เปิดเบื้องลึก! กว่าจะได้นั่งเก้าอี้ 'อธิการ มธ.'

26 ก.พ. 2567 – รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่ในระหว่างการสรรหาอธิการบดีคนใหม่ และเพิ่งรู้ผลการเสนอชื่อของส่วนงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัยไปเมื่อไม่กี่วันมานี้

ระบบและวิธีการสรรหาอธิการบดีของมหาวิทยาลัยของรัฐแต่ละมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน แม้ในรายละเอียดจะแตกต่างกัน แต่โดยหลักจะต้องมีการเสนอชื่อ หรือหยั่งเสียงจากประชาคมอันประกอบด้วยบุคลากร 3 สายคือ สายอาจารย์ สายเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยหรือเรียกว่าสายสนับสนุนวิชาการ และสายนักศึกษา และสุดท้ายจะต้องไปจบที่การลงมติโดยสภามหาวิทยาลัยทั้งสิ้น

สำหรับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในยุคแรกๆ ของระบบการสรรหา จะมีการเสนอชื่อและหยั่งเสียงโดยประชาคมธรรมศาสตร์ จากนั้นนำเข้าสู่สภามหาวิทยาลัยเพื่อลงมติ ผลการลงมติของสภามหาวิทยาลัยถือเป็นเด็ดขาด

การหยั่งเสียงก็คือการให้ประชาคมหย่อนบัตรลงคะแนนนั่นเอง แต่แตกต่างจากการเลือกตั้งตรงที่ผลการลงคะแนนยังไม่เป็นที่สิ้นสุด เพราะสุดท้ายจะต้องนำผลการหยั่งเสียงของแคนดิเดตแต่ละคนเสนอเข้าสภามหาวิทยาลัยเพื่อลงมติว่าจะเลือกแคนดิเดตคนใดเป็นอธิการบดี

แม้การหยั่งเสียงจะไม่ใช่การเลือกตั้ง แต่ผู้ที่หย่อนบัตรลงคะแนนหยั่งเสียงกลับมีความรู้สึก (mind set) ว่าเป็นเสมือนการเลือกตั้ง เมื่อใดที่สภามหาวิทยาลัยลงมติขัดกับผลการหยั่งเสียง ก็จะเกิดความไม่พอใจ กระทั่งเกิดความวุ่นวายตามมา ดังนั้นกรรมการสภามหาวิทยาลัยก็มักจะฟังเสียงการลงคะแนนหยั่งเสียง และมักจะให้น้ำหนักผลการหยั่งเสียงของกลุ่มอาจารย์มากที่สุด รองลงมาคือสายสนับสนุนผล และสายนักศึกษา ตามลำดับ

เมื่อผลการหยั่งเสียงมีน้ำหนักและมีความหมายต่อการลงมติของสภามหวิทยาลัย ก็จำเป็นที่ผู้ที่เสนอตัวหรือต้องการเป็นแคนดิเดตอธิการบดี หากจะให้ได้ตำแหน่งก็จะต้องสร้างคะแนนนิยม วิธีการสร้างคะแนนนิยมหรือควรจะเรียกว่าวิธีหาเสียง ก็ไม่แตกต่างจากการเมืองในระดับประเทศมากนัก เพียงแต่การเมืองระดับมหาวิทยาลัยยังไม่มีปรากฏชัดเจนว่ามีการซื้อเสียงด้วยเงิน แต่การสร้างพรรคพวกให้เป็นหัวคะแนนเพื่อให้ชักชวนคนมาลงคะแนนให้ เมื่อได้คะแนนมากพอที่จะได้รับการเสนอชื่อเข้าสภามหวิทยาลัย และยังอาจต้องมีการล็อบบี้กรรมการสภามหาวิทยาลัยให้โหวตให้อีกด้วย

เมื่อได้เป็นอธิการบดีแลัว ก็ยังต้องตอบแทนพรรคพวกที่ช่วยสนับสนุนด้วยการให้ตำแหน่งต่างๆ เช่น รองอธิการบดี และผู้ช่วยอธิการบดี เหล่านี้เป็นเรื่องที่แคนดิเดตส่วนใหญ่กระทำ คนที่ไม่กระทำก็ยากที่จะฝ่าฟันไปถึงตำแหน่งอธิการบดีได้ ยกเว้นผู้ที่มีบารมีและเป็นที่ยอมรับของทุกคนจริงๆ ซึ่งก็มีน้อยกว่าน้อยในระยะหลัง ดูแล้วก็แทบไม่ต่างจากการเมืองในระดับประเทศเท่าใดนัก

