'โรห์ แตวู' อดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ถึงแก่อสัญกรรม

อดีตประธานาธิบดีโรห์ แตวู ของเกาหลีใต้ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันอังคาร ด้วยวัย 88 ปี ปิดตำนานผู้นำที่ไต่เต้าจากการหนุนหลังการก่อรัฐประหารของเผด็จการชุน ดูฮวาน จนได้เป็นประธานาธิบดีจากการเลือกตั้งคนแรกของเกาหลีใต้ ที่สุดท้ายถูกตัดสินจำคุกฐานกบฏและคอร์รัปชัน

แฟ้มภาพ โรห์ แตวู ขณะไปเยือนทำเนียบขาวเพื่อพบกับประธานาธิบดีจอร์จ บุช เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2530 (Getty Images)

รายงานของรอยเตอร์และเอเอฟพีเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2564 กล่าวว่า อดีตประธานาธิบดีโรห์ แตวู ซึ่งไม่ได้ปรากฏตัวต่อสาธารณะมานานราว 20 ปี นับแต่ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากเมื่อปี 2545 เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล คำแถลงของโรงพยาบาลเมื่อวันอังคารกล่าวว่า โรห์เสียชีวิตลงแล้ว แต่ไม่ได้ระบุสาเหตุ เขาเข้า-ออกโรงพยาบาลบ่อยครั้งในช่วงหลายปีมานี้

อดีตนายทหารผู้นี้เป็นประธานาธิบดีเกาหลีใต้ระหว่างปี 2531-2536 โดยสืบทอดตำแหน่งผู้นำประเทศต่อจากเผด็จการชุน ดูฮวาน เพื่อนสมัยเรียนโรงเรียนเตรียมทหาร ที่โรห์เคยสนับสนุนให้ทำการก่อรัฐประหารภายหลังประธานาธิบดีปัก ชองฮี โดนลอบสังหารเมื่อปี 2522 และตัวเขาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในรัฐบาลของชุน จนได้รับการวางตัวให้เป็นทายาทสืบทอดอำนาจก่อนหน้าการเลือกตั้งปี 2530 ซึ่งทำให้ประชาชนฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยไม่พอใจและชุมนุมประท้วงในหลายเมือง โรห์พยายามตีตัวออกห่างจากชุน โดยออก "ปฏิญญา 29 มิถุนายน" ว่าด้วยการปฏิรูปการเมือง รวมถึงการจัดเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง

ชัยชนะในการเลือกตั้งของโรห์ ได้เป็นประธานาธิบดีจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยคนแรกของเกาหลีใต้เมื่อปี 2530 ทำลายความหวังของนักเคลื่อนไหวและฝ่ายเสรีนิยม ที่มองว่าการขึ้นสู่อำนาจของโรห์เป็นการต่อยอดระบอบเดิมของชุน แต่ระหว่างดำรงตำแหน่ง โรห์ถูกยกให้เป็นรัฐบุรุษจากความสำเร็จทางการทูตที่สร้างความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับรัสเซียและจีน ซึ่งเป็นอดีตศัตรูจากยุคสงครามเย็น เขายังอยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเกมส์ โซล 1988 และพาเกาหลีใต้เข้าองค์การสหประชาชาติเมื่อปี 2534

อย่างไรก็ดี ชีวิตหลังพ้นอำนาจของเขากลับโดนอดีตเล่นงาน โรห์และชุนถูกดำเนินคดีข้อหากบฏจากการก่อรัฐประหารเมื่อปี 2522 และการฆ่าหมู่ผู้ประท้วงที่กวางจูเมื่อปี 2523 โรห์ซึ่งยังโดนข้อหาคอร์รัปชันเพิ่มด้วย ถูกตัดสินจำคุก 22 ปีครึ่งเมื่อปี 2539 ส่วนชุนถูกตัดสินประหารชีวิต แต่ต่อมาประธานาธิบดีอภัยโทษ ปีถัดมาทั้งคู่ได้รับอิสรภาพ.

เพิ่มเพื่อน