6 ก.พ.2568 - ที่รัฐสภา นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน ให้สัมภาษณ์ภายหลังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษา ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ มีความผิดตามมาตรา157 ให้มีโทษจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญาฯ ในคดีระหว่างฝ่ายโจทก์ คือ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด และจำเลย คือ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต
โดยนางสาวศิริกัญญา ระบุว่า กรณีนี้ทำให้กลไกการตรวจสอบถ่วงดุลสั่นสะเทือน เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้กำกับดูแล กลับถูกฟ้องในฐานะที่ถือว่า ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยหน้าที่ตรงนั้น ก็ต้องมีการถกกันว่า ตกลงมีหรือไม่มี และอำนาจเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่จะต้องพิจารณาจริงๆ คือเจตนามากกว่า เนื่องจากต้องการคุ้มครองผลประโยชน์ผู้บริโภค
นางสาวศิริกัญญา กล่าวต่อไปว่า เราจึงอยากเรียกร้องว่า ควรจะต้องมีการแก้ไขกฎหมาย เพื่อสร้างกลไกคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะหน่วยงานที่กำกับดูแล ไม่ใช่แค่เฉพาะ กสทช. แต่ยังมีหน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย
นางสาวศิริกัญญา กล่าวอีกว่า หากเราดูจากการที่ศาลตัดสินในวันนี้ ก็อาจจะทำให้เกิดความหวาดกลัวว่า ในอนาคตหากจะต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างตามที่มีระบุในกฎหมาย จะถูกบริษัทเอกชนฟ้องร้องหรือไม่ และจะทำให้เขาสามารถปฏิบัติหน้าที่สร้างกลไกตรวจสอบกำกับดูแลได้อย่างเดิมได้หรือไม่
นางสาวศิริกัญญา เปิดเผยว่า กฎหมายที่จะช่วยในเรื่องนี้ เพื่อคุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ พรรคประชาชนได้ยื่นเข้าสู่สภาเรียบร้อยขณะนี้อยู่ในชั้นที่คณะกรรมาธิการกำลังพิจารณา เพื่อต่อต้านการฟ้องปิดปาก เช่นกรณีที่เกิดขึ้นในวันนี้ ให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่ถูกฟ้องร้องในการปฏิบัติหน้าที่
เมื่อถามย้ำว่า มองว่าเป็นการฟ้องปิดปากใช่หรือไม่ นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า ใช่ คิดว่าเข้าข่ายกรณีฟ้องปิดปาก เพราะกระบวนการสามารถร้องเรียนได้ หากได้รับการปฏิบัติไม่เป็นธรรมจากผู้ดูแล ซึ่งบริษัทเอกชน ก็ใช้กลไกศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เป็นช่องทางลัดขี้นตอน และเป็นไปเพื่อให้ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง ไม่สามารถเข้าร่วมในกลไก กสทช. ต่อจากนี้ และไม่สามารถเข้าไปพิจารณาได้แล้ว
นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า จากจำนวนคณะกรรมการ กสทช.เดิมมี 7 คน มีเสียงฝั่งประธานประมาณ 3 และเสียงข้างมากในฝ่ายศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง อีก 4 คน แต่ตอนนี้กลายเป็นเหลือ 3 ต่อ 3เท่ากัน ซึ่งอาจทำให้การตัดสินใจต่างๆ มีความหมายมากขึ้น ไม่ได้ง่ายดายเหมือนที่ผ่านมา
ส่วนผลที่ตามมาหลังจากนี้ ยังมีสิ่งที่เราต้องติดตามอยู่อีก และกรณีควบรวม ทรู-ดีแทค นั้น คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ก็ยังติดตามความคืบหน้าอยู่ และเห็นว่ามีหลายมาตรการและเงื่อนไข เฉพาะภายหลังการอนุญาต หลายเรื่องก็ล่าช้ากว่ากำหนด อย่างการตั้งที่ปรึกษาเพื่อตรวจสอบค่าบริการ
นางสาวศิริกัญญา มองว่า หากกลไกการกำกับดูแล เกิดชะงักงันขึ้นมา เนื่องจากอาจมีหลายคนผวา จากการถูกฟ้อง จะยิ่งทำให้การคุ้มครองผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบ ก็ยิ่งล่าช้าเข้าไปอีก และตนไม่เชื่อว่า เป็นเฉพาะกรณีนี้ แต่กรณีควบรวม AIS-3BB ก็อาจจะซ้ำรอยด้วยเช่นเดียวกัน แม้จะเป็นเอกชนคนละราย แต่อาจทำให้องค์กรที่กำกับดูแล ทำการคุ้มครองผู้บริโภคย่อหย่อนลง
