อีโบลาระบาดในยูกันดา ยอดผู้เสียชีวิตพุ่งเป็น 9 ราย

ยอดผู้เสียชีวิตจากโรคอีโบลาในยูกันดาเพิ่มขึ้นเป็น 9 ราย หลังจากที่ทางการประกาศพบการแพร่ระบาดของโรคเพียง 2 สัปดาห์

แฟ้มภาพ เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์สวมชุดป้องกันเชื้อขณะปฏิบัติงานประจำการอยู่ภายในหอผู้ป่วยของหน่วยรักษาโรคอีโบลา ที่โรงพยาบาลประจำภูมิภาคมูเบนเด ประเทศยูกันดา เมื่อวันที่ 24 กันยายน (Photo by BADRU KATUMBA / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 4 ตุลาคม 2565 กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขยูกันดาประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกันยายนว่า โรคอีโบลาได้ระบาดในประเทศแล้ว หลังทยอยพบการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตอย่างต่อเนื่องในพื้นที่เขตมูเบนเด ทางตอนกลางของประเทศ

สถานการณ์ปัจจุบัน มีรายงานยืนยันผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวเพิ่มเป็น 9 รายแล้ว หลังจากวันศุกร์ยอดผู้เสียชีวิตยังมีเพียงแค่ 7 รายเท่านั้น

อีโบลาจัดอยู่ในกลุ่มโรคชนิดเดียวกับโรคไข้เลือดออก โดยเป็นโรคติดต่อรุนแรงที่เกิดจากเชื้อไวรัสและสามารถทำให้เสียชีวิตได้ ชื่อของโรคถูกตั้งตามชื่อแม่น้ำในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (DRC) ที่เชื้อไวรัสดังกล่าวถูกค้นพบเป็นครั้งแรกในปี 2519

การแพร่เชื้อจากมนุษย์สู่มนุษย์สามารถเกิดได้ผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งในร่างกาย โดยอาการเจ็บป่วยหลักคือ มีไข้, อาเจียน, มีเลือดออก และท้องร่วง

ผู้ที่ติดเชื้อจะไม่แพร่เชื้อจนกว่าจะแสดงอาการ โดยเชื้อมีระยะฟักตัวอยู่ที่ 2 วัน ถึง 21 วัน

ปัจจุบันยังไม่มียาที่ได้รับอนุญาตในการป้องกันหรือรักษาโรคอีโบลา แม้ว่าจะมีการพัฒนายาทดลองอยู่หลายตัวก็ตาม

การระบาดของอีโบลานั้นยากต่อการควบคุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาพแวดล้อมในเมืองใหญ่

กระทรวงสาธารณสุขยูกันดารายงานเมื่อวันจันทร์ว่าจำนวนผู้ป่วยยืนยันจากโรคอีโบลาในประเทศอยู่ที่ 43 ราย ขณะที่มีผู้ติดเชื้อแล้วแต่ยังไม่เจ็บป่วยอีกกว่า 900 คน

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดีโยเวรี มูเซเวนี ของยูกันดา ปฏิเสธการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการระบาดของอีโบลา โดยกล่าวว่า "รัฐบาลมีความสามารถในการควบคุมการระบาดเหมือนที่เคยทำมาก่อนหน้านี้"

ยูกันดาประสบกับการระบาดของโรคอีโบลามาแล้วหลายครั้ง โดยล่าสุดในปี 2562 มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 5 ราย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘หมอยง’ ชี้โรคปอดบวมในเด็กที่กำลังระบาดเพิ่มขึ้น ไม่ใช่เชื้ออุบัติใหม่

มีการระบาดและเพิ่มมากขึ้นของปอดอักเสบ โดยเฉพาะในเด็ก ไม่ใช่เฉพาะประเทศจีน ยังพบมากในเนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก อเมริกาในหลายรัฐ และแม้แต่ในประเทศไทย

WHO จับตาใกล้ชิด 'โรคเอ็กซ์' กำลังระบาด

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) กำลังเฝ้าติดตามการระบาดของ "โรคติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง

5 ข้อควรคำนึง 'โควิด-19' เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย