ซาอุดีอาระเบียพร้อมต้อนรับผู้แสวงบุญ 1 ล้านคนร่วมพิธีฮัจย์ครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 3 ปี

ผู้แสวงบุญจากทั่วโลกเริ่มมารวมตัวกันเต็มถนนในนครเมกกะห์อันศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาอิสลาม ก่อนพิธีฮัจย์ครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เกิดการระบาดของโคโรนาไวรัส จะเริ่มต้นขึ้นในสัปดาห์นี้

ผู้แสวงบุญชาวมุสลิมรวมตัวกันที่มัสยิดหลวงในนครเมกกะห์ของซาอุดิอาระเบีย เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม (Photo by AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 5 กรกฎาคม 2565 กล่าวว่า นครเมกกะห์แห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เตรียมความพร้อมในทุกด้านเพื่อรองรับการมาเยือนของผู้แสวงบุญชาวมุสลิมจากทั่วทุกมุมโลก ในพิธีฮัจย์ครั้งยิ่งใหญ่นับตั้งแต่เผชิญภาวะระบาดของโรคโควิด-19 โดยพิธีในปีนี้จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-12 กรกฎาคม  

ป้ายต้อนรับผู้แสวงบุญที่เปี่ยมด้วยศรัทธาจากทั้งในและต่างประเทศ ประดับประดาเต็มจัตุรัสและตรอกซอกซอยของนครเมกกะห์ ขณะที่กองกำลังรักษาความปลอดภัยติดอาวุธ ทำหน้าที่ลาดตระเวนไปรอบนครโบราณซึ่งเป็นบ้านเกิดของศาสดามูฮัมหมัด

ผู้คน 1 ล้านคน แบ่งเป็น 150,000 คนในซาอุดิอาระเบีย และอีก 850,000 คนจากต่างประเทศ ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมประกอบพิธีฮัจย์ในปีนี้ หลังจาก 2 ปีที่ผ่านมาจำกัดจำนวนคนน้อยกว่านี้เนื่องมาจากการแพร่ระบาดของไวรัส

การจาริกแสวงบุญถือเป็นหนึ่งใน 5 เสาหลักของศาสนาอิสลาม ซึ่งชาวมุสลิมที่ร่างกายแข็งแรงทุกคนต้องปฏิบัติอย่างน้อย 1 ครั้ง

เสาหลักทั้งห้าของศาสนาอิสลาม ได้แก่ การปฏิญาณตน, การละหมาด, การให้ซากัต (ช่วยเหลือผู้ยากไร้),  การถือศีลอด (ในเดือนรอมฎอน) และการไปจาริกแสวงบุญยังนครเมกกะห์สักครั้งหนึ่งในชีวิตสำหรับผู้ที่สามารถทำได้.

เจ้าหน้าที่ทางการของซาอุดิอาระเบีย กล่าวเมื่อวันจันทร์ว่า ผู้แสวงบุญจากต่างประเทศประมาณ 650,000 คน ได้เดินทางมาถึงซาอุดีอาระเบียเรียบร้อยแล้ว

เมื่อปี 2562 มีผู้มาแสวงบุญกว่า 2.5 ล้านคนที่ได้เข้าร่วมพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ แต่ในปีถัดมา เมื่อเกิดการระบาดใหญ่ของโคโรนาไวรัส ชาวต่างชาติไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางมายังนครเมกกะห์ และมีการจำกัดผู้มาสักการะเพียงแค่ 10,000 คนเท่านั้น เพื่อไม่ให้พิธีฮัจย์กลายเป็นแหล่งแพร่ระบาดเชื้อไปทั่วโลก

ขณะที่ปีก่อน ตัวเลขผู้แสวงบุญจากต่างประเทศได้รับอนุญาตเพิ่มขึ้นเป็น 60,000 คน รวมทั้งพลเมืองซาอุดิอาระเบียที่ได้รับวัคซีนครบถ้วนแล้ว

ผู้แสวงบุญในปีนี้ ได้รับอนุญาตเฉพาะผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 65 ปีเท่านั้นที่จะได้เข้าร่วมพิธีภายใต้เงื่อนไขด้านสุขอนามัยที่เข้มงวด และปีนี้จะเป็นครั้งแรกที่ซาอุดีอาระเบียอนุญาตให้ผู้แสวงบุญหญิงเข้าร่วมพิธีฮัจย์ได้โดยไม่ต้องมีญาติผู้ชายไปด้วย

หน้ากากอนามัยไม่ได้ถูกบังคับอีกต่อไปในพื้นที่ปิดส่วนใหญ่ของซาอุดิอาระเบีย แต่จะบังคับใส่ที่มัสยิดหลวง ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของศาสนาอิสลาม และผู้แสวงบุญจากต่างประเทศทุกคนจะต้องมีผลตรวจโควิดเป็นลบ

“มัสยิดหลวงจะถูกล้างทำความสะอาด 10 ครั้งต่อวันโดยคนงานชายและหญิงมากกว่า 4,000 คน และมีการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อมากกว่า 130,000 ลิตร (34,000 แกลลอน) ในแต่ละครั้ง” เจ้าหน้าที่ทางการกล่าว

นับตั้งแต่เกิดการระบาดใหญ่ของโคโรนาไวรัส ซาอุดีอาระเบียมีผู้ป่วยยืนยันกว่า 795,000 ราย และผู้เสียชีวิต 9,000 ราย จากจำนวนประชากรทั้งหมด 34 ล้านคน

พิธีฮัจย์เคยเกิดเหตุร้ายหลายครั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รวมถึงการเหยียบกันตายในปี 2558 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปมากถึง 2,300 ราย และการโจมตีด้วยอาวุธปืนในปี 2522 โดยผู้ร้ายหลายร้อยคน ซึ่งมีจำนวนผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการจากเหตุการณ์ดังกล่าว 153 ราย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โอ่ 'ไทย-ซาอุฯ' เตรียมลงนามเอ็มโอยูด้านสาธารณสุขฉบับแรก!

โฆษกรัฐบาลเผย ไทย-ซาอุดีฯ เตรียมลงนาม MOU ด้านสาธารณสุขฉบับแรก ยกระดับการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ และความมั่นคงทางสุขภาพให้ประชาชนทั้งสองประเทศ

'เศรษฐา' ปลื้มต่อยอดความร่วมมือ 'ไทย-ซาอุฯ'

โฆษกฯ เผยนายกฯ ยินดีความร่วมมือไทย-ซาอุฯ มีผลคืบหน้าเป็นรูปธรรม หลังการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูต หนังสือเดินทางราชการ และหนังสือเดินทางพิเศษมีผลใช้บังคับแล้ว