มูฮัมหมัด ยูนุส สาบานตนเข้ารับตำแหน่งผู้นำรัฐบาลรักษาการของบังกลาเทศ

มูฮัมหมัด ยูนุส สาบานตนเข้ารับตำแหน่งผู้นำรักษาการของบังกลาเทศเมื่อวันพฤหัสบดี โดยให้คำมั่นที่จะนำพาประเทศกลับสู่ระบอบประชาธิปไตย หลังเกิดการลุกฮือของกลุ่มนักศึกษาจนอดีตนายกรัฐมนตรีหญิงชีค ฮาซีนา ต้องหลบหนีออกนอกประเทศ

มูฮัมหมัด ยูนุส (เสื้อกั๊กสีขาว) สาบานตนเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าที่ปรึกษาของรัฐบาลรักษาการบังกลาเทศชุดใหม่ ในกรุงธากา เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม โดยมีประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด ชาฮาบุดดิน (ซ้าย) เป็นประธานดำเนินการในพิธีดังกล่าว (Photo by Munir UZ ZAMAN / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม 2567 กล่าวว่า มูฮัมหมัด ยูนุส ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ได้เดินทางกลับจากต่างประเทศและเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งผู้นำรักษาการของบังกลาเทศทันที โดยให้คำมั่นที่จะนำพาประเทศกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงอีกครั้ง

ยูนุสประกาศว่าจะ "รักษา, สนับสนุน และปกป้องรัฐธรรมนูญ" ต่อหน้าผู้นำทางการเมืองและพลเรือน, นายพลทหาร และนักการทูตต่างประเทศ ที่ทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงธากา

"วันนี้เป็นวันอันรุ่งโรจน์สำหรับเรา บังกลาเทศได้สร้างวันแห่งชัยชนะใหม่ บังกลาเทศได้รับเอกราชครั้งที่สองแล้ว" ยูนุส วัย 84 ปี กล่าว

นอกจากนี้ ยูนุสต้องการให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันฟื้นฟูความสงบเรียบร้อยในประเทศ หลังเกิดความรุนแรงหลายสัปดาห์ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 455 ราย โดยเรียกร้องให้ประชาชนปกป้องซึ่งกันและกัน รวมถึงชนกลุ่มน้อยที่ถูกโจมตี

"กฎหมายและระเบียบเป็นภารกิจแรกของเรา เพราะเราจะไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้เลยเว้นแต่ว่าเราจะแก้ไขสถานการณ์ของกฎหมายและระเบียบเสียก่อน" เขากล่าว

"ผมขอเรียกร้องให้ประชาชนเชื่อมั่นว่า หากคุณไว้ใจผม ก็ขอให้มั่นใจว่าจะไม่มีการโจมตีใครก็ตามในทุกพื้นที่ของประเทศ เพราะทุกคนคือพี่น้องของเรา ภารกิจของเราคือการปกป้องพวกเขา" ยูนุสกล่าว และเสริมว่า "ชาวบังกลาเทศทั้งหมดคือครอบครัวเดียวกัน"

ตำแหน่งผู้นำรักษาการของเขาคือหัวหน้าที่ปรึกษาในการบริหารประเทศ และสมาชิกคณะทำงานของเขามากกว่า 12 คนก็ได้รับตำแหน่งที่ปรึกษา และเข้าร่วมพิธีสาบานตนไปพร้อมกัน โดยตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีนั้นจะมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น

คณะทำงานดังกล่าวมีผู้นำระดับสูง 2 คนของกลุ่มนักศึกษา 'Students Against Discrimination' ที่เป็นแกนนำการประท้วงยาวนานหลายสัปดาห์ ได้แก่ นาฮิด อิสลาม และอาซิฟ มาห์มูด

ส่วนคนอื่นๆ ได้แก่ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ, อดีตอัยการสูงสุด, ทนายความด้านสิ่งแวดล้อม และอาดิลูร์ ราห์มัน ข่าน นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนที่มีชื่อเสียงซึ่งถูกตัดสินจำคุก 2 ปีในสมัยที่ฮาซีนาปกครอง

ทั้งนี้ อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงชีค ฮาซีนาซึ่งถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางรวมถึงการจำคุกคู่ต่อสู้ทางการเมืองของเธอ ถูกบังคับให้หลบหนีไปยังอินเดียตั้งแต่วันจันทร์ ขณะที่ผู้ประท้วงจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามาบนท้องถนนในกรุงธากา

จากนั้น กองทัพก็ตกลงตามข้อเรียกร้องของนักศึกษาที่จะให้ยูนุส ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลในปี 2549 เป็นผู้นำรัฐบาลรักษาการ

ยูนุสยังได้กล่าวยกย่องกลุ่มเยาวชนที่จุดชนวนให้เกิดการประท้วงและยอมแลกทุกอย่างเพื่อความปรารถนาในการเปลี่ยนแปลงประเทศ

นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินเดีย ได้ร่วมแสดงความปรารถนาดีแก่ยูนุส และพร้อมทำงานร่วมกันในฐานะรัฐบาลอันชอบธรรม

สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปก็แสดงความพร้อมที่จะทำงานร่วมกับรัฐบาลรักษาการของบังกลาเทศเช่นกัน

ในช่วงที่ฮาซีนาครองอำนาจ ยูนุสถูกดำเนินคดีอาญามากกว่า 100 คดี และถูกใส่ร้ายป้ายสีจากหน่วยงานอิสลามของรัฐที่กล่าวหาว่าเขาส่งเสริมพฤติกรรมรักร่วมเพศ

ยูนุสเดินทางไปต่างประเทศในปีนี้โดยได้รับการประกันตัวหลังจากถูกตัดสินจำคุก 6 เดือนในข้อกล่าวหาที่ถูกประณามว่ามีแรงจูงใจทางการเมือง แต่หลังจากฮาซีนาพ้นอำนาจ ศาลในกรุงธากาก็ตัดสินให้เขาพ้นผิดจากข้อกล่าวหาดังกล่าวเมื่อวันพุธ

ชาวบังกลาเทศต่างคาดหวังอนาคตใหม่หลังจากนี้ โดยนักการเมืองสำคัญหลายคนก็พร้อมสร้างรากฐานประชาธิปไตยใหม่ไปกับรัฐบาลรักษาการ

เหตุการณ์ในวันจันทร์เป็นจุดสูงสุดของความไม่สงบที่กินเวลานานกว่าหนึ่งเดือน โดยเริ่มต้นจากการประท้วงแผนโควตาสำหรับตำแหน่งงานของรัฐบาล แต่สุดท้ายกลายมาเป็นการเคลื่อนไหวต่อต้านฮาซีนา

นักวิเคราะห์กล่าวว่า การประท้วงดังกล่าวเป็นช่วงเวลาสำคัญในประวัติศาสตร์บังกลาเทศ เพราะประเทศนี้เสี่ยงที่จะกลายเป็นรัฐพรรคเดียว และด้วยการเคลื่อนไหวบนท้องถนนอย่างสันติที่นำโดยนักศึกษาเจน Z พวกเขาก็สามารถบีบบังคับให้ฮาซีนาออกจากอำนาจที่ครอบครองมายาวนานกว่า 15 ปีได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

วิสาหกิจเพื่อสังคม องค์กรน้ำดีที่รอวันเติบโต

วิสาหกิจเพื่อสังคม (social enterprise) หรือ องค์กรที่ประกอบธุรกิจเพื่อช่วยเหลือสังคม นับเป็นองค์กรประเภทหนึ่งที่มีบทบาทในนำแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainable development) ไปปฏิบัติอย่างแท้จริงได้ ในช่วงเวลา ๒-๓ ทศวรรษที่ผ่านมา วิสาหกิจเพื่อสังคมในหลายประเทศทั่วโลกที่ได้รับการสนับสนุนอย่างเหมาะสมพิสูจน์ให้เห็นว่า การประกอบธุรกิจขององค์กรสามารถช่วยเหลือสังคมได้จริง ตัวอย่างเช่น ธนาคารกรามีน (Grameen Bank) ในประเทศบังกลาเทศ