เมื่อต้องมีการหาพรรคพวกเพื่อสนับสนุนเพื่อไปสู่ตำแหน่งอธิการบดี แคนดิเดตแต่ละคนก็ต้องแสวงหาผู้ที่อยู่ในหน่วยงานหรือส่วนงานต่างๆ ในมหาวิทยาลัยมาเป็นพวก ทำให้เกิดการแตกแยก แบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันในมหาวิทยาลัย พวกที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามหากคนของตัวไม่ได้เป็นอธิการบดี ก็จะทำตัวเป็นฝ่ายค้านและไม่ค่อยจะเต็มใจช่วยงานมหาวิทยาลัย เพียงทำงานสอนและงานวิจัยให้ครบตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้เท่านั้นพอ

เมื่อระบบการสรรหาทำให้เกิดแตกแยกแบ่งพรรคแบ่งพวกเช่นนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงพยายามเปลี่ยนแปลงระบบการสรรหาเสียใหม่ เพื่อให้ทั้งประชาคมธรรมศาสตร์เข้าใจตรงกันว่า การสรรหาไม่ใช่การเลือกตั้ง อำนาจเด็ดขาดต้องเป็นของสภามหาวิทยาลัย ไม่ใช่เป็นของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือสายใดสายหนึ่ง จึงได้เปลี่ยนแปลงการหยั่งเสียงมาเป็นการเสนอชื่อโดยบุคลากรของแต่ละส่วนงานภายในมหาวิทยาลัย และนักศึกษา ซึ่งข้อบังคับว่าด้วยการสรรหาอธิการบดี มีสาระสำคัญดังนี้

1.มีคณะกรรมการสรรหา ประกอบด้วย กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ (หมายถึงกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่เป็นคนภายนอก) คนหนึ่งเป็นกรรมการ และอีก 2 คนเป็นกรรมการ กรรมการคนอื่นๆ มีนายกสมาคมธรรมศาสตร์ ประธานสภาอาจารย์ ประธานสภาพนักงาน นายกองค์การนักศึกษา ตัวแทนคณบดี 2 คน ผู้อำนวยการสำนัก และสถาบัน 1 คน เลือกโดยที่ประชุมคณบดี ตัวแทนอาจารย์ที่เป็นพนักงานมหาวิทยาลัย 1 คน และที่เป็นข้าราชการ 1 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง

2.กรรมการสรรหาจัดให้มีการประกาศรับสมัครบุคคลเข้ารับการสรรหา และกำหนดให้ส่วนงานจัดให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ และนักศึกษาเสนอชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งอธิการบดี

3.กรรมการสรรหาดำเนินการกลั่นกรองและทาบทามผู้ได้รับการเสนอชื่อไม่เกิน 5 คน และทำการคัดเลือกผู้สมัครเข้ารับการสรรหา

4.ให้ผู้ตอบรับการสรรหาจัดทำแนวทางการบริหารมหาวิทยาลัยเพื่อเผยแพร่ และให้แถลงต่อกรรมการสรรหา โดยเปิดให้คนในประชาคมเข้ารับฟังด้วย

5.กรรมการสรรหาพิจารณาคัดเลือกผู้เหมาะสมเป็นอธิการบดีเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยไม่เกิน 2 ชื่อ และหากจะเสนอชื่อเดียว กรรมการสรรหาต้องมีมติเป็นเอกฉันท์

6.กรรมการสภาพิจารณาและลงมติให้แคนดิเดตคนใดคนหนึ่งเป็นอธิการบดี

แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการสรรหาเพื่อลดความขัดแย้งแตกแยก และแม้ไม่มีการหยั่งเสียงแล้ว แต่ตราบใดที่ต้องให้มีการเสนอชื่อโดยผู้ปฏิบัติงานในส่วนงานต่างๆในมหาวิทยาลัย ผู้ที่ประสงค์จะเป็นแคนดิเดตอธิการบดีก็ยังต้องพยายามสร้างคะแนนนิยมเพื่อให้ตัวเองได้รับการเสนอชื่ออยู่ดี ในข้อบังคับเปิดโอกาสให้สามารถสมัครเข้ารับการสรรหาได้โดยไม่ต้องมีใครเสนอชื่อได้ แต่ตลอดมายังไม่เคยมีผู้สมัครคนใดได้รับการพิจารณาจากกรรมการสรรหาเสนอชื่อเข้าสู่สภาเลยแม้แต่คนเดียว

