กสม. จี้ กกพ. กำกับดูแล โรงไฟฟ้าชีวมวลชายแดนภาคใต้ โดยประชาชนมีส่วนร่วม

กสม. ตรวจสอบโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลจังหวัดชายแดนภาคใต้ แนะ กกพ. กำกับดูแลกิจการขนาดเล็กให้ดำเนินการโดยประชาชนมีส่วนร่วม ป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม

7 ก.พ.68 - นายสุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)​ เปิดเผยว่า กสม. ได้รับฟังความคิดเห็นเครือข่ายองค์กรทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีข้อห่วงกังวลว่าโครงการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชน ประกอบกับ กสม. ได้ศึกษานโยบายของรัฐบาลในโครงการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าแบบครบวงจรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ซึ่งมีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ และเห็นว่านโยบายดังกล่าวอาจมีประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมที่ดี รวมทั้งการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการตัดสินใจด้านสิ่งแวดล้อม กสม. เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 จึงมีมติให้หยิบยกกรณีข้างต้นขึ้นตรวจสอบ

กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 43 ได้รับรองสิทธิของบุคคลและชุมชนในการมีส่วนร่วมในการจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งในการเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการใดอันจะเป็นประโยชน์หรืองดเว้นการดำเนินการใดอันจะกระทบต่อความเป็นอยู่อย่างสงบสุขของประชาชนหรือชุมชน และหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGPs) ได้กำหนดหน้าที่ของภาครัฐและความรับผิดชอบของภาคธุรกิจในการดำเนินกิจการ ภายใต้หลักการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เคารพสิทธิมนุษยชน และเยียวยาผลกระทบ โดยเห็นว่ากรณีดังกล่าว มีประเด็นต้องพิจารณา 2 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง การมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการพัฒนาพลังงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล เห็นว่า โครงการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าแบบครบวงจรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงาน เชื่อมโยงกับการพัฒนาเศรษฐกิจทั้งระบบตั้งแต่การส่งเสริมการปลูกพืชพลังงาน การแปรรูปผลิตภัณฑ์ และส่งเสริมให้ประชาชน วิสาหกิจชุมชน รวมกลุ่มร่วมลงทุนในกิจการพลังงานของรัฐ ข้อมูล ณ เดือนก.พ. 2567 ปรากฏว่า โครงการฯ ยังอยู่ระหว่างการเตรียมการ มีเพียงกิจกรรมส่งเสริมการปลูกพืชพลังงานที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 มีเกษตรกรปลูกพืชพลังงานนำร่อง 10,000 ไร่ แต่ยังไม่ได้ประชาสัมพันธ์รายละเอียดโครงการทั้งหมดให้ประชาชนทราบ จึงยังไม่เข้าสู่กระบวนการขั้นตอนการมีส่วนร่วมของประชาชน อย่างไรก็ดี พบว่า โครงการมีวัตถุประสงค์และแนวทางดำเนินการสอดคล้องกับแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน พ.ศ. 2566 – 2570 ซึ่งมุ่งเน้นการผลิตพลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน ที่มีอยู่ในแต่ละท้องถิ่น เช่น แสงอาทิตย์ ลม แหล่งน้ำ และชีวมวลจากภาคเกษตรกรรมและพืชอื่น ๆ และสอดคล้องตามรายงานโครงการประเมินการพัฒนาที่ยั่งยืนเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) กรณียุทธศาสตร์พลังงานภาคใต้ รวมทั้งแนวทางการพัฒนาไฟฟ้าของประเทศ

ส่วนกรณีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กมาก ในพื้นที่ตำบลปะแต อำเภอยะหา จังหวัดยะลา จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เป็นการดำเนินการภายใต้โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก 2 โครงการ กำลังการผลิต 3 เมกะวัตต์ และ 6 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างขั้นตอนการรับฟังความเห็นจากประชาชน โดยยังไม่สามารถจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2566 ให้แล้วเสร็จได้ เนื่องจากประชาชนที่เข้าร่วมส่วนใหญ่แสดงออกอย่างชัดเจนถึงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น และยังไม่ดำเนินการให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอีกครั้ง ในประเด็นการมีส่วนร่วมของประชาชนนี้ จึงยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นว่า มีการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ประเด็นที่สอง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมขน จากการตรวจสอบปรากฏว่า ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวลในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีทั้งหมด 16 ราย โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ที่มีโรงไฟฟ้าชีวมวลตั้งอยู่ ไม่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหรือปัญหามลพิษจากโรงไฟฟ้าต่อประชาชนอย่างชัดเจน แต่แจ้งว่า โรงไฟฟ้าได้ปฏิบัติตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) รวมทั้งได้ให้ความช่วยเหลือชุมชนในด้านต่าง ๆ อย่างไรก็ดี พบว่าโรงไฟฟ้าบางแห่งก่อปัญหามลพิษ เช่น ฝุ่นละออง ขี้เถ้า และเสียงรบกวนจากการประกอบกิจการบ้าง แต่ยังไม่ถึงขั้นรบกวนความเป็นอยู่ตามปกติแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี กสม. เห็นว่า การประกอบกิจการโรงไฟฟ้าไม่ว่าจะเป็นขนาดเล็กหรือเล็กมาก หากไม่มีกระบวนการจัดการที่ดีจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทุกขั้นตอน การกำหนดให้ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้ากำลังการผลิตไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ได้รับยกเว้นไม่ต้องจัดทำรายงาน EIA จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ต้องกำกับและติดตามให้เจ้าของโครงการดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่กำหนดไว้ตามประมวลหลักการปฏิบัติ (Code of Practice: CoP) ของ กกพ. อย่างเคร่งครัดด้วย ทั้งนี้เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่โดยรอบโรงไฟฟ้า

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2568 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้

1. ให้ กกพ. เร่งรัดไปยังบริษัทเอกชนผู้ประกอบกิจการโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กมาก ในพื้นที่ตำบลปะแต อำเภอยะหา จังหวัดยะลา ให้ชี้แจงประชาสัมพันธ์ข้อมูลโครงการให้ประชาชนทราบ และจัดให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริงอีกครั้ง โดยให้ส่งหนังสือประชาสัมพันธ์การจัดเวทีรับฟังความเห็นไปยังประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่รอบโครงการรัศมี 3 กิโลเมตร และให้กำกับและติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาตามรายงาน CoP รวมทั้งกำกับดูแลอย่างเคร่งครัดให้ผู้พัฒนาโครงการจัดทำรายงานการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence: HRDD) ทุกโครงการที่จะขออนุมัติ เพื่อส่งเสริมให้ภาคธุรกิจประกอบกิจการโดยเคารพสิทธิมนุษยชนตามหลักการ UNGPs

2. ให้ ศอ.บต. ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ชุมชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ร่วมกันดำเนินโครงการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าแบบครบวงจรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้มีการประเมินศักยภาพพื้นที่ ทั้งนี้ ให้นำรายงาน SEA กรณียุทธศาสตร์พลังงานภาคใต้ มาประกอบการพิจารณาดังกล่าว

3. ให้ อปท. และชุมชนร่วมเฝ้าระวัง รวมทั้งให้กำกับเกี่ยวกับการใช้เงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์การใช้เงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 อย่างเคร่งครัด โดยกำหนดให้การใช้เงินกองทุนต้องเป็นไปเพื่อการป้องกัน เฝ้าระวัง และแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้ามากกว่าร้อยละ 50 ตลอดจนมีกลไกการติดตามให้การใช้เงินกองทุนเป็นไปตามข้อกำหนดข้างต้น

4 ให้ อปท. ในพื้นที่ที่มีการประกอบกิจการโรงไฟฟ้ากำหนดโครงการเกี่ยวกับการป้องกัน เฝ้าระวัง และแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสุขภาพอนามัยของประชาชน ไว้ในแผนพัฒนาตำบล เพื่อให้การใช้เงินทุนพัฒนาไฟฟ้าของท้องถิ่นสอดคล้องกับวัตถุประสงค์การใช้เงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550

5.ให้บริษัทผู้ประกอบกิจการโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กในพื้นที่ตำบลคู อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา จัดทำรายงานการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (HRDD) และทบทวนปรับปรุงรายงานดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ตามหลักการ UNGPs เพื่อป้องกันการเกิดผลกระทบต่อชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และแรงงาน ซึ่งเป็นการประกอบธุรกิจโดยเคารพสิทธิมนุษยชน

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กสม.แนะตร.เลี่ยงควบคุมตัวผู้ต้องหาหญิงยามวิกาล ปล่อยชั่วคราวโดยดูพฤติการณ์ประกอบ

กสม. แนะสำนักงานตำรวจแห่งชาติกำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจเลี่ยงการควบคุมตัวผู้ต้องหาหญิงยามวิกาล และพิจารณาปล่อยชั่วคราวโดยดูพฤติการณ์ผู้ต้องหาในคดีประกอบด้วย

กสม. ชี้สายการบิน ปฏิเสธออกบัตรโดยสารให้ 'ผู้ชายข้ามเพศ' เป็นการละเมิดสิทธิฯ

กสม. ชี้ กรณีสายการบินแห่งหนึ่งปฏิเสธออกบัตรโดยสารให้ผู้โดยสารข้ามเพศ เป็นการละเมิดสิทธิฯ เสนอสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยหาทางป้องกันและแก้ไข

'พีระพันธุ์' ร่ายยาวภารกิจดูแลพลังงาน คืบหน้าร่างกฎหมายกํากับน้ำมัน-ก๊าซ วิธีลดค่าไฟฟ้า

'พีระพันธุ์' ร่ายยาว อัพเดทภารกิจดูแลพลังงานเพื่อคนไทย แจงคืบหน้าร่างกฎหมายกํากับกิจการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ เผยวิธีลดค่าไฟฟ้าให้ต่ำกว่า 4 บาท เตรียมเร่งผลิตระบบโซลาร์ราคาถูกวางจำหน่ายในปีนี้ 10,000 เครื่อง

ทวงคืนผืนป่าพ่นพิษ 'กสม.' แนะกรมอุทยานฯ ชะลอการรื้อถอนขับไล่ ชาวบ้านซับหวาย

'กสม.' ตรวจสอบกรณีประชาชนบ้านซับหวาย อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า แนะกรมอุทยานฯ ชะลอการรื้อถอนขับไล่จนกว่าจะแก้ไขปัญหาแล้วเสร็จ

มาช้าดีกว่าไม่มา 'รสนา' ชื่นชม'กกพ.' ชงลดค่าไฟฟ้า แนะเจรจาลดค่าความพร้อมจ่ายด้วย

นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา และอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาผู้บริโภค โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า มาช้าดีกว่าไม่มา กกพ.จ่อชงนายกฯทบทวนค่าแอดเดอร์พลังงานหมุนเวียน