อดีตรองอธิการบดี มธ. หนุนสร้างภาพยนต์ animation 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ ภาค2

24 มี.ค.2567-รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า “ทายาทปรีดีโต้หนัง 2475 เปรียบตัวเองฝ่ายธรรมะ ถูกฝ่ายอธรรมโจมตีอภิวัฒน์สยาม“ ข้อความด้านบนเป็นการพาดหัวข่าวของสำนักข่าวออนไลน์สำนักหนึ่ง และในเนื้อข่าวส่วนหนึ่งมีข้อความว่า “ รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา มีการส่งต่อจดหมายที่ระบุว่า น.ส.สุดา พนมยงค์ และนางดุษฎี พนมยงค์ บุญทัศนกุล ทายาทหลงประดิษฐ์มนูธรรม หรือนายปรีดี พนมยงค์ โพสต์จดหมายระบุว่า ข้อคิดเห็นบางประการเรื่องที่ฝ่ายอธรรมปลุกกระแส โดยสร้างและเผยแพร่ภาพยนต์ 2475 อยู่ในขณะนี้…”

เนื้อความของจดหมายฉบับนี้ คงได้เห็นหรือได้ฟังกันทั่วไปแล้ว สำนักข่าวส่วนใหญ่ก็จะเสนอข่าวในลักษณะนี้ ทำให้คนเข้าใจว่า ทายาททั้งสองของอ.ปรีดีเป็นผู้โพสต์เผยแพร่ ทั้งยังไม่ต้องพูดถึงว่า จดหมายฉบับนี้เป็นของทายาทอ.ปรีดีจริงหรือไม่ เพราะแม้แต่คุณวิวัธน์ จิโรจน์กุล ผู้สร้างและผู้กำกับภาพยนต์เรื่องนี้ยังได้กล่าวในรายการของแนวหน้าออนไลน์ว่า ยังไม่อยากเชื่อว่าจะเป็นจดหมายของทายาทอ.ปรีดีจริงๆ เพราะในเพจของสถาบันปรีดีฯก็ไม่มีการโพสต์อะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย

อย่างไรก็ตาม หากสนใจติดตามเรื่องนี้สักหน่อยก็จะพบว่า จดหมายฉบับนี้คุณพิภพ ธงไชยเป็นผู้โพสต์บนเพจของตัวท่านเอง ก็ไม่ทราบว่าท่านมีจุดมุ่งหมายอะไร และได้รับจดหมายฉบับนี้มาอย่างไร แต่จนบัดนี้ ก็ยังไม่มีใครออกมาปฏิเสธว่าจดหมายฉบับนี้ไม่ใช่จดหมายของทายาทของอ.ปรีดีจริงๆ ก็น่าจะอนุมานได้ว่าน่าจะเป็นจดหมายจริง เพียงแต่เป็นจดหมายที่ส่งให้กันภายในสถาบันปรีดีฯไม่ได้ต้องการเผยแพร่สู่สาธาณะแต่อย่างใด

จะอย่างไรก็ตาม ก็ต้องยอมรับว่า ภาพยนต์ animation 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ เป็นภาพยนต์ที่นำเสนอมุมมองที่คนส่วนใหญ่ไม่เคยรับรู้ และไม่มีอยู่ในบทเรียนที่เรียนกันในโรงแรียนต่างๆ แม้มุมมองนี้จะมีผู้นำเสนอในรูปแบบต่างๆหลายรูปแบบ เช่นรูปแบบวีดิโอสารคดีและหนังสือ แต่คนที่ได้ดูได้เห็นก็มีเฉพาะผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์การเมืองไทยเท่านั้น ภาพยนต์เรื่องนี้ได้ทราบว่า ไม่ได้ต้องการจะฉายในโรงภาพยนต์ ต้องการเผยแพร่ใน social media เท่านั้น แต่จะด้วยการตั้งใจหรือไม่ก็ตาม การเปิดฉายรอบปฐมทัศน์ที่โรงภาพยนต์เซ็นจูรี่เพียงรอบเดียว และเชิญบรรดาผู้มีชื่อเสียง และ influencers มาชม หลังจากได้ชมแล้ว ก็ออกมาวิจารณ์ในเชิงบวกกันเป็นส่วนใหญ่ จึงเป็นข่าวที่สื่อต่างๆทั้ง 2 ฝั่งนำเสนอกันแทบทุกสำนัก มีทั้งบวกและลบแตกต่างกันไป แต่ก็ทำให้ภาพยนต์ 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ โด่งดังเป็นพลุ ได้รับการสนใจในวงกว้างมากกว่าภาพยนต์สารคดีอื่นๆ และเป็นที่กล่าวขวัญถึงในทุกวงการอยู่ในขณะนี้

