จบภารกิจเยือนไทย 'เลขาธิการแอมเนสตี้' กังวลคนรุ่นใหม่มองไม่เห็นอนาคตในประเทศตัวเอง

เมื่อถามความเห็นเกี่ยวกับอนาคตของตนเองในประเทศนี้ พวกเขากลับตอบว่า มองไม่เห็นอนาคตของตนเอง ทำให้เรากังวลอย่างมาก และคิดว่าควรเป็นข้อกังวลที่สำคัญของผู้นำในประเทศไทยเช่นกัน

25 เม.ย.2566- หลังจากได้นำเสนอประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนจำนวนมาก ในระหว่างการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า การเดินทางมาเยือนประเทศไทยของดิฉัน เกิดขึ้นในช่วงที่กำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นโอกาสสำหรับรัฐบาลชุดใหม่ที่จะพัฒนาสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ดิฉันประทับใจที่มีผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองหลัก ๆ หลายพรรค ได้เข้าร่วมในเวทีวาระสิทธิมนุษยชนกับการเลือกตั้ง โดยร่วมดีเบตในหัวข้อ “วาทะผู้นำ วาระสิทธิมุษยชน” ซึ่งจัดขึ้นโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และองค์กรภาคประชาสังคม เมื่อวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นก้าวย่างที่สำคัญสำหรับผู้นำทางการเมือง และหวังว่าจะช่วยให้เกิดการทบทวนถึงพันธกิจร่วมกันเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

“ในการมาเยือนประเทศไทย เราได้เข้าพบและประชุมกับหน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคประชาสังคม และผู้รอดชีวิตจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ ยังได้ประชุมกับเพื่อนร่วมงานที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และสำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก ทำให้ได้เห็นการทำงานที่น่าเหลือเชื่อของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมรุ่นใหม่ผู้กล้าหาญ และรู้สึกได้รับแรงบันดาลใจจากการยืนหยัดและความมุ่งมั่นของพวกเขาในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและความเท่าเทียมเป็นอย่างมาก

“สิ่งสำคัญในการเดินทางมาครั้งนี้คือการได้พบกับเด็กและเยาวชนที่มีส่วนร่วมในการชุมนุมประท้วง พวกเขาเชื่อมั่นในประเทศไทย และต้องการสร้างประเทศที่แข็งแรงและเป็นธรรม แต่เมื่อถามความเห็นเกี่ยวกับอนาคตของตนเองในประเทศนี้ พวกเขากลับตอบว่า มองไม่เห็นอนาคตของตนเอง ทำให้เรากังวลอย่างมาก และคิดว่าควรเป็นข้อกังวลที่สำคัญของผู้นำในประเทศไทยเช่นกัน เด็กและเยาวชนจำนวนมากรู้สึกเช่นนี้ เพราะพวกเขาถูกปราบปราม ทั้งยังมีความไม่เท่าเทียม การทุจริต และความอยุติธรรม พวกเขาจึงมองไม่เห็นอนาคตของตนเองที่นี่ ดังนั้นสถานการณ์เช่นนี้จะต้องถูกเปลี่ยนแปลง

“เด็กและเยาวชนหลายร้อยคน รวมทั้งนักกิจกรรมทางการเมืองและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ถูกดำเนินคดีอาญาในประเทศไทย เพียงเพราะการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ เสรีภาพของหลายคนถูกพรากไป และอาจมีประวัติอาชญากรติดตัว รวมถึงเด็กวัย 15 ปี ซึ่งถูกควบคุมตัวในสถานพินิจเด็กและเยาวชนเป็นเวลาหลายสัปดาห์แล้ว”

“เด็กและเยาวชนมีบทบาทสำคัญต่อสังคม เราได้ให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทยในการยุติการข่มขู่เด็กผู้ชุมนุมประท้วง และยุติการสอดแนมข้อมูลของพวกเขา รวมถึงต้องยุติการดำเนินคดีต่อเด็กผู้ชุมนุมประท้วงโดยสงบ และให้แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายและนโยบาย ซึ่งเป็นอุปสรรคที่ทำให้เด็กไม่สามารถเข้าถึงสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบได้อย่างเต็มที่

“เรายังได้แสดงข้อกังวลด้านสิทธิมนุษยชนอีกหลายประการระหว่างการเดินทางมาครั้งนี้ รวมทั้งการที่เจ้าหน้าที่ใช้กำลังเกินกว่าเหตุระหว่างการชุมนุมประท้วง และการควบคุมตัวผู้ชุมนุมประท้วงและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยพลการ เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลไทยประกาศใช้กฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย แต่ก็น่าเสียใจที่มีมติให้ชะลอการบังคับใช้กฎหมายนี้ไปจนถึงเดือนตุลาคม เราไม่อาจอ้างปัญหาทางเทคนิคเพื่อชะลอการดำเนินงานตามพันธกิจเช่นนี้ได้ กฎหมายต้องถูกบังคับใช้โดยไม่ล่าช้า เรายังได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ของผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย และผู้ขอลี้ภัย โดยเฉพาะผู้ที่มาจากประเทศเมียนมา