สิ่งที่ผู้ที่ต้องการเป็นแคนดิเดตเกือบทุกคนต้องทำตั้งแต่ไหนแต่ไร จากระบบการสรรหาแบบเดิมมาจนถึงระบบปัจจุบันก็คือ พยายามสนับสนุนคนของตัวให้เข้าไปเป็นกรรมการสรรหา โดยอาศัยช่องทางที่ตำแหน่งกรรมการสรรหาที่ไม่เป็นโดยตำแหน่งแต่มาจากการเลือกตั้งกันเอง เช่น ตัวแทนคณบดี ตัวแทนผู้อำนวยการสำนักและสถาบัน ตัวแทนอาจารย์ ตัวแทนเจ้าหน้าที่

จะเห็นว่า จะได้เป็นอธิการบดี จะต้องมีพรรคพวก จะต้องวางแผนกันขนาดไหน ต้องลงทุนลงแรงกันขนาดไหน การจะได้เป็นอธิการบดีเพราะตัวเองเป็นคนดี มีความสามารถสูงเหมาะสมเพียงอย่างเดียวโดยไม่ต้องทำอะไรมาก เป็นเรื่องเพ้อฝันกระทั่งเป็นไปไม่ได้

การสรรหาอธิการบดีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ล่าสุดก็ไม่มีข้อยกเว้น ยังคงลงทุนลงแรง ต้องต่อสู้กันทุกวิถึทาง เพื่อให้ได้รับการเสนอชื่อ และผ่านการพิจารณาของกรรมการสรรหา และได้รับการเสนอชื่อเข้าสู่สภา และยังอาจต้องล็อบบี้กรรมการสภาเพื่อให้โหวตให้ตัวเองอีกด้วย

ขณะนี้การเสนอชื่อโดยส่วนงานเสร็จสิ้นแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการกลั่นกรองและทาบทามของกรรมการสรรหา เพื่อให้เหลือแคนดิเดตไม่เกิน 5 คน จากนั้นแคนดิเดตจะต้องจัดทำแนวทางการบริหารมหาวิทยาลัย ซึ่งกรรมการสรรหาจะต้องกลั่นกรองและคัดเลือกเพื่อเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยไม่เกิน 2 ชื่อ ต่อไป

เรามาคอยติดตามกันต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

มช. ติดอันดับโลกเพิ่มขึ้นอีก 3 สาขาวิชา รวมเป็น 13 สาขาวิชา มากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของประเทศ

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ติดอันดับโลกในสาขาวิชาเฉพาะ (Narrow Subjects) จำนวน 13 สาขาวิชา จาก 55 สาขาวิชา และสาขาวิชาหลัก (Broad Subjects) ทั้ง 5 สาขาวิชา มากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของประเทศ จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกรายสาขาวิชา ประจำปี 2024 โดย QS World University Rankings

มธ.จัดงาน 'วันสัญญา ธรรมศักดิ์' เปิดวงเสวนายกเคส ชั้น 14 สะเทือนกระบวนการยุติธรรม

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัด “งานวันสัญญา ธรรมศักดิ์ ประจำปี 2567” มอบรางวัลนักศึกษากฎหมาย-เรียนดี สืบสานปณิธานปูชนียบุคคลด้านนิติศาสตร์ พร้อมจัดวงเสวนา “กระบวนการยุติธรรม ขั้นตอนบังคับคดีอาญา” ยกเคสตัวอย่าง “คดีชั้น 14 รพ.ตำรวจ” บนขั้นตอนที่ผิดเพี้ยน สั่นคลอนความเชื่อมั่นต่อระบบยุติธรรม-กฎหมายไทย

อดีตรองอธิการบดี มธ. หนุนสร้างภาพยนต์ animation 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ ภาค2

คณะผู้สร้างภาพยนต์ animation 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ คงไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ที่จะต้องสร้างภาพยนต์ภาค 2 ต่อจากนี้ เพราะครั้งนี้จะมีคนเสนอตัวสนับสนุนช่วยเหลือมากมาย

นักวิชาการ ยกเคส 'Taylor Swift' จี้รัฐบาลใช้สมองขจัดจุดอ่อนการท่องเที่ยว ให้ยั่งยืน

'อ.หริรักษ์' ยกรณีสิงคโปร์ใช้เงินจัดคอนเสิร์ต Taylor Swift แนะรัฐบาลแข่งขันด้วยจุดแข็งของประเทศเราขจัดจุดอ่อนที่ยังมีอยู่ให้หมดไปพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนระยะยาว เลิกคิดเรื่อง digital wallet อย่าใช้สมองคิดหาทางนำ ยิ่งลักษณ์ กลับบ้านแบบ ทักษิณ