เนื้อหาของภาพยนต์ 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ อาจกล่าวได้ว่า ไม่มีส่วนใดที่เป็นข้อมูลที่เป็นเท็จ แต่ก็ต้องยอมรับว่า ภาพยนต์เรื่องนี้ทำให้บทบาทของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรืออ.ปรีดี พนมยงค์ บุคคลสำคัญฝ่ายพลเรือนของคณะราษฎรดูด้อยลง กระทั่งออกไปในทางลบ ซึ่งขัดกับความรู้สึกของทายาท และผู้ที่ให้ความเคารพเชิดชูอ.ปรีดี เช่น ศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จำนวนมาก ทั้งยังนำเสนอไปในทำนองว่า การยึดอำนาจเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร เป็นความผิดพลาด  จึงเป็นการยากเกินกว่าที่บุคคลกลุ่มนี้จะยอมรับได้

สำหรับผมเอง ที่เคยเรียนตั้งแต่เด็กก็รู้เพียงว่า เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร ในปี 2475 จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานรัฐธรรมนูญให้ โดยไม่มีการเสียเลือดเนื้อ นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทยชื่อ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ภายหลังพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงรับการรักษาพระเนตรที่ประเทศอังกฤษ และทรงสละราชสมบัติในเวลาต่อมา

เรารู้เพียงเท่านี้ เรื่องที่พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว มารู้เอาเมื่อเรียนอยู่ต่างประเทศจากนักศึกษาไทยรุ่นพี่ที่กำลังเรียนปริญญาโทอยู่ที่มหาวิทยาลัยเดียวกันเป็นผู้เล่าให้ฟัง รวมทั้งเรื่องเค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ หรือสมุดปกเหลิอง อันล้ำสมัย ของอ.ปรีดี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไม่เห็นด้วย เนื่องจากทรงเห็นว่าเหมือนของรัสเซีย และสมุดปกเหลืองนี้ ก็เป็นสาเหตุหลักของความแตกแยกขัดแย้งระหว่างแกนนำในคณะราษฎรเอง

ต่อมาเมื่อเรียนจบกลับมาเป็นอาจารย์แล้ว แม้จะสอนวิชาที่เกี่ยวกับบริหารธุรกิจ แต่ก็มีความสนใจและได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยไม่น้อย จึงได้รู้เรื่องต่างฯที่ไม่เคยรู้มาก่อน เช่นการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีส่วนร่วม และพระราชทานข้อคิดเห็นอย่างสำคัญ แสดงว่าพระองค์มีความสนพระทัยเรื่องการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และก็ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญให้ในวันที่ 10 ธันวาคม 2475

สิ่งที่ได้เรียนรู้ที่ไม่เคยรู้มาก่อนยังมีอีกมากมาย เช่น มีการทำรัฐประหารครั้งแรกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่เรียกว่า “รัฐประหารเงียบ”โดยพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาซึ่งเป็นแกนนำฝ่ายทหารของคณะราษฎร ในวันที่ 20 มิถุนายน 2476 บังคับให้พระยามโนปกรณ์ฯลาออก และพันเอก พระยาพหลฯก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของประเทศไทย และพระยามโนปกรณ์ฯ นายกรัฐมนตรีคนแรกต้องลี้ภัยออกไปอยู่ปีนัง และไม่ได้กลับประเทศไทยได้อีกเลยจนถึงแก่อนิจกรรม และนั่นไม่ใช่การทำรัฐประหารครั้งแรก แสดงให้เห็นว่ามีการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างคณะราษฎรด้วยกัน แทบไม่แตกต่างกับการชิงอำนาจกันในยุคปัจจุบัน

นอกจากนี้ยังได้รู้ว่า หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็มีเจ้านายชั้นสูงหลายพระองค์ต้องเสด็จลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ เช่น สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระนครสวรรค์วรพินิจ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นต้น และได้เรียนรู้ถึงสาเหตุที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ ซึ่งทรงตัดสินพระทัยในช่วงเวลาที่ประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นสาระสำคัญที่ภาพยนต์เรื่อง 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติพยายามจะสื่อให้คนที่ยังไม่รู้ได้รับรู้ถึงความขมขื่นและการเสียสละของพระองค์

 หากใครต้องการจะเรียนรู้เกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 เพิ่มเติม ขอแนะนำให้ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์พระปกเกล้าที่ถนนหลานหลวง ยิ่งถ้าใครไม่เชื่อว่าพระองค์ได้ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญไว้แล้วก่อนการยึดอำนาจ ก็จะสามารถหาหลักฐานได้ที่นี่ โดยเฉพาะฉบับที่ให้พระยาศรีวิศาลวาจาและนาย Raymon B. Stevens ซึ่งเป็นชาวอเมริกันเป็นผู้ร่าง

แม้ผมจะไม่ใช่ศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ แต่การได้ทำงานในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นเวลาถึง 34 ปี ย่อมต้องได้ยินได้ฟัง และซึมซับเรื่องราวเกี่ยวกับหลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรืออ.ปรีดีพนมยงค์มาไม่น้อย ผมจึงเชื่อว่า การตัดสินใจก่อการของท่าน เป็นการตัดสินใจด้วยความปรารถนาที่จะทำให้ประเทศดีขึ้นจริงๆ แต่ผมคงไม่สามารถจะบอกได้ว่า หากไม่มีการยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 และรอให้ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญลงมา ประเทศไทยในปัจจุบันจะดีกว่านี้หรือไม่ ซึ่งตามบันทีกของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีระบุว่า อ.ปรีดีเองก็ทราบว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญเตรียมไว้แล้ว

คาดว่าคณะผู้สร้างภาพยนต์ animation 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ คงไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ที่จะต้องสร้างภาพยนต์ภาค 2 ต่อจากนี้ เพราะครั้งนี้จะมีคนเสนอตัวสนับสนุนช่วยเหลือมากมาย ไม่ยากลำบากเหมือนเรื่องแรก และยังจะมีคนรอชมเป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกันก็คงต้องมีคนวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในทางบวกและในทางลบซึ่งก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา

อย่าเพิ่งถอดใจนะครับ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ผู้สร้างหนัง 2475' ชี้ฝ่ายไหนไม่สำคัญเท่าความจริง หลังลูกปรีดีปลุกกระแส ธรรมะ-อธรรม

นายวิวัธน์ จิโรจน์กุล ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง "2475 Dawn of Revolution" โพสต์เฟซบุ๊กว่า "จริงๆ แล้ว แอนิเมชันของเราเกือบจะล้มไปหลายครั้ง

นักวิชาการ ยกเคส 'Taylor Swift' จี้รัฐบาลใช้สมองขจัดจุดอ่อนการท่องเที่ยว ให้ยั่งยืน

'อ.หริรักษ์' ยกรณีสิงคโปร์ใช้เงินจัดคอนเสิร์ต Taylor Swift แนะรัฐบาลแข่งขันด้วยจุดแข็งของประเทศเราขจัดจุดอ่อนที่ยังมีอยู่ให้หมดไปพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนระยะยาว เลิกคิดเรื่อง digital wallet อย่าใช้สมองคิดหาทางนำ ยิ่งลักษณ์ กลับบ้านแบบ ทักษิณ

อดีตรองอธิการ มธ. มีคำตอบทำไม ‘ถนนพระราม2’ สร้างไม่เสร็จเสียที

ความจริงถนนพระราม 2 ไม่รวมทางต่างระดับที่กำลังสร้างบ้างก็มีถึง 14 เลนแล้วยังไม่พออีกหรือ ทำไมต้องมีทางต่างระดับซ้อนขึ้นมาอีก

เปิดเบื้องลึก! กว่าจะได้นั่งเก้าอี้ 'อธิการ มธ.'

รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่ในระหว่างการสรรหาอธิการบดีคนใหม่