งด่วน

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์ เกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในฉนวนกาซา ใจความว่า

กสม. ชี้ตรวจหาสารเสพติดในสถานประกอบกิจการแบบเหมารวม เป็นการละเมิดสิทธิฯ

กสม. ชี้ การตรวจหาสารเสพติดในสถานประกอบกิจการแบบเหมารวมหรือสุ่มตรวจ เป็นการละเมิดสิทธิฯ เสนอทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ไข