ยังคงค้นหาเรือดำน้ำที่สูญหายแม้ไม่มีความคืบหน้า หลังเส้นตายออกซิเจนหมด

ภารกิจช่วยเหลือระดับสากลกรณีค้นหาเรือดำน้ำท่องเที่ยวที่หายไปใกล้กับซากเรือไททานิค ยังคงมุ่งเน้นไปที่การช่วยชีวิตผู้โดยสารทั้ง 5 คน แม้หวั่นใจว่าออกซิเจนสำรองในเรืออาจหมดลงแล้วก็ตาม

ภาพผู้โดยสารทั้ง 5 คนที่หายไปพร้อมเรือดำน้ำท่องเที่ยว 'ไททัน' (ซ้าย-ขวา จากบนลงล่าง) ฮามิช ฮาร์ดิง มหาเศรษฐีชาวอังกฤษ, สต็อกตัน รัช ซีอีโอของบริษัทเรือโอเชียนเกตฯ, ปอล อองรี นาร์โฌเลต์ นักดำน้ำและผู้เชี่ยวชาญด้านซากเรือไททานิกระดับโลก และชาห์ซาดา ดาวูด มหาเศรษฐีชาวปากีสถาน กับสุเลมาน ดาวูด (เสื้อแดง) ลูกชายของเขา (Photo by Joël SAGET and Handout / various sources / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 มิถุนายน 2566 กล่าวว่า ภารกิจค้นหาเรือดำน้ำท่องเที่ยว 'ไททัน' ที่หายไปขณะดำดิ่งชมซากเรือไททานิคในมหาสมุทรแอตแลนติกตั้งแต่วันอาทิตย์ ยังคงดำเนินต่อไปแม้ไม่มีเบาะแสเพิ่มเติม ขณะที่ความกังวลด้านความปลอดภัยเริ่มคืบคลานเข้ามาหลังพ้นเส้นตายที่ออกซิเจนสำรองในเรือหมดลง

จากความสามารถของเรือดำน้ำที่สามารถกักเก็บอากาศฉุกเฉินได้นานถึง 96 ชั่วโมง หน่วยกู้ภัยคาดการณ์ว่าผู้โดยสารอาจไม่มีออกซิเจนสำหรับหายใจในช่วงเช้าตรู่ของวันพฤหัสบดี

หน่วยยามฝั่งสหรัฐกล่าวว่า แม้เส้นตายออกซิเจนจะผ่านไปแล้ว แต่ทีมค้นหายังคงมีความหวังและความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่

"เจตจำนงในการดำรงชีวิตของผู้คนจำเป็นต้องได้รับการพิจารณาด้วยเช่นกัน ดังนั้นเราจึงยังคงค้นหาและดำเนินการช่วยเหลือต่อไป" หน่วยยามฝั่งสหรัฐกล่าวกับสื่อโทรทัศน์

เมื่อ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีรายงานจากเครื่องบิน P-3 ของแคนาดาที่ร่วมปฏิบติภารกิจค้นหา ตรวจพบเสียงดังมาจากจุดหนึ่ง หน่วยกู้ภัยภาคพื้นทะเลจึงส่งยานควบคุมระยะไกล (อาร์โอวี) 2 ลำที่มีความสามารถค้นหาใต้น้ำ ไปยังบริเวณดังกล่าวทันที พร้อมเรือผิวน้ำ 1 ลำที่มีความสามารถในการสะท้อนคลื่นเสียงโซนาร์

แต่การค้นหาด้วยยานควบคุมระยะไกลนั้นไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ ขณะที่ข้อมูลเสียงจากเครื่องบินของแคนาดาได้แบ่งปันกับผู้เชี่ยวชาญของกองทัพเรือสหรัฐฯ เพื่อวิเคราะห์และจำแนกว่าเป็นเสียงประเภทใดกันแน่

อุปกรณ์และบุคลากรจากทุกภาคส่วนถูกระดมเข้าร่วมปฏิบัติการกู้ภัยตลอด 2 วันที่ผ่านมา รวมถึงเครื่องบินทหารของสหรัฐฯและแคนาดา, เรือยามชายฝั่ง และหุ่นยนต์นำทาง

เบาะแสล่าสุดที่ยังไม่มีความคืบหน้าคือ การที่คลื่นโซนาร์จับสัญญาณรบกวนใต้น้ำที่ไม่สามารถระบุได้ในบริเวณหนึ่งของมหาสมุทร และทีมค้นหาได้มุ่งไปยังจุดดังกล่าว พร้อมใช้หุ่นยนต์ไร้คนขับในการดำดิ่งค้นหา ซึ่งเริ่มปฏิบัติการทันทีหลังถึงพื้นมหาสมุทร ขณะที่เรือบรรทุกเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์กำลังเดินทางไปสมทบ

อย่างไรก็ตาม แม้เสียงดังกล่าวจะปลุกความหวังว่าผู้โดยสารบนเรือดำน้ำท่องเที่ยวลำนี้ยังคงมีชีวิตอยู่ แต่โอกาสผิดหวังก็มีสูงเช่นกัน เพราะไม่มีข้อมูลยืนยันแหล่งที่มาของเสียงว่ามาจากเรือลำดังกล่าวจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงเสียงอื่นใต้ท้องทะเล.

เพิ่มเพื่อน