จับตาวิกฤตการณ์ความอดอยากอีกครั้งของเกาหลีเหนือ

เกาหลีใต้เตือน จะเกิดความอดอยากในเกาหลีเหนือ สาเหตุมาจากการจัดการที่ผิดพลาด ผลของการคว่ำบาตร และนโยบายปิดประเทศของระบอบคอมมิวนิสต์ จะทำให้เกิดภัยพิบัติซ้ำรอยปี 1990 หรือไม่

ในเกาหลีเหนือ คำถามเก่ากำลังหวนกลับมาอีกครั้งว่า ความอดอยากจะเข้าสู่ภาวะวิกฤตอีกเมื่อไหร่ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กระทรวงการรวมชาติของเกาหลีใต้เคยประกาศเตือน ความอดอยากกำลังเกิดขึ้นจริงในพื้นที่ทางตอนเหนือของชายแดนที่ติดอาวุธหนัก จากการวิเคราะห์ การปิดพรมแดนของเกาหลีเหนือและการปิดประเทศเพื่อต่อสู้กับภัยโควิด-19 ทำให้ปัญหาการขาดแคลนอาหารเรื้อรังมีความรุนแรงมากขึ้น คล้ายเหตุการณ์ในช่วงทศวรรษ 1990 ที่ประเมินกันว่ามีผู้คนราว 900,000 ถึง 2,000,000 คนอดตาย

เนื่องจากไม่มีผู้สังเกตการณ์ต่างชาติในเกาหลีเหนือ นอกจากนักการทูตเพียงไม่กี่ชาติ อีกทั้งรัฐบาลในเปียงยางเองก็ทำให้เกิดความกลัวว่าสถานการณ์จะเลวร้ายลง เมื่อเร็วๆ นี้ คิมจองอึนได้เรียกประชุมคณะกรรมการกลางของพรรคแรงงานเพื่อถกกันถึงเรื่องการพัฒนาการเกษตร ประธานาธิบดีคิมเริ่มการประชุมด้วยการเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงการผลิตอย่างเร่งด่วน และจบลงด้วยการเรียกร้องให้สหายเกษตรกรหันมาเน้นการผลิตธัญพืชในปีนี้ทั้งหมด ประธานาธิบดีคิมยังสั่งให้ปรับปรุงระบบชลประทาน สร้างเครื่องจักรกลการเกษตร และสร้างพื้นที่เพาะปลูกให้มากขึ้น ผลผลิตที่เพียงพอของประเทศถือเป็นเป้าหมายระยะยาว

โครงการอาหารโลกของสหประชาชาติเคยทำสำรวจ พบว่าชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในเกาหลีเหนือภายใต้การปกครองของคิมจองอึนเริ่มดีขึ้นบ้างแล้ว แต่จากนั้นกลับย่ำแย่ลงอีกครั้งก่อนเกิดวิกฤตโควิด เมื่อปี 2018 มีเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสำรวจที่ระบุว่าสภาพความเป็นอยู่ไม่ดี ในปี 2019 เพิ่มขึ้นเป็น 11 เปอร์เซ็นต์ และในปี 2021 สูงถึง 71 เปอร์เซ็นต์ จุดชนวนของความถดถอยคือ การทดสอบนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือเมื่อปี 2017 เป็นผลให้การคว่ำบาตรเข้มงวดขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากการนำเข้าที่ลดน้อยลง ปัญหาเดิมเกี่ยวกับเกษตรกรรมยุคก่อนอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของเกาหลีเหนือจึงหวนกลับมาให้เผชิญอีกครั้ง

จากการประเมินของเกาหลีใต้ เชื่อว่าผลผลิตข้าวของเกาหลีเหนือมีประมาณ 4.4 ถึง 4.8 ล้านตันต่อปี ในขณะที่ความต้องการมีสูงถึง 5.5 ล้านตันเพื่อให้เพียงพอต่อประชากร 26 ล้านคน แต่แทนที่คิมจองอึนจะสนใจแก้ปัญหาเรื่องปากท้องของประชาชน เขากลับไปทุ่มเทกับการพัฒนาขีปนาวุธและอาวุธนิวเคลียร์ โดยไม่แยแสแรงกดดันจากนานาชาติ

ทุกวันนี้สิ่งสำคัญที่ยังเหลืออยู่คือความช่วยเหลือจากจีน ซึ่งจนถึงขณะนี้จีนได้ส่งมอบข้าวที่ขาดแคลนให้แล้วประมาณครึ่งหนึ่ง แต่การขนส่งก็ลดลงในช่วงที่เกิดโรคระบาด เนื่องจากเกาหลีเหนือปิดพรมแดนส่วนใหญ่ การนำเข้าเพิ่งเพิ่มจำนวนอีกครั้งตั้งแต่ฤดูใบไม้ร่วงปี 2022 จากข้อมูลของเจ้าหน้าที่ศุลกากรจีนระบุว่า มีการจัดส่งข้าวไปยังเกาหลีเหนือจำนวน 30,000 ตัน นอกจากนั้นยังมีความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากรัสเซียด้วย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ปารมี' รับไม่ได้ รมว.ศธ.หารือ 'ทูตเกาหลี เหนือ'

'ครูจวง' รับไม่ได้ 'รมว.ศึกษาธิการ' หารือ 'ทูตเกาหลีเหนือ' เพื่อเป็นต้นแบบ สะท้อนภาพลักษณ์-แนวคิดอำนาจนิยม ชี้สิ่งที่จะนำมาไม่ได้เรียกว่าวินัย แต่เหมือนกฎที่ถูกล้างสมองมากกว่า