ส่วนกระแสข่าวมีการยื่นข้อเสนอให้ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง ลาออกจาก กสทช. แลกกับการถอนฟ้องในคดีนั้น เท่าที่ได้ยินมา ยืนยันว่าเป็นเรื่องจริง และน่าจะยิ่งกว่าคนใน ที่เป็นผู้ยื่นข้อเสนอต่อรองแลกถอนฟ้องกับการลาออกจาก กสทช. ซึ่งไม่ใช่เรื่องปกติ
เนื่องจากดูเหมือนจะมีการรู้ล่วงหน้า ตั้งแต่วันก่อนหน้าวันตัดสิน ว่าผลตัดสินจะเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจมาก เพราะไม่ควรมีใครล่วงรู้มาก่อน ตอนแรกตนเอง ก็ยังไม่อยากจะเชื่อ คิดว่าคงต่อรองแค่ให้ไม่สามารถเข้าร่วมการตัดสินใจได้เฉยๆ แต่ไม่คิดว่าผลการตัดสิน จะเป็นไปตามที่ข่าวลือมา
ทั้งนี้ เราคงทำได้เพียงตรวจสอบคู่ขนานกันไป เพราะเป็นขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม และสิ่งที่ต้องเร่งคือเรื่องการทำกฎหมายต่อต้านการฟ้องปิดปากให้แล้วเสร็จโดยเร็ว รวมถึงการแก้กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการกำกับกิจการ OTT (Over the top) เพื่อควบคุมกำกับดูแลสื่อตามโซเชียลมีเดียต่างๆ ด้วย
สำหรับเรื่องคำพิพากษา คงจะต้องมีการสู้ต่อไปในหลายชั้นศาล ทั้งอุทธรณ์และฎีกา ตนคิดว่า ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง มีสิทธิ์ในการต่อสู้คดีนี้จนถึงที่สุด
เมื่อถามว่า กสทช.คนอื่นๆ ควรจะออกมาแสดงท่าทีต่อกรณีบ้างหรือไม่ นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า เราอยากเห็นความเป็นปึกแผ่น ที่จะออกมาส่งเสียง และให้กำลังใจกัน เพราะของอย่างนี้ถ้าไม่เจอกับตัวก็คงไม่รู้ เมื่อเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ ตนก็กังวลและอยากให้กำลังใจกับ กสทช.ทุกคน ว่าอย่าเป็นกังวลมากเกินไป ยืนหยัดทำหน้าที่อยู่บนหลักการที่ถูกต้องดีกว่า
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ผ่าข้อเสนอ 'นักวิชาการ มธ.' ตรวจแถว! กสทช. เปิดประมูลคลื่นความถี่ จี้ออกมาตรการคุม 'ผู้มีอำนาจเหนือตลาด'
นักวิชาการธรรมศาสตร์ จับตา “กสทช.” เปิดประมูลคลื่นสากล 6 ย่านความถี่ ทั้งที่มีแนวโน้มผู้ประกอบการเข้าร่วมเพียงแค่ 2 ราย ตั้งคำถามคลื่นกระจุกอยู่กับรายใหญ่และการประมูลแข่งขันกันน้อย เหตุบางคลื่นยังไม่หมดสัญญาแต่เปิดช่องให้ประมูลล่วงหน้าได้ แนะควรกำหนดราคาตั้งต้นประมูลให้ใกล้เคียงราคาประเมิน ไม่ต้องลดเพื่อสร้างแรงจูงใจเหมือนในอดีต ชงคลอดแพกเกจดูแลผู้บริโภค จี้มาตรการกำกับ “ผู้มีอำนาจเหนือตลาด” พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการ MVNO รายเล็ก เพิ่มทางเลือกประชาชน
กกต. ยกคำพิพากษา แจงปม 'โพยเลือก สว.' ยันชัดกฎหมายไม่ห้าม-ไม่ละเว้นหน้าที่
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกเอกสารข่าวเผยแพร่เนื้อหาของคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้มีคำพิพากษา
AIS ผนึก กสทช., ตำรวจไซเบอร์ เจาะพื้นที่สงขลา เพิ่มมาตรการคุมเข้มเสาสัญญาณ แนวชายแดนไทย-มาเลเซีย สกัดแก๊งคอลเซ็นเตอร์
เอไอเอส เดินหน้าสนับสนุนการทำงานของภาครัฐ แก้ไขและควบคุมเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือบริเวณชายแดนที่มีความเสี่ยง เพื่อป้องกันการใช้สัญญาณก่ออาชญากรรมข้ามแดนจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์
โต้ปปช.กวาดบ้านก่อนสอย112
“ไหม” บอกรู้สึกชิลๆ ปม ป.ป.ช.เรียกรับทราบข้อกล่าวหาปมแก้มาตรา 112
รอดยากป.ป.ช.จ่อฟัน อดีต44สส.พรรคส้ม แต่อาจพ้นผิดที่ศาลฎีกา!
ศึกซักฟอกเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในเดือนมีนาคม ที่มีพรรคประชาชน เป็นหัวหอกหลักของฝ่ายค้านในการนำทัพ ไล่บดขยี้รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร