'อนุทิน' ยันไม่มีภาพคนติดโควิด นอนรอเตียงข้างถนน ย้ำระบบสธ.รับได้

ใจเย็นๆ ประเทศอื่นทั่วโลก กราฟผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งสูงกว่าประเทศเรา แต่เขาผ่อนคลาย ส่วนเราก็ต้องหาทางที่ดีที่สุด เดินทางสายกลาง ซึ่งเชื้อโอมิครอนติดง่าย หายเร็ว ความรุนแรงของโรคไม่เหมือนสายพันธุ์อื่น

22 ก.พ.2565- นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ถึงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อ โดยปรากฏภาพผู้ที่ออกมานอนรอรับการรักษานอกบ้าน ว่า ไม่มีเหตุการณ์เช่นนั้น ยืนยันว่าไม่มีตามภาพที่ออกมา ตนตรวจสอบกับปลัดกระทรวงสาธารณสุข ทุกวัน และจำนวนเตียงที่มีอยู่ตามโรงพยาบาลต่างๆทั่วประเทศ ยังมีความพร้อม

“เรื่องที่มาถามว่ามีคนมานอนอยู่ข้างถนน ผมเห็นข่าวก็ไม่ได้อยู่เฉยๆ ทั้งปลัดกระทรวงฯ อธิบดี เช็คแล้วเช็คอีกก็ไม่มี เพราะเตียงยังพอมีอยู่ ยังครองไม่ถึงครึ่ง ส่วนยาก็มีเต็มที่ และเวลานี้เราเน้นการรักษาตัวที่บ้านเป็นหลัก”

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะปรับระบบของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อรองรับจำนวนผู้ติดเชื้อ ที่เพิ่มมากขึ้นอย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่า ปรับแล้ว โดยเรื่องของสิทธิการรักษาตามนโยบายรัฐบาล เพื่อคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (ยูเซป) ยืนยันว่าไม่ได้ยกเลิกการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 แต่รักษาตามสมมติฐานของโรค เช่น ผู้ป่วยโควิดส่วนใหญ่ ที่ไม่แสดงอาการไม่มีอาการรุนแรง หรือผู้ป่วยสีเขียว จะใช้การรักษาแบบรักษาตัวที่บ้าน หรือที่ศูนย์พักคอยชุมนุม ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการสีเหลืองขึ้นไปจนถึงสีแดง คือตั้งแต่ปานกลางถึงรุนแรง สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลภายใต้ระบบยูเซปได้ และสามารถรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนได้โดยไม่มีกำหนดเวลา 72 ชั่วโมง ที่จำแนกประเภทของผู้ป่วย เพื่อให้เตียงมีจำนวนว่างมากที่สุด รวมถึงอุปกรณ์การแพทย์เวชภัณฑ์ ทรัพยากรบุคคลทางการแพทย์ ให้มีเพียงพอ หากผู้ป่วยสีเขียวที่ไม่มีอาการถ้าทุกคนแห่ไปที่โรงพยาบาล ก็จะมีปัญหาเพราะไม่ได้มีเฉพาะแค่โควิด อย่างเดียว ยังมีโรคอื่น ดังนั้นเราต้องบริหารจัดการระบบสาธารณสุขให้ดี

เมื่อถามถึงความชัดเจนการประกาศยกระดับแจ้งเตือนของกระทรวงสาธารณสุข เป็นระดับ 4 นายอนุทิน กล่าวว่า ไม่ได้ยกระดับ อยู่ระดับนี้มาตั้งนานแล้ว และเมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมาประกาศลดระดับจาก 5 เหลือ 4 โดยการแจ้งเตือนระดับ 4 เป็นแนวทางสำหรับปฏิบัติ หากเราสามารถเว้นระยะห่าง ทำงานจากที่บ้าน ลดการสังสรรค์ ก็จะเป็นเรื่องดี เปรียบเหมือนเป็นการเตือนว่าเริ่มมีอาการความดัน แล้วให้ลดอาหารเค็ม แต่ถ้ายังกินต่อ ก็จะออกอาการเป็นโรคไต หรือความดันสูง นำไปสูงการห้ามหรือควบคุมอาหาร

ถามย้ำว่า เริ่มมีข้อสงสัยว่าอาจจะต้องล็อกดาวน์หรือต้องเพิ่มมาตรการอะไรหรือไม่นายอนุทิน กล่าวว่า ใจเย็นๆ ประเทศอื่นทั่วโลก กราฟผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งสูงกว่าประเทศเรา แต่เขาผ่อนคลาย ส่วนเราก็ต้องหาทางที่ดีที่สุด เดินทางสายกลาง ซึ่งเชื้อโอมิครอนติดง่าย หายเร็ว ความรุนแรงของโรคไม่เหมือนสายพันธุ์อื่น

ผู้สื่อข่าวถามว่าในการประชุมศบค.ชุดใหญ่ในวันที่ 23 ก.พ.นี้ทางกระทรวงสาธารณสุขจะเสนอเพิ่ม หรือปรับมาตรการอย่างไรหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า เรื่องมาตรการต่างๆทางศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้นำเสนอ โดยพิจารณาให้เกิดความสะดวกกับประชาชนทุกคน เป็นการเสนอตามวาระปกติ และอาจจะมีการเสนอเรื่องมาตรการการเข้าประเทศที่ต้องตรวจ RT-PCR ในวันที่ 5 ยังมีความจำเป็นอยู่หรือไม่โดยแนวโน้มอาจจะลดการตรวจRT-PCR ในวันที่ 5 เพราะดูแล้วอาจจะไม่เกิดประโยชน์ ขณะที่การควบคุมโรคยังดีอยู่และการติดเชื้อส่วนใหญ่ยังอยู่ในประเทศไม่ได้มาจากต่างประเทศ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง