อดีตรองอธิการบดี มธ. ขอบคุณคำวินิจฉัย ศาลรธน. เป็นผลดีต่อประเทศชาติ

10 ส.ค.2567 - รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่าในคำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล ศาลรัฐธรรมนูญตอบข้อโต้แย้งทั้งหมดของพรรคก้าวไกล และดูเหมือนศาลรัฐธรรมนูญจะให้ความสำคัญต่อกรณีที่ สส.พรรคก้าวไกล 44 คนเข้าชื่อกันขอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 ว่าเป็นเจตนาที่จะเซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างสำคัญ

ใครที่คิดว่าเป็นการดำเนินการตามกระบวนการนิติบัญญัติธรรมดา ต้องไปอ่านรายละเอียดเสียก่อนว่า เนื้อหาเป็นอย่างไร

ถ้าบอกว่ากฎหมายที่ให้มีการยุบพรรคการเมืองได้เป็นการบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตย การแก้ไขมาตรา 112 ตามแนวทางของส.ส.44 คน ก็เป็นการยิ่งกว่าบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์เสียอีก เพราะไปยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งผู้ที่หมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ มีโทษจำคุก 3 ถึง 15 ปี ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล มาเป็นดังนี้

มาตรา 135/5 ผู้ใดดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 135/6 ผู้ใดดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระราชินี องค์รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 135/7 ผู้ใดติชม หรือแสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความใดโดยสุจริต เพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผู้นั้นไม่มีควาผิดตามมาตรา 135/5 และมาตรา 135/6

มาตรา 135/8 ความผิดฐานในลักษณะนี้ ถ้าผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด พิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าผิดนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ หากข้อที่กล่าวหาที่ว่าเป็นความผิดนั้น เป็นเรื่องความเป็นอยู่ส่วนพระองค์หรือความเป็นอยู่ส่วนตัว แล้วแต่กรณี และการพิสูจน์นั้นไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน

มาตรา 135/9 ความผิดในลักษณะนี้เป็นความผิดอันยอมความได้

ให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหายในความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์...........

ข้อสรุปที่สำคัญคือ

1. โทษจำคุกสูงสุดของผู้ที่ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์คือ 1 ปี หรือจะเสียค่าปรับ 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล เป็นการลดโทษลงมาให้เหลือเท่ากับการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา และจำคุก 6 เดือน หรือปรับสองแสนบาทสำหรับ พระราชินี องค์รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งต่ำกว่าโทษจำคุกบุคคลธรรมดา

2. หากติชมหรือแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ไม่มีควาาผิด

3. หากพิสูจน์ได้ว่า สิ่งที่หมิ่นประมาท เป็นความจริง ไม่ต้องรับโทษ

4. ยอมความได้ เพราะเอาออกจากหมวดความมั่นคง

5. ให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์ และเป็นผู้เสียหายแทน

อย่างนี้จะไม่เรียกว่า "เซาะกร่อนบ่อนทำลาย" สถาบันพระมหากษัตริย์แล้วจะเรียกว่าอะไร โทษจำคุกเพียง 1 ปี หรือน้อยกว่า เสียค่าปรับเอาก็ได้ ยอมความก็ได้ หรือไม่มีความผิด ไม่ต้องรับโทษ ก็เป็นไปได้

ถ้าให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์ สำนักพระราชวังต้องใช้เจ้าหน้าที่กี่คนจึงจะปฏิบัติงานนี้ให้ได้ผลได้ เพราะเหตุนี้ประธานรัฐสภาจึงไม่กล้าบรรจุเข้าวาระการประชุม และอย่าได้อ้างว่าเป็นการกระทำของปัจเจกบุคคล ไม่ใช่เป็นการกระทำของพรรค เพราะการอ้างแบบนี้เป็นการอ้างแบบศรีธนญชัย ซึ่งใครๆก็มองออก และแท้ที่จริงแล้วต้องการยกเลิกมาตรา 112 แต่เห็นว่าเป็นไปได้ยาก จึงจะแก้ไขให้มีผลใกล้เคียงกับการยกเลิกมากที่สุด

การดิ้นรนต่อสู้ด้วยการอ้าง 14 ล้านเสียงที่เลือกมา ต้องบอกด้วยว่าใน 14 ล้านเสียงที่เลือกมา มีกี่ล้านเสียงที่เลือกไม่ใช่เพราะต้องการให้ไปแก้หรือยกเลิกมาตรา 112 มีจำนวนมากที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพรรคก้าวไกลจะทำแบบนี้ แต่เลือกเพราะอยากให้โอกาสคนหนุ่มสาวบ้างโดยที่ไม่ได้รู้เลยว่าหนุ่มสาวพวกนี้จะไปทำอะไรต่อประเทศ ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์บ้าง และมีกี่ล้านเสียงที่เลือกเพราะไม่ต้องการให้มีการเกณฑ์ทหาร เลือกเพราะต้องการค่าแรงขั้นต่ำวันละ 450 บาท เลือกเพราะต้องการเบี้ยผู้สูงอายุเดือนละ 3,000 บาท สารพัดเหตุผล การที่ประชาชนเลือกพรรคก้าวไกล ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเลือกให้แล้ว จะไปทำอะไรก็ได้ ทำผิดกฎหมายก็ได้