“พลเมืองชาวเมียนมาซึ่งหลบหนีข้ามพรมแดน ต้องใช้ชีวิตด้วยความหวาดกลัวว่าจะถูกส่งกลับหรือถูกลักพาตัว หลายคนหลบหนีจากบ้านเกิดของตนเองภายหลังการทำรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เพื่อให้ตัวเองปลอดภัยจากการถูกปราบปรามอย่างรุนแรงต่อผู้ชุมนุมประท้วงโดยกองทัพเมียนมา ทางการไทยต้องปฏิบัติตามหลักการไม่ส่งกลับ และต้องไม่ส่งกลับพลเมืองชาวเมียนมาไปยังประเทศใด หากมีความเสี่ยงว่าพวกเขาอาจถูกควบคุมตัวโดยพลการ ถูกทรมาน หรืออาจได้รับโทษประหารชีวิตตามคำสั่งของกองทัพเมียนมา

“ประเทศไทยมีประวัติมายาวนานในการรองรับ และให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกับผู้ลี้ภัยในภูมิภาค และต้องทำเช่นนั้นต่อไป เราขอเรียกร้องให้ทางการไทยประกาศพันธกิจที่จะให้การสนับสนุนที่จำเป็นอย่างยิ่ง ต่อบุคคลที่หลบหนีจากการปราบปรามทั่วทั้งภูมิภาค รวมทั้งที่มาจากเมียนมา เวียดนาม กัมพูชา และลาว ประเทศไทยสามารถและควรเป็นต้นแบบของผู้นำด้านสิทธิมนุษยชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภูมิภาคอื่น

“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลขอขอบคุณกระทรวงยุติธรรม กระทรวงการต่างประเทศ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ยินดีพูดคุยในประเด็นสิทธิมนุษยชนที่สำคัญร่วมกับเราในระหว่างการเดินทางมาครั้งนี้ และต้องขอบคุณภาคประชาสังคม เด็กและเยาวชนผู้ชุมนุมประท้วงในประเทศไทย รวมทั้งองค์การสหประชาชาติและตัวแทนสถานทูต ซึ่งสละเวลามาพบกับเรา และขอขอบคุณทีมงานผู้ทุ่มเทและทำงานอย่างหนักจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และสำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก

“แม้ดิฉันได้เดินทางออกจากประเทศไทยแล้ว แต่พันธกิจที่มีต่อสิทธิมนุษยชนของเรายังอยู่ในประเทศนี้ และอยู่ในภูมิภาคนี้อย่างเข้มแข็ง เราต้องทำงานร่วมกันเพื่อสร้างโลกซึ่งให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนเป็นลำดับแรก ไม่ใช่เป็นเพียงประเด็นรองอีกต่อไป”

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ภูมิธรรม' เย้ย 'ก้าวไกล' อย่ากลัว 'ทักษิณ' อบรมเลิกวาทกรรมจิกกัด

'ภูมิธรรม' สวด 'ก้าวไกล' เลิกวาทกรรมจิกกัด ปั๊มตราคนอื่น ผิดหวังคนรุ่นใหม่เล่นการเมืองแบบเก่า ย้ำอย่ากลัว 'ทักษิณ' ปัดรับมือซักฟอก เหตุยังไม่ได้ใช้งบ

'เดวิด แคเมอรอน' เข้าพบ 'เศรษฐา' 20 มี.ค. กระชับความร่วมมือทุกมิติ

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของ ลอร์ดแคเมอรอนแห่งชิปปิงนอร์ตัน

'ดร.อานนท์' เผยสิ่งที่คนรุ่นใหม่สีส้มสามกีบบางคนอาจจะคิดไม่ถึง

ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล สาขาวิชาสถิติศาสตร์สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารค

ดร.เสรี เผยบทสนทนา 'รุ่นน้อง-นักศึกษาฝึกงาน' ทำไมเลือกพรรคส้ม

ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสาร โพสต์เฟซบุ๊กว่า เมื่อวานไปพบรุ่นน้องที่มีจุดยืนทางการเมืองตรงกันที่สถานราชการ

ถาม ’ตะวัน’ เคยสงสัยหรือไม่ สามนิ้ววัยกลางคน สู้เพื่อคนรุ่นใหม่หรือหลอกใช้เด็ก

น้องตะวันเคยตั้งคำถามกับตัวเองบ้างไหม? ทำไมสามนิ้วคนรุ่นใหม่ถึงต้องออกมาเคลื่อนไหวในลักษณะที่ล่อแหลมสุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎหมาย