ยูกันดาสั่งปิดโรงเรียน หลังเด็ก 8 คนเสียชีวิตจากอีโบลา

ยูกันดาจะปิดโรงเรียนทั่วประเทศปลายเดือนนี้ หลังจากรายงานยืนยันพบผู้ป่วยโรคอีโบลา 23 รายในหมู่นักเรียน และเด็กเสียชีวิตไปแล้ว 8 รายจากโรคดังกล่าว

โรงเรียนประถมศึกษาแห่งหนึ่งในสาธารณรัฐยูกันดา (Photo by Badru KATUMBA / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน 2565 กล่าวว่า เจเน็ต มูเซเวนี รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการของสาธารณรัฐยูกันดา ประเทศในทวีปแอฟริกา ประกาศปิดโรงเรียนทั่วประเทศภายในเดือนนี้ หลังโรคอีโบลาระบาดหนัก

สถานการณ์ล่าสุด มีรายงานยืนยันพบผู้ป่วยโรคอีโบลา 23 รายในหมู่นักเรียน และเด็กเสียชีวิตไปแล้ว 8 รายจากโรคดังกล่าว ทำให้รัฐบาลพิจารณาปิดโรงเรียนเพื่อหยุดการแพร่ระบาดในเด็ก

มูเซเวนีกล่าวว่า เบื้องต้นจะพิจารณาปิดโรงเรียน 5 แห่งในกรุงกัมปาลา ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศ รวมถึงเขตวากิโซที่อยู่ใกล้เคียง และมูเบนเด ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการระบาดในปัจจุบัน

"คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้มีการปิดโรงเรียนระดับเตรียมประถมศึกษา, ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน โดยถือเป็นการปิดภาคเรียนไปในตัว และรัฐบาลหวังว่าจะช่วยตัดวงจรการระบาดของไวรัสอีโบลาในเด็กได้" มูเซเวนีกล่าวเสริม

เมื่อวันเสาร์ ยูกันดาเพิ่งขยายเวลาล็อกดาวน์เขตมูเบนเดและคาสซานดา เป็นเวลา 3 สัปดาห์ โดยทั้งสองเขตเป็นศูนย์กลางการระบาดโรคอีโบลา ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 50 ราย

มาตรการดังกล่าวรวมถึงเคอร์ฟิวตั้งแต่เช้าจรดค่ำ, การห้ามเดินทางส่วนบุคคล และการปิดตลาด, บาร์ และโบสถ์

นับตั้งแต่มีการประกาศการระบาดของโรคอีโบลาในเขตมูเบนเดเมื่อวันที่ 20 กันยายน โรคนี้ได้แพร่กระจายไปทั่วประเทศยูกันดา ไม่เว้นแม้แต่เมืองหลวงกัมปาลา

ตัวเลขตามรายงานของรัฐบาลยูกันดา ณ วันที่ 6 พฤศจิกายน มีผู้เสียชีวิตจากโรคอีโบลาทั้งหมด 53 ราย จากผู้ป่วยติดเชื้อทั้งหมด 135 ราย

สายพันธุ์ที่กำลังแพร่ระบาดในขณะนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อไวรัสอีโบลาซูดาน ซึ่งยังไม่มีวัคซีนป้องกันที่ได้ผล

อีโบลาจัดอยู่ในกลุ่มโรคชนิดเดียวกับโรคไข้เลือดออก โดยเป็นโรคติดต่อรุนแรงที่เกิดจากเชื้อไวรัสและสามารถทำให้เสียชีวิตได้ ชื่อของโรคถูกตั้งตามชื่อแม่น้ำในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (DRC) ที่เชื้อไวรัสดังกล่าวถูกค้นพบเป็นครั้งแรกในปี 2519

การแพร่เชื้อจากมนุษย์สู่มนุษย์สามารถเกิดได้ผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งในร่างกาย โดยอาการเจ็บป่วยหลักคือ มีไข้, อาเจียน, มีเลือดออก และท้องร่วง

ผู้ที่ติดเชื้อจะไม่แพร่เชื้อจนกว่าจะแสดงอาการ โดยเชื้อมีระยะฟักตัวอยู่ที่ 2 วัน ถึง 21 วัน

ปัจจุบันยังไม่มียาที่ได้รับอนุญาตในการป้องกันหรือรักษาโรคอีโบลา แม้ว่าจะมีการพัฒนายาทดลองอยู่หลายตัวก็ตาม

การระบาดของอีโบลานั้นยากต่อการควบคุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาพแวดล้อมในเมืองใหญ่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘หมอยง’ ชี้โรคปอดบวมในเด็กที่กำลังระบาดเพิ่มขึ้น ไม่ใช่เชื้ออุบัติใหม่

มีการระบาดและเพิ่มมากขึ้นของปอดอักเสบ โดยเฉพาะในเด็ก ไม่ใช่เฉพาะประเทศจีน ยังพบมากในเนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก อเมริกาในหลายรัฐ และแม้แต่ในประเทศไทย

WHO จับตาใกล้ชิด 'โรคเอ็กซ์' กำลังระบาด

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) กำลังเฝ้าติดตามการระบาดของ "โรคติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง

5 ข้อควรคำนึง 'โควิด-19' เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย