ไซโคลนถล่มบังกลาเทศ เกือบล้านคนอพยพหาที่หลบภัย

พายุไซโคลนริมาลขึ้นฝั่งบังกลาเทศ ส่งผลให้ผู้คนเกือบล้านต้องอพยพหนีหาที่หลบภัย เช่นเดียวกับบางส่วนในอินเดีย

ผู้คนรวมตัวกันตามชายฝั่งทะเลท่ามกลางคลื่นสูงจากอิทธิพลของพายุไซโคลนริมาล ในเมืองกัวกาตา ทางตอนใต้ของประเทศบังกลาเทศ เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม (Photo by Munir UZ ZAMAN / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม 2567 กล่าวว่า พายุไซโคลนลูกหนึ่งพัดขึ้นฝั่งบังกลาเทศเมื่อวันอาทิตย์ และส่งผลให้ผู้คนเกือบล้านคนต้องหลบหนีออกจากถิ่นที่อยู่ซึ่งได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของพายุดังกล่าว

อาซิซูร์ เราะห์มาน ผู้อำนวยการกรมอุตุนิยมวิทยาบังกลาเทศ กล่าวว่า "พายุไซโคลนริมาล (Remal) กำลังรุนแรงได้เคลื่อนตัวข้ามชายฝั่งบังกลาเทศแล้ว จนถึงขณะนี้ความเร็วลมสูงสุดที่บันทึกได้อยู่ที่ 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก" พร้อมเสริมว่า พายุลูกใหญ่นี้อาจพัดถล่มชายฝั่งต่อไปจนกว่าจะถึงช่วงเช้าตรู่ของวันจันทร์เป็นอย่างน้อย

นักพยากรณ์อากาศคาดการณ์ว่าจะมีลมกระโชกแรงถึง 130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยมีฝนตกหนักและกระแสลมแรงพัดกระหน่ำประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินเดียด้วยเช่นกัน

ล่าสุด เจ้าหน้าที่ทางการบังกลาเทศได้ยกระดับสัญญาณเตือนภัยขึ้นสู่ระดับอันตรายสูงสุดแล้ว

ช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา พายุไซโคลนคร่าชีวิตผู้คนไปหลายแสนคนในบังกลาเทศ แต่จำนวนซูเปอร์สตอร์มที่พัดถล่มชายฝั่งที่มีประชากรหนาแน่นได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากหนึ่งลูกต่อปีเป็นสามลูกต่อปี เนื่องจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

"พายุไซโคลนลูกนี้อาจทำให้เกิดคลื่นสูงถึง 12 ฟุต (4 เมตร) เหนือระดับน้ำปกติ ซึ่งอาจเป็นอันตรายได้" มูฮัมหมัด อาบุล กาลาม มัลลิค เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านสภาพอากาศของบังกลาเทศกล่าวกับเอเอฟพี

ทั้งนี้ พื้นที่ชายฝั่งทะเลส่วนใหญ่ของบังกลาเทศมักอยู่เหนือระดับน้ำทะเลแค่หนึ่งหรือสองเมตร ดังนั้นคลื่นพายุที่สูงสามารถทำลายล้างทั้งหมู่บ้านได้

คัมรุล ฮาซัน รัฐมนตรีจัดการภัยพิบัติของบังกลาเทศกล่าวว่า ผู้คนได้รับคำสั่งให้ย้ายออกจากบ้านที่ไม่ปลอดภัยและเปราะบาง

"ประชาชนอย่างน้อย 800,000 คนจำเป็นต้องย้ายไปยังศูนย์หลบภัยจากพายุไซโคลน" ฮาซันกล่าว

เจ้าหน้าที่ได้ระดมอาสาสมัครหลายหมื่นคนเพื่อแจ้งเตือนผู้คนเกี่ยวกับอันตรายของพายุ แต่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นกล่าวว่า หลายคนเลือกอยู่บ้านมากกว่าอพยพหนี เพราะเป็นห่วงทรัพย์สิน

หน่วยงานภัยพิบัติได้จัดเตรียมที่พักพิงประมาณ 4,000 แห่งไว้แล้ว ตามแนวชายฝั่งที่ทอดยาวบนอ่าวเบงกอล ขณะที่ท่าเรือ 3 แห่งของประเทศและท่าอากาศยานในเมืองจิตตะกองที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศก็ถูกระงับการให้บริการชั่วคราว

นอกจากนี้ การมาของไซโคลนยังทำให้ผู้คนมากกว่า 50,000 คนในอินเดียต้องอพยพหนีจากพื้นที่ราบลุ่มชายทะเลเข้าสู่เขตเมืองแล้วเช่นกัน ขณะที่สนามบินโกลกาตาของอินเดียก็ปิดทำการเมื่อวันอาทิตย์เพื่อหนีพายุ ส่วนกองทัพเรืออินเดียได้เตรียมเรือ 2 ลำพร้อมสิ่งของช่วยเหลือและเวชภัณฑ์ไว้สำหรับการตอบสนองสถานการณ์ฉุกเฉินได้ทันท่วงที

แม้นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังกระตุ้นให้เกิดพายุมากขึ้นเรื่อยๆ แต่การคาดการณ์ที่ดีขึ้นและการวางแผนอพยพที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น จะสามารถช่วยให้ความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินลดจำนวนลงได้อย่างมาก.

เพิ่มเพื่อน