การดิ้นรน การประกาศโจมตีศาลรัฐธรรมนูญ การประกาศยืนยันว่าจะเดินหน้าต่อในรูปแบบเดิม หมายถึงการที่จะต้องเปลี่ยนแปลงสถาบันพระมหากษัตริย์ในแบบที่พรรคก้าวไกลต้องการให้ได้ และการที่สถานทูตฝั่งตะวันตก 18 ประเทศ การแถลงการณ์ของสหรัฐอเมริกา องค์การสหประชาชาติ องค์กรเอกชนที่เป็นแนวร่วม ตลอดจนสำนักข่าวฝั่งตะวันตก ต่างออกมาประสานเสียงว่า การยุบพรรคก้าวไกลเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตย ยิ่งทำให้น่าเชื่อได้ว่า พรรคก้าวไกลกับประเทศเหล่านี้ มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน และน่าจะมีวาระหรือ agenda บางอย่างต่อประเทศไทย การยุบพรรคก้าวไกลอาจเป็นการขัดขวางวาระหรือ agenda นั้น ไม่ให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการก็ได้

ขอให้ข้อมูลว่า นาย Ben Cardin วุฒิสมาชิกของสหรัฐอเมริกา ที่ส่งหนังสือถึงรัฐบาลไทย แสดงความกังวลเรื่องการวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกลของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นวุฒิสมาชิกที่พยายามยื่นให้มีการแก้ไขกฎหมายที่ห้ามไม่ให้ใครก็ตามกล่าวหา หรือโจมตีประเทศอิสราเอล ซึ่งมีการบังคับใช้อยู่ใน 38 รัฐในสหรัฐอเมริกา ให้กำหนดโทษเป็นคดีอาญาโดยให้ผู้ที่ฝ่าฝืนมีโทษจำคุก แต่ยังไม่สำเร็จ

ต้องขอบคุณศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยด้วยความไม่หวั่นไหวต่อการกดดันของพรรคก้าวไกลและแนวร่วมที่มีชื่อเสียงหลายคน จากเหตุผลและข้อมูลข้างต้น การตัดสินใจของศาลรัฐธรรมนูญนับเป็นผลดีต่อประเทศชาติ ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ต้องห่วงว่าการยุบพรรคก้าวไกลจะทำให้คนที่สนับสนุนโกรธแค้นจนไประเบิดในคูหาเลือกตั้งครั้งต่อๆไปอย่างที่อดีตหัวหน้าพรรคประกาศ เพราะความจริงได้รับการเปิดเผยมากขึ้นเรื่อยๆ แน่นอนว่ายังมีคนที่ยังมองไม่เห็นอีกไม่น้อย แต่รับรองว่าไม่ใช่ตายสิบเกิดแสนอย่างที่คุยโม้กัน

สำหรับสส. 44 คนของพรรคก้าวไกลที่เข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็ขอให้โชคดี เพราะพวกคุณต้องการคำนี้มากกว่าใครๆในขณะนี้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

มติเอกฉันท์! ศาลรธน. ตีตก 7 คำร้อง ขอให้วินิจฉัยเลือก สว. ไม่ชอบ

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่รับ 7 คำร้องที่มีการร้องขอให้วินิจฉัยเกี่ยวกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา ประกอบด้วยคำร้องของนายสมบูรณ์ ทองบุราณ,นายวัฒนา ชมเชย ,ว่าที่ร.ต.วิชชุกร คำจันทร์ นายจิรัฎฐ์ แจ่มสว่าง,นายปรีชา เดชาเลิศ,นางฤติมา กันใจมา,

'สนธิญา' ยื่นหลักฐานเพิ่ม ร้องศาลรธน. สั่ง 'อิ๊งค์' หยุดปฏิบัติหน้าที่ แจกเงินหมื่นไม่ตรงปก

นายสนธิญา สวัสดี นำเอกสารหลักฐานไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยรัฐบาลดำเนินโครงการแจกเงินหมื่นแตกต่างจากนโยบายดิจิตอลวอลเล็ต 10,000 บาท

ปลุกรุมบี้ 'รัฐบาลอิ๊งค์' ส่งศาล รธน. ชี้ขาด 'MOU 44'

รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ท่านที่ได้อ่านโพสต์ที่แล้วของผม คงจะมีความเข้าใจเกี่ยวกับที่มาที่ไป