สหรัฐประณามรัสเซียยิงมิสไซล์ทำลายดาวเทียม คุกคาม ISS

รัฐบาลสหรัฐประณามรัสเซียยิงมิสไซล์ทำลายดาวเทียมอย่าง "ไม่มีความรับผิดชอบ" เมื่อวันจันทร์ ก่อขยะอวกาศในวงโคจรต่ำของโลกที่เป็นอันตรายต่อสถานีอวกาศนานาชาติ ทำให้นักบินอวกาศ 7 คนต้องหลบภัยในยานนาน 2 ชั่วโมงเพื่อเตรียมพร้อมอพยพ

แฟ้มภาพ สถานีอวกาศนานาชาติ (ไอเอสเอส) เมื่อมองจากกระสวยอวกาศเอนเดฟเวอร์ของสหรัฐ เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2554 (Getty Images)

รายงานเอเอฟพีและรอยเตอร์เมื่อวันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน 2564 กล่าวว่า รัสเซียยิงทดสอบมิสไซล์ทำลายดาวเทียมดวงหนึ่งของตนเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยเจ้าหน้าที่ทางการสหรัฐกล่าวว่าพวกเขาไม่ได้รับการแจ้งเตือนล่วงหน้า การทำลายดาวเทียมครั้งนี้ ซึ่งบริษัท เซราดาตา ด้านวิเคราะห์อุตสาหกรรมอวกาศระบุว่า เป็นดาวเทียมข่าวกรองยุคโซเวียต คอสมอส 1408 ที่ปลดระวางมานานหลายทศวรรษ ก่อให้เกิดขยะอวกาศจำนวนมาก

แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ประณามว่า การทดสอบมิสไซล์ทำลายดาวเทียมของรัสเซียครั้งนี้ "อันตรายและไม่มีความรับผิดชอบ" ก่อให้เกิดเศษซากชิ้นส่วนในวงโคจรที่ติดตามได้มากกว่า 1,500 ชิ้น และน่าจะก่อเศษซากขนาดเล็กกว่าอีกนับแสนชิ้น

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐ กล่าวว่า นักบินอวกาศ 7 คนบนไอเอสเอส ซึ่งประกอบด้วย ชาวอเมริกัน 4 คน, เยอรมัน 1 คน และรัสเซีย 2 คน ได้รับคำแนะนำให้ปิดประตูของโมดูลต่างๆ ของสถานี แล้วเข้าไปหลบภัยภายในยานกลับโลก ทั้งยานดรากอนและโซยุซ เมื่อเวลา 14.00 น.ของวันจันทร์ตามเวลาไทย ตามระเบียบวิธีเพื่อเตรียมพร้อมสละไอเอสเอสกรณีฉุกเฉิน โดยทั้งหมดต้องหลบอยู่ในยานนานประมาณ 2 ชั่วโมง ระหว่างที่สถานีโคจรผ่านหรือใกล้กลุ่มเมฆขยะอวกาศนี้ทุก 90 นาที

นาซากล่าวว่า ไอเอสเอสซึ่งโคจรอยู่เหนือโลกที่ความสูง 402 กิโลเมตร ผ่านเมฆขยะอวกาศนี้ 2 รอบ จนกระทั่งผู้เชี่ยวชาญของนาซาลงความเห็นว่ามีความปลอดภัยที่นักบินอวกาศจะกลับเข้าภายในสถานีหลังการโคจรผ่านรอบที่ 3

บิล เนลสัน ผู้อำนวยการนาซา กล่าวในแถลงการณ์ด้วยว่า เขาโกรธมากกับการกระทำที่ขาดความรับผิดชอบและทำลายความมั่นคงครั้งนี้ รัสเซียมีประวัติด้านการบินอวกาศโดยมนุษย์ จึงเป็นเรื่องคาดคิดไม่ถึงว่ารัสเซียจะก่ออันตราย ไม่เพียงต่อนักบินอวกาศอเมริกันและนานาชาติบนไอเอสเอส แต่รวมถึงนักบินอวกาศของรัสเซียเอง เช่นเดียวกับนักบินอวกาศจีนบนสถานีอวกาศของจีนด้วย

"นาซาจะเฝ้าสังเกตเศษซากดาวเทียมต่อไปในอีกหลายวันข้างหน้า เพื่อความมั่นใจในความปลอดภัยของลูกเรือของเราในวงโคจร" เขากล่าว

บลิงเคน ซึ่งใช้ถ้อยคำประณามอย่างรุนแรง กล่าวว่า อันตรายยังไม่จบลงโดยเร็ว เศษชิ้นส่วนพวกนี้จะยังคงคุกคามดาวเทียมและกิจกรรมบนไอเอสเอส สหรัฐกำลังหารือกับประเทศหุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อโต้ตอบ

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวกันว่า การทดสอบอาวุธทำลายดาวเทียมในวงโคจรก่ออันตรายในอวกาศ จากการสร้างกลุ่มเมฆเศษชิ้นส่วนที่อาจชนกับวัตถุอื่นๆ ก่อให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ของโพรเจ็กไทล์ทั่ววงโคจรของโลก โจนาธาน แม็กดาวล์ นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์จากฮาร์วาร์ด กล่าวว่า วัตถุชิ้นแรกจากเศษเมฆเศษชิ้นส่วนดาวเทียมอาจเริ่มตกสู่ชั้นบรรยากาศโลกภายใน 1-2 เดือน แต่กว่าชิ้นส่วนเหล่านี้จะหมดไปคงใช้เวลาถึง 10 ปี

กองทัพรัสเซียและกระทรวงกลาโหมรัสเซียยังไม่มีทัศนะต่อเรื่องนี้ แต่สำนักงานอวกาศ รอสคอสมอส ของรัสเซีย โพสต์ข้อความทางทวิตเตอร์แจงว่าไม่ได้มีอันตรายหนักหนานัก วงโคจรของวัตถุที่ทำให้ลูกเรือไอเอสเอสต้องย้ายเข้ายานตามระเบียบปฏิบัติมาตรฐาน ได้เคลื่อนออกจากวงโคจรของไอเอสเอสแล้ว และสถานีอยู่ในโซนปลอดภัย

ปัจจุบันมีไม่กี่ประเทศที่ครอบครองอาวุธต่อต้านดาวเทียม (ASATs) ซึ่งเป็นมิสไซล์เทคโนโลยีขั้นสูง สหรัฐเป็นประเทศแรกที่ทดสอบมิสไซล์ทำลายดาวเทียมเมื่อปี 2502 และสหรัฐยังเคยยิงทำลายดาวเทียมดวงหนึ่งเมื่อปี 2551 เพื่อตอบโต้ที่จีนทดสอบแบบเดียวกันเมื่อปี 2550

ปี 2562 อินเดียยิงทำลายดาวเทียมของตนในวงโคจรต่ำ ซึ่งก่อขยะอวกาศมากมายและทำให้โดนหลายประเทศวิจารณ์ รวมถึงสหรัฐ.

เพิ่มเพื่อน