ตร.แนะศึกษาให้ดีก่อนลุยสินทรัพย์ดิจิทัล

รองโฆษกตำรวจเตือนลงทุนธุรกิจดิจิทัลในยุค 5 จีที่เข้าถึงง่ายขึ้น ผลตอบแทนสูงอาจตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพได้ แนะศึกษาให้ดีก่อน

06 ม.ค.2565 - พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงแนวโน้มการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลรวมถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ว่าปัจจุบันการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากการเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์ที่ง่ายขึ้น และเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนน่าดึงดูด อีกทั้งมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นไปอีกในอนาคต โดยจากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พบว่าในช่วงเดือนตุลาคม ปี 2564 มีผู้เปิดบัญชีตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลสูงถึง 1.77 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้นจากปี 2563 กว่า 1 ล้านบัญชี และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นไปอีก แสดงให้เห็นถึงการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ส่งผลให้มีผู้ที่สนใจประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น สำหรับในประเทศไทยได้มีการออกกฎหมายเพื่อรองรับการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ได้แก่ พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 ซึ่งได้มีการนิยามความหมายของสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล และได้จัดประเภทของสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งคริปโทเคอร์เรนซี(Cryptocurrency) หมายถึง หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกสร้างขึ้นโดยมีความประสงค์ที่จะใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิใดๆ หรือแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัล ก็ถูกจัดเป็นหนึ่งในประเภทของสินทรัพย์ดิจิทัลตามกฎหมายฉบับนี้ รวมถึงมีการกำหนดโทษทั้งทางแพ่งและทางอาญาสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนอีกด้วย

พ.ต.อ.กฤษณะ ระบุอีกว่า การประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลจะต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต. ซึ่งในการยื่นขออนุญาตและการพิจารณาอนุญาต เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข รวมถึงเสียค่าธรรมเนียม ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด โดยปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้ประกอบธุรกิจที่ผ่านการคัดกรองจาก ก.ล.ต. และได้รับใบอนุญาตศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลแล้วจำนวน 8 ราย ได้แก่ BITKUB, Satang Pro, Huobi, ERX, Zipmex, Upbit, Z.comEX, และ SCBS (ข้อมูลจาก ก.ล.ต.) ซึ่งในส่วนของผู้ที่สนใจลงทุนก็ควรตรวจสอบว่าศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ตนเองได้ทำธุรกรรมนั้นมีการขออนุญาตอย่างถูกต้องหรือไม่ หากไม่ใช่ ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตแล้ว 8 รายข้างต้น ก็ขอให้ใช้วิจารณญาณให้มาก เนื่องจากการทำธุรกรรมนั้นๆ จะไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของ ก.ล.ต. และอาจเป็นมิจฉาชีพแฝงตัวมาก็เป็นได้ ซึ่งหากพบว่าการทำธุรกรรมมีเงื่อนไขที่น่าสงสัย หรือดูดีเกินไป ก็ควรหลีกเลี่ยงไป

“จากสถิติของกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(บช.สอท.) ระหว่างวันที่ 1 มิ.ย. 64 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 64 พบว่ามีการร้องทุกข์ในความผิดเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลกว่า 100 คดี มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 180 ล้านบาท จึงขอให้ประชาชนใช้ความระมัดระวังให้มากไม่เช่นนั้นท่านอาจจะถูกฉ้อโกงจนสูญเสียทรัพย์สินหรือถูกโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคล (Identity Theft) และอาจจะนำข้อมูลส่วนบุคคลของท่านไปหาประโยชน์ในทางที่ผิดกฎหมาย จนท่านเองอาจจะตกเป็นผู้ต้องหาโดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้”

พ.ต.อ.กฤษณะระบุอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และเพื่อเป็นการป้องกันอาชญากรรมที่อาจแฝงมาสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน จึงได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว โดยได้สั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวของให้เร่งทำการประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ ถึงพิษภัยที่แอบแฝงมาและแนวทางการป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันทางไซเบอร์(Cyber Vaccine) ให้กับประชาชน และขอให้ผู้ที่สนใจประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลดำเนินการขออนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้เพื่อให้เป็นผลดีต่อทั้งผู้ประกอบธุรกิจและผู้ลงทุน อีกทั้งยังเป็นการป้องกันและตัดโอกาสเหล่ามิจฉาชีพที่อาจจะฉวยโอกาสในการกระทำความผิดต่อไป

ในส่วนของผู้ที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้นจะเป็นความผิดตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 มีโทษจําคุกตั้งแต่ 2-5 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000-500,000 บาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 10,000 บาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ ในส่วนของผู้ที่ลงทุนกับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. ก็จะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายไทย เนื่องจากธุรกรรมภายในธุรกิจนั้นๆ ไม่อยู่ ภายใต้การกํากับดูแลของ ก.ล.ต. และหากเกิดการหลอกลวงหรือฉ้อโกงขึ้นก็จะติดตามและตรวจสอบได้ยาก

“ขอประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมไปยังประชาชนผู้ที่สนใจในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ถึงแนวทางในการป้องกันหลีกเลี่ยงเหล่ามิจฉาชีพที่แอบแฝงตัวมา โดยก่อนจะลงทุนใดๆ ควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อน เนื่องจากการลงทุนย่อมมีความเสี่ยงเสมอ โดยเฉพาะการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลที่ตลาดมีความผันผวนสูง จึงต้องใช้ความระมัดระวังและศึกษาข้อมูลให้ดี ต้องตรวจสอบให้ดีว่าสินทรัพย์ดังกล่างนั้นได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องหรือไม่ โดยสามารถตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. https://www.sec.or.th และควรหลีกเลี่ยงการลงทุนในธุรกิจหรือสินทรัพย์ที่ไม่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องนอกจากนี้หากพบเห็นเบาะแสการกระทำความผิด สามารถแจ้งไปยัง Call Center สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หมายเลขโทรศัพท์ 191 หรือ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง”

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตร. เตือนระวังคุก! โพสต์เล่นตลก 'วันโกหก' เกินขอบเขต

พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) รักษาราชการแทน ผบ.ตร.

กกพ. ตรึงค่าเอฟที 39.72 สตางค์/หน่วย ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ย 4.18 บาท/หน่วย ถึง ส.ค. 67

กกพ. ประกาศตรึงค่าเอฟที 39.72 สตางค์/หน่วย ขณะที่ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ยอยู่ที่ 4.18 บาท/หน่วย จนถึงเดือน ส.ค. 67

เตือน 5 บัญชีโซเชียลอันตราย! ไม่รับแอด-ไม่คุยแซต-ไม่โอนเงิน

พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กล่าวว่า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ได้มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่อาจได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมรูปแบบต่างๆ

ตร. เตือนห้ามขายเหล้าวันมาฆบูชา ฝ่าฝืนคุก 6 เดือน ปรับ 1 หมื่น

พ.ต.อ.หญิง ฉันฉาย รัตนพานิช รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา คือวันมาฆบูชา และมีวันหยุดชดเชยรวม 3 วัน

บุญถาวร ยื่นไฟลิ่ง ก.ล.ต. ขาย IPO ไม่เกิน 320 ล้านหุ้น

BOON ยื่นไฟลิ่งต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อเสนอขาย IPO ไม่เกิน 320 ล้านหุ้น เดินหน้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เสริมความแข็งแกร่งธุรกิจ ชูศักยภาพผู้ดำเนินธุรกิจค้าปลีกวัสดุและอุปกรณ์ตกแต่งบ้านแบบครบวงจร