ผู้นำกัวเตมาลาสาบานจะยืนหยัดเคียงข้างไต้หวันในฐานะมิตรแท้

ประธานาธิบดีกัวเตมาลาให้คำมั่นกับรัฐบาลไทเปว่าจะสนับสนุนการเป็นพันธมิตรทางการทูตที่มั่นคงร่วมกัน ในระหว่างการเยือนไต้หวันอย่างเป็นทางการ

ประธานาธิบดีอเลฮานโดร จิอัมมัตเต ของกัวเตมาลา (ยืนกลาง) กล่าวแถลงร่วมกับประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน ของไต้หวัน ระหว่างพิธีต้อนรับทางทหารที่หน้าสำนักประธานาธิบดีในกรุงไทเป เมื่อวันที่ 25 เมษายน (Photo by Sam Yeh / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 25 เมษายน 2566 กล่าวว่า ประธานาธิบดีอเลฮานโดร จิอัมมัตเต ของกัวเตมาลา ซึ่งอยู่ระหว่างปฏิบัติภารกิจในไต้หวัน ได้กล่าวให้คำมั่นต่อรัฐบาลไทเปและประชาชนว่าจะยึดมั่นความสัมพันธ์เหนียวแน่นระหว่างกันไปตลอด

กัวเตมาลาเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ยอมรับอธิปไตยของไต้หวัน และยังคงยึดมั่นความเป็นพันธมิตร ท่ามกลางแรงกดดันจากรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ที่ต้องการกีดกันรัฐบาลไทเปออกจากเวทีระหว่างประเทศ

จีนถือว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งในดินแดนของตนตามนโยบายจีนเดียว และไม่อนุญาตให้ประเทศต่างๆ ยอมรับไต้หวันในฐานะประเทศเอกราช

จิอัมมัตเต ซึ่งเดินทางมาถึงไต้หวันตั้งแต่วันจันทร์ในภารกิจเยือนอย่างเป็นทางการเป็นเวลา 4 วัน ให้คำมั่นว่าจะกระชับความสัมพันธ์อันยาวนานหลายสิบปีของกัวเตมาลากับไต้หวันให้แนบแน่นยิ่งขึ้น ระหว่างร่วมพิธีต้อนรับของกองทัพในกรุงไทเป

"โปรดวางใจได้ว่ากัวเตมาลาจะยังคงยืนหยัดเคียงข้างสาธารณรัฐไต้หวันในฐานะพันธมิตรทางการทูตที่มั่นคง และจะกระชับความสัมพันธ์ในทุกด้าน" เขากล่าว

จิอัมมัตเตเสริมว่า การเยือนของเขาเป็นการรับรองและสนับสนุนแรงบันดาลใจของไต้หวันที่จะเข้าร่วมประชาคมโลกในฐานะชาติอธิปไตย

ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ของไต้หวัน กล่าวขอบคุณผู้นำกัวเตมาลาสำหรับการสนับสนุนของเขา

"ฉันตั้งตารอที่ประเทศของเราทั้งสองจะกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และสำรวจโอกาสเพิ่มเติมสำหรับความร่วมมือผ่านการเยือนครั้งนี้" ไช่ อิงเหวินกล่าว

ประธานาธิบดีกัวเตมาลามีกำหนดจะกล่าวปราศรัยต่อรัฐสภาของไต้หวันและเยี่ยมชมบริษัทเทคโนโลยีในเมืองไถจง นอกจากนี้ เขายังมีกำหนดการเข้าร่วมงานส่งเสริมกาแฟกัวเตมาลา ตามรายงานของสำนักประธานาธิบดีไต้หวัน

รัฐบาลปักกิ่งตำหนิการเดินทางเยือนไต้หวันของจิอัมมัตเต และกล่าวว่ากัวเตมาลาเองก็สนใจจะสานสัมพันธ์กับจีนเหมือนกัน เพราะจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของประเทศแถบอเมริกากลาง

ละตินอเมริกาเป็นสมรภูมิทางการทูตที่สำคัญสำหรับจีนและไต้หวัน นับตั้งแต่ทั้งสองแยกการปกครองกันในปี 2492 หลังสิ้นสุดสงครามกลางเมือง

รัฐบาลปักกิ่งใช้เวลาหลายทศวรรษในการโน้มน้าวใจพันธมิตรทางการทูตของไต้หวันให้เปลี่ยนข้างมายอมรับจีนและทำสำเร็จไปแล้ว 9 ประเทศ นับตั้งแต่ไช่ อิงเหวินก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2559

ล่าสุด ความสัมพันธ์ของไต้หวันกับปารากวัยก็ตกอยู่ในความเสี่ยงเช่นกัน โดยมีรายงานว่า เอฟเรน อเลเกร ผู้นำฝ่ายค้านกล่าวว่า เขาจะเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางการทูตไปหาจีน หากเขาชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ 30 เมษายนนี้.

เพิ่มเพื่อน