'ปิยบุตร' ลั่นสะสมชัยชนะแม้แพ้โหวตในสภา เดินสายอีสานปลุกแก้รธน.ต่อ

‘ปิยบุตร’ เดินสายอุดรธานี-สกลนคร ปลุกแนวร่วมแก้รัฐธรรมนูญต่อ ลั่นสะสมชัยชนะ แม้โดนสภาคว่ำร่าง ดี๊ด๊าจุดประเด็นสภาเดี่ยว ฟื้นอำนาจสถาปนาของประชาชน

26 พ.ย. 2564 – เพจเฟซบุ๊ก “คณะก้าวหน้า” โพสต์ข้อความว่า ท่ามกลางกระแสร้อนแรง หลังมติที่ประชุมรัฐสภาปัดตกร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม #รื้อระบอบประยุทธ์ ที่ประชาชนกว่าแสนคนร่วมกันเข้าชื่ออย่างไม่ใยดี ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า หนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญที่เสนอร่างฉบับนี้ เดินทางออกต่างจังหวัดพร้อมๆ กับที่ใครต่อใครต่างก็เข้ามาไถ่ถามว่าประชาชนจะเอาอย่างไรต่อ?

“สำหรับผม การเข้าสภาไปนั่งให้บรรดา ส.ว. ด่ากว่า 16 ชั่วโมง ไม่ถือว่าเป็นความพ่ายแพ้ แต่เป็นการสะสมชัยชนะ” ปิยบุตร บอกกับใครต่อใครในหลายๆ พื้นที่ที่มีโอกาสได้พบ

ขณะที่กิจกรรม #TalkWithPiyabutr ใน 2 พื้นที่ภาคอีสาน คือ “อุดรธานี” กับ “สกลนคร” เขาก็ถือโอกาสนี้เป็นเวทีทำความเข้าใจกับประชาชนที่มาร่วมพูดคุย โดยเฉพาะในประเด็นสำคัญอย่างเรื่อง “อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ” ว่าแท้จริงแล้วเป็นอย่างไร

ปิยบุตร เริ่มต้นด้วยการชวนคิดตั้งแต่รากศัพท์ของคำว่า “รัฐธรรมนูญ” ซึ่งคำไทยนี้คิดขึ้นโดย พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ หรือ “พระองค์วรรณ” หนึ่งในรัฐมนตรีคนสำคัญยุคคณะราษฎร โดยแปลมาจากภาษาอังกฤษ คือ Constitution ซึ่งมีรากคำมาจากคำว่า Institute ที่แปลว่าการก่อตั้ง + con ที่แปลว่าร่วมกัน ดังนั้น เมื่อดูรากคำศัพท์แล้วจึงแปลความได้ว่า รัฐธรรมนูญ คือ การก่อตั้งสถาปนาร่วมกัน

นี่คืออีกนัยยะหนึ่งที่เขาอยากชวนคิดว่า รัฐธรรมนูญเป็นการต่อสู้เรียกร้องร่วมกันของประชาชนที่ต้องการมีกฎกติกาขีดเส้นอำนาจผู้ปกครองให้ชัด และประกันสิทธิเสรีภาพประชาชน ผู้เป็นเจ้าของอำนาจสูงสุด

เมื่อมีคนมากมายมาอยู่ร่วมกัน และเรายืนยันว่าอำนาจเป็นของทุกคนที่มารวมอยู่เป็นหน่วยเดียวกันในชื่อ “ประชาชน” เราต้องการสถาปนารัฐธรรมนูญขึ้นมา โดยการกำเนิดของรัฐธรรมนูญนั้น ถ้าดูจากประวัติศาสตร์แล้ว ก็ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ หล่นลงมาจากฟากฟ้า หากแต่เป็นผลผลิตการต่อสู้ และเป็นผลลัพธ์จากการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ อาทิ รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรฉบับแรกของอเมริกา ก็มาจากการประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ, รัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ก็มาจากการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง

“การเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญในตะวันตกเป็นผลพวงจากที่ประชาชนสู้กับผู้ปกครอง เพื่อกำหนดว่าผู้ปกครองจะมาจากไหน มีการจำกัดผู้ปกครองอย่างไร และประกันสิทธิเสรีภาพประชาชนอย่างไร”

ปิยบุตร ชวนมาดูการกำเนิดรัฐธรรมนูญฝั่งตะวันออกบ้าง ประเทศในตะวันออกมีการปกครองรูปแบบตนเอง แต่ก็ถูกล่าอาณาณิคมตกเป็นเมืองขึ้น ดังนั้นสิ่งที่ประเทศตะวันออกหยิบมาต่อสู้คือการประกาศความเป็นศิวิไลซ์ ประกาศว่าตนเองไม่ใช่บ้านป่าเมืองเถื่อน แต่มีประเพณีดีงาม นี่เองที่ทำให้ผู้ปกครองเริ่มคิดทำรัฐธรรมนูญ อาทิ ญี่ปุ่นรับเอารัฐธรรมนูญปรัสเซียมาเป็นรัฐธรรมนูญเมจิ ขณะที่สยามในขณะนั้นก็มีเสียงเรียกร้องจากบรรดาเจ้านายต่างๆ เช่น กรณีของ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ที่ถวายคำกราบบังคมทูลเรียกร้องต่อรัชกาลที่ 5 จนถูกทำโทษ

มาจนกระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ 7 ทรงให้ที่ปรึกษาต่างประเทศร่างรัฐธรรมนูญมาฉบับหนึ่ง และให้ข้าราชการชั้นสูงร่างมาอีกฉบับหนึ่ง รวมแล้วเป็น 2 ฉบับ แต่ร่างทั้ง 2 นี้เขียนชัดว่า “อำนาจสูงสุดเป็นของพระมหากษัตริย์” ขณะที่ หัวหน้าฝ่ายบริหารสภาก็มาจากการเลือกของพระมหากษัตริย์

ปิยบุตร สรุปให้เห็นว่า ความพยายามที่จะมีรัฐธรรมนูญของตะวันตกนั้น เกิดจากการต่อสู้ของประชาชน ขณะที่ในตะวันออกเกิดจากชนชั้นบนมองว่าอยู่แบบเดิมไม่ได้ ต้องยืมความคิดแบบฝรั่งมาทำ โดยใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือของผู้ปกครอง เพื่อป้องกันการล่าอาณานิคม เพื่อศิวิไลซ์ แก้ปัญหาภายในของราชสำนัก แต่เนื้อหาสาระยังยืนยันว่าอำนาจเป็นของพระมหากษัตริย์เหมือนเดิม
.
อย่างไรก็ตาม จุดพลิกผันก็มาถึง เมื่อมีการปฏิรูประบบราชการในสมัยรัชกาลที่ 5 ทำให้เกิดรัฐราชการรวมศูนย์ รัฐมีขนาดใหญ่ขึ้น ไม่สามารถให้คนครอบครัวเดียวบริหารได้ เกิดระบบรัฐราชการขึ้นมา นี่เองที่ทำให้คนธรรมดาได้มีโอกาสเข้ามาร่วมด้วย โดยกลุ่มแรกๆ ที่มีโอกาสไปเรียนเมืองนอกก็เช่น ปรีดี พนมยงค์, แปลก ขีตะสังคะ เป็นต้น ซึ่งรัฐสยามเวลานั้นต้องการคนใหม่แต่อุดมการณ์เดิม แต่ทว่าเมื่อคนเหล่านี้ไปเรียนแล้ว กลับมาเห็นว่าเป็นแบบที่เป็นอยู่ไปไม่รอดแน่ๆ ประเทศไทยต้องมีการปกครองแบบใหม่

จึงเป็นที่มาของการ “อภิวัฒน์” เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยมีรัฐธรรมนูญฉบับแรก 27 มิ.ย. 2475 ยืนยันว่าอำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย

“สิ่งที่คณะราษฎรทำเวลานั้น ถูกโจมตีว่าเป็นเรื่องชิงสุกก่อนห่าม มีอีกฝ่ายตั้งคำถามว่าทำไปทำไมเพราะ ร.7 ตั้งใจพระราชทานรัฐธรรมนูญให้อยู่แล้ว แต่ทว่าเมื่อเราลองไปค้นดู กลับไม่ใช่ เพราะรัฐธรรมนูญที่ทรงให้ร่างขึ้นทั้ง 2 ฉบับนั้น เนื้อหาคนละเรื่องกับที่คณะราษฎรจัดทำขึ้นมา เพราะของ ร.7 ยืนยันว่าอำนาจสูงสุดเป็นของพระมหากษัตริย์ แต่ของคณะราษฎรยืนยันว่าอำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย ซึ่งนี่หมายความว่าคนละระบอบการปกครอง ดังนั้น ถ้าใครบอกว่าคณะราษฎรชิงสุกก่อนห่าม ไม่ใช่ เพราะวิธีคิดเรื่องรัฐธรรมนูญของทั้งสองฝ่าย ไม่เหมือนกัน” ปิยบุตร กล่าว

อย่างไรก็ตาม จากปี 2475 มาจนถึงวันนี้ 90 ปี ผ่านไป แต่เรายังต้องสู้เรื่อง “อำนาจสูงสุดเป็นของใคร” รัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย” คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญครั้งหนึ่งก็เคยยืนยัน “อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน” และต่อให้ไม่ต้องมาบอกเราก็ต้องยืนยันว่าอำนาจนี้ติดตัวมนุษย์ตั้งแต่กำเนิด อำนาจเป็นของทุกคนที่อาศัยอยู่ร่วมกัน ต้องมีส่วนกำหนดกฎกติการ่วมกันว่าจะอยู่กันอย่างไร

ปิยบุตร ตั้งคำถามว่า “เราพูดทุกเมื่อเชื่อวันว่า อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน แต่ในทางปฏิบัติ เราเคยได้สถาปนาหรือไม่ เคยได้ทำรัฐธรรมนูญเองหรือไม่?”

เลขาธิการคณะก้าวหน้า ก็ไล่ย้อนที่มารัฐธรรมนูญแต่ละฉบับจะพบว่าส่วนใหญ่แล้วมีที่มาจากการที่ทหารยึดอำนาจ แล้วร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา โดยที่ประชาชนแทบไม่มีส่วนร่วมเลย ที่ใกล้เคียงพอเป็นแบบอารยะชนหน่อยก็คือรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่แก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2534 เปิดทางตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร.

“ดังนั้นที่พูดว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุด จะเห็นว่าเราไม่เคยกำหนดรัฐธรรมนูญเลย คำนี้เป็นเพียงแหล่งที่เขาอ้างความชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น ที่ผ่านมา เขาเปิดโอกาสให้เรารวมพลังแสดงออกมามั้ยว่าอยากให้ประเทศไทยปกครองแบบไหน? อยากได้รัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร? ไม่เลย ประชาชนไม่มีโอกาสเลย เหตุการณ์ในการประชุมรัฐสภาเมื่อวันก่อนชัดเจน ประชาชนกว่าแสนคน เข้าชื่อเพื่อขอแก้ไข ซี่งก็ยังไม่ได้สถาปนารัฐธรรมนูญเต็มรูปแบบ เป็นแค่การแก้ตามกติกาที่เขากำหนด เดินตามตรอกออกตามประตู แต่กลับถูกปิดประตูใส่ ไม่เปิดทางให้ทำอะไรเลย สภาวการณ์แบบนี้อันตรายอย่างยิ่ง”

ประชาชนขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่กลับต้องขออนุญาตบรรดา ส.ว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน สถานการณ์ตอนนี้ ต่อให้มีเสียง ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมากเท่าไหร่ก็ตาม ก็ไม่สามารถแก้รัฐธรรมนูญได้ ถ้า ส.ว. ไม่อนุญาต และที่ผ่านมาแก้ไขได้แค่เพียงเรื่องระบบเลือกตั้ง ซึ่ง 2 พรรคการเมืองใหญ่ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลเห็นตรงกันว่าตนจะได้ประโยชน์ ขณะเดียวกัน ส.ว. ก็ไม่เสียประโยชน์ ไม่เสียอำนาจอะไรด้วย

“มีคนถามผมว่ารู้อยู่แล้วว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้จะไม่ผ่าน เพราะ ส.ว. ไม่ให้ผ่าน แล้วทำทำไม? ผมอยากชวนคิดว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ถ้าประชาชนอยากแก้ก็ต้องแก้ได้สิ จะต้องให้ไปกราบ ส.ว. อย่างนั้นเหรอถึงจะทำได้”

สำหรับเขาแล้ว แม้จะเป็นแพ้การโหวตในสภา แต่ทว่านี่เป็นการสะสมชัยชนะไปเรื่อยๆ มีชัยชนะ 2 ประการ คือ 1.ความคิดเรื่องสภาเดี่ยวถูกจุด คนเริ่มคิดแล้วว่าประเทศไทยไม่ต้องมีวุฒิสภาหรือ ส.ว. ก็ได้ เชื่อว่าหากมีการเสนอแก้รัฐธรรมนูญครั้งหน้า เรื่องนี้จะเป็นกระแสหลัก รวมถึงความคิดเรื่องศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆ ที่จะต้องถูกตรวจสอบถ่วงดุลย์ มีความเกี่ยวโยงกับประชาชนผ่าน ส.ส. หรืออาจไปถึงขั้นไม่ต้องมีก็ได้ เหล่านี้ก็ถูกจุดติดเช่นกัน

2.ความพยายามรื้อฟื้นอำนาจสถาปนาของประชาชน ซึ่งเราทดลองการแก้รัฐธรรมนูญโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม แต่ถูกสภาปัดตกถึงสองครั้งติดๆ กันแบบไม่แยแส นี่จะยิ่งทำให้สถานการณ์แหลมคมขึ้น สุกงอมมากขึ้น และยิ่งสร้างความชอบธรรมให้ประชาชนมากขึ้นว่า เมื่อแก้แบบนี้ไม่ได้ ประชาชนก็จะหาทางใช้อำนาจให้ได้ หาทางยืนยันว่า “อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน”.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ธนาธร' ชี้เลือก สว.รอบนี้คือ โอกาสแก้มือของคนเคยลงมติรับรัฐธรรมนูญ 60

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ร่วมกิจกรรมพบปะพูดคุยกับประชาชนที่สนใจลงสมัครรับการเลือกเป็น สว. ในการรณรงค์ สว.ประชาชนในจังหวัดภาคตะวันออก โดยในช่วงเช้าได้ร่วมการบรรยายที่คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์

คณะก้าวหน้า เชื่อสัญญาณจากผู้มีบารมี  กกต.ประกาศเตือนรณรงค์สมัคร สว.   

กรณี สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ออกประกาศเตือน กรณีมีกลุ่มบุคคลและตัวแทนองค์กรจัดแคมเปญ ให้มีการจูงใจ

พรรคร่วมรัฐบาลเคาะ 'ทำประชามติ' 3 รอบ เข้า ครม. อังคารนี้

'ภูมิธรรม' คอนเฟิร์มทำประชามติ 3 ครั้ง เพื่อความปลอดภัย ชง ครม. อังคารนี้ คาดทำรอบแรกเดือน ส.ค. ซัดกลุ่มจ้องเคลื่อนไหวห้ามปชช.ใช้สิทธิ์ ปัดหารือหัวหน้าพรรคร่วมเรื่องนิรโทษกรรม