นาซาปล่อยดาวเทียมขนาดเล็ก 2 ดวงขึ้นสู่วงโคจร เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวพายุเฮอริเคน

นาซาปล่อยดาวเทียมขนาดเล็ก 2 ดวงที่ออกแบบมาเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวพายุหมุนเขตร้อนแบบชั่วโมงต่อชั่วโมงจากฐานในนิวซีแลนด์

ภาพการเคลื่อนตัวของพายุหมุนเขตร้อนบริเวณมหาสมุทรอินเดีย ที่ถ่ายจากนอกโลกและเผยแพร่โดยองค์การนาซา (Photo by Handout / NASA / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันจันทร์ที่ 8 พฤษภาคม 2566 กล่าวว่า องค์การนาซา (NASA) ปล่อยดาวเทียมขนาดเล็ก 2 ดวงจากฐานปล่อยจรวดในนิวซีแลนด์ เพื่อใช้ในภารกิจติดตามความเคลื่อนไหวของพายุหมุนเขตร้อน

ดาวเทียมขนาดเล็กดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการปรับปรุงการพยากรณ์อากาศสำหรับพายุรุนแรงที่มีอำนาจทำลายล้างสูงอย่างเฮอริเคน, ไต้ฝุ่น หรือไซโคลน

เครื่องติดตามพายุชนิดใหม่ซึ่งถูกปล่อยขึ้นสู่วงโคจรอวกาศพร้อมจรวดที่สร้างโดยบริษัทร็อคเกต แล็บ ของสหรัฐฯ มีความสามารถในการเคลื่อนตัวตามพายุเฮอริเคน (หรือไต้ฝุ่นในมหาสมุทรแปซิฟิก) ได้แบบชั่วโมงต่อชั่วโมง ซึ่งแม่นยำกว่าดาวเทียมปัจจุบันที่ติดตามความเคลื่อนไหวทุกๆ 6 ชั่วโมง

วิล แมคคาร์ตี นักวิทยาศาสตร์ของนาซากล่าวว่า นอกจากนักวิจัยจะสามารถเห็นพายุเคลื่อนตัวเป็นรายชั่วโมงแล้ว ยังสามารถวิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มเติมให้กับดาวเทียมดวงอื่นที่มีอยู่แล้วได้อีกด้วย

นาซามีกำหนดส่งจรวดลำที่สอง พร้อมดาวเทียมขนาดเล็กอีก 2 ดวง ขึ้นสู่วงโคจรในอีกประมาณสองสัปดาห์ เพื่อนำไปรวมกลุ่มกับดาวเทียม 2 ดวงที่ส่งขึ้นไปก่อน ให้กลายเป็นกลุ่มดาวขนาดเล็กที่มีดาวเทียมติดตามพายุ 4 ดวง

ข้อมูลที่ได้มาจะเป็นการรวบรวมเกี่ยวกับปริมาณน้ำฝน, อุณหภูมิ และความชื้น ซึ่งจะสามารถช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ระบุได้ว่าพายุเฮอริเคนจะขึ้นฝั่งที่ใดและจะรุนแรงเพียงใด อีกทั้งยังช่วยให้ผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายฝั่งเตรียมพร้อมสำหรับการอพยพที่อาจเกิดขึ้นได้ดีขึ้น

"องค์กรปฏิบัติการหลายแห่ง เช่น ศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติ, ศูนย์เตือนภัยไต้ฝุ่นร่วม และอีกหลายแห่ง พร้อมที่จะรับข้อมูลและภาพถ่ายเพื่อช่วยในการพยากรณ์" เบน คิม ผู้บริหารโครงการของนาซากล่าว พร้อมเสริมว่า ในระยะยาว ความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับการก่อตัวและวิวัฒนาการของพายุเหล่านี้ จะสามารถช่วยปรับปรุงแบบจำลองสภาพภูมิอากาศได้

เดิมทีโครงการนี้ตั้งใจให้มีดาวเทียม 6 ดวง ไม่ใช่ 4 ดวง แต่ 2 ดวงแรกสูญหายไปกับจรวดแอสตรา (Astra) ของสหรัฐ ที่ทำงานผิดพลาดหลังจากปล่อยขึ้นได้ไม่นานเมื่อปีที่แล้ว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'นาซา' นำเครื่องบินเก็บตัวอย่างอากาศเหนือน่านฟ้าไทย แก้ฝุ่นพิษในระยะยาว

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.)(NARIT) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ร่วม NASA ศึกษาปัญหามลภาวะอากาศในไทย ภายใต้โครงการ Airborne and Satellite Investigation of Asian Air Quality หรือ ASIA-AQ เก็บตัวอย่างอากาศเหนือน่านฟ้าไทย

ครั้งแรกกับหนังอวกาศไทย 'ยูเรนัส2324' ทุ่มทุนสร้างยาน-สถานีอวกาศเท่าของจริง!

เรียกเสียงฮือฮาให้กับแวดวงอุตสาหกรรมหนังไทยไม่น้อย เมื่อได้เห็นภาพยานอวกาศและสถานีอวกาศขนาดเสมือนจริงของภาพยนตร์ “URANUS2324” (ยูเรนัส2324) ที่นำแสดงโดย 2 นักแสดงหญิงสุดฮอต “ฟรีน-สโรชา จันทร์กิมฮะ” และ “เบคกี้-รีเบคก้า แพทริเซีย อาร์มสตรอง” ผลงานมาสเตอร์พีซโดยบริษัท เวลเคิร์ฟ สตูดิโอ กับการทุ่มทุนสร้างโปรดักชันฟอร์มยักษ์ที่สุดแห่งปี เพื่อถ่ายทำซีนบนยานอวกาศและสถานีอวกาศอย่างสมจริง