ขึ้นบัญชีต้องการตัว รัสเซียหมายหัวอัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ

ทางการรัสเซียขึ้นบัญชีอัยการศาลอาญาระหว่างประเทศให้เป็น "บุคคลที่ต้องการตัว" หลังจากศาลในกรุงเฮกออกหมายจับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินเมื่อเดือนมีนาคม

คาริม ข่าน หัวหน้าอัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) ถูกหน่วยงานของรัสเซียขึ้นบัญชีในฐานะบุคคลที่ทางการต้องการตัว (Photo by JOHN THYS / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันเสาร์ที่ 20 พฤษภาคม 2566 กล่าวว่า รัฐบาลมอสโกจัดการขึ้นบัญชีคาริม ข่าน ซึ่งเป็นอัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศและเป็นตัวตั้งตัวตีในการออกหมายจับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ในฐานะอาชญากรสงครามกรณีสั่งการรุนรานประเทศยูเครน รวมทั้งกรณีสั่งการให้พาตัวเด็กในยูเครนไปยังประเทศรัสเซียอย่างผิดกฏหมาย

คาริม ข่านถูกหมายหัวในฐานะบุคคลที่รัสเซียต้องการตัว และรายละเอียดเกี่ยวกับเขาอยู่ในฐานข้อมูลของกระทรวงมหาดไทยเรียบร้อยแล้ว

ข้อมูลระบุว่า คาริม ข่านเป็นชายที่เกิดเมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2513 ในเมืองเอดินเบอระ ประเทศสกอตแลนด์ แต่ไม่มีการระบุถึงความผิดและข้อกล่าวหา

ในเดือนมีนาคม คณะกรรมการสอบสวนของรัสเซียได้เปิดสืบสวนคดีอาญาต่อคาริม อาหมัด ข่าน ซึ่งเป็นอัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศ รวมทั้งผู้พิพากษาอีกหลายคน โดยพิจารณาจากการตัดสินใจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในการออกหมายจับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน รวมถึงความพยายามในการดำเนินคดีทางอาญากับบุคคลที่ทราบดีว่าเป็นผู้บริสุทธิ์และโจมตีตัวแทนของรัฐที่ได้รับการคุ้มครองระดับสากล

นอกจากปูตินแล้ว ศาลฯยังออกหมายจับมาเรีย โลววา-เบโลวา กรรมาธิการสิทธิเด็กประจำสำนักงานประธานาธิบดีรัสเซียในข้อหาเดียวกันอีกด้วย ซึ่งรัฐบาลมอสโกปฏิเสธความเคลื่อนไหวดังกล่าว พร้อมชี้แจงว่า การชี้มูลความผิดต่อผู้นำรัสเซียเป็นโมฆะ เพราะประเทศรัสเซียไม่ได้เป็นภาคีของศาลอาญาระหว่างประเทศ ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการฟ้องข้อกล่าวหาและดำเนินคดี

ทั้งนี้ รัฐบาลเคียฟระบุว่าเด็กยูเครนมากกว่า 16,000 คนถูกนำตัวไปยังรัสเซียนับตั้งแต่เริ่มการสู้รบเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 โดยมีข้อมูลว่าเด็กจำนวนมากถูกส่งไปอยู่ในสถานสงเคราะห์และบ้านอุปถัมภ์ พร้อมความพยายามล้างสมองเด็กเหล่านั้นให้ฝักใฝ่สหพันธรัฐรัสเซีย

ขณะที่ยูเครนประกาศยินดีต่อความเคลื่อนไหวของศาลอาญาระหว่างประเทศ โดยประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ยกย่องว่าเป็น "การตัดสินใจครั้งประวัติศาสตร์" เช่นเดียวกับพันธมิตรตะวันตกของยูเครนอย่างสหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, สหภาพยุโรป และองค์กรสิทธิมนุษยชน ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นยกย่องการกระทำของศาลฯ

อย่างไรก็ตาม ศาลอาญาระหว่างประเทศไม่มีอำนาจในการจับกุมด้วยตนเอง ดังนั้นการดำเนินการตามหมายจับจึงขึ้นอยู่กับความร่วมมือระหว่างประเทศของบรรดาสมาชิกภาคี.

เพิ่มเพื่อน