เสียชีวิต 15 ราย เหตุเหยียบกันตายในเทศกาลฮินดูครั้งใหญ่ของอินเดีย

เหตุการณ์เหยียบกันตายก่อนรุ่งสางที่งานชุมนุมทางศาสนาที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 15 รายในอินเดีย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกจำนวนมาก

เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยกำลังเคลื่อนย้ายผู้แสวงบุญที่ได้รับบาดเจ็บออกจากจุดเกิดเหตุเหยียบกันตายในงานเทศกาลกุมภะเมลาที่เมืองประยาคราช รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 29 มกราคม (Photo by ARUN SANKAR / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 29 มกราคม 2568 กล่าวว่า เทศกาลกุมภะเมลา (Kumbh Mela) ซึ่งเป็นกิจกรรมการแสวงบุญสำคัญในศาสนาฮินดู เริ่มขึ้นในอินเดียตั้งแต่ช่วงกลางเดือน โดยมีผู้แสวงบุญจำนวนมากเดินทางมายังสถานที่ที่เรียกว่า "สังคัม" ซึ่งเป็นสถานที่ที่แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์สำคัญ 3 สายไหลมาบรรจบกัน คือ แม่น้ำคงคา, แม่น้ำยมุนา และแม่น้ำสรัสวดี ซึ่งจุดดังกล่าวอยู่ในรัฐอุตตรประเทศ

ผู้จัดงานกุมภะเมลาในปีนี้ประเมินว่าจะมีจำนวนผู้เข้าร่วมประมาณ 350 ถึง 400 ล้านคนตลอดระยะเวลาเทศกาลที่จะจัดไปจนถึงวันที่ 26 กุมภาพันธ์

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่มีคนมารวมตัวกันมหาศาลมักตามมาด้วยเหตุการณ์เสียชีวิตซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งโดยเฉพาะในงานเทศกาลทางศาสนาของอินเดีย

ล่าสุด ก่อนรุ่งสางของวันพุธที่งานชุมนุมทางศาสนาที่ใหญ่ที่สุดในโลกนี้ เกิดเหตุเหยียบกันตายที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 15 รายและมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกจำนวนมาก หลังจากที่ฝูงชนแห่กันออกมาจากแนวกั้นของตำรวจ และเหยียบย่ำกันเอง

ในขณะที่ผู้แสวงบุญส่วนหนึ่งแห่กันไปทำพิธีอาบน้ำศักดิ์สิทธิ์ในแม่น้ำ ผู้แสวงบุญบางส่วนที่กำลังนอนหลับหรือนั่งอยู่บนพื้นใกล้แม่น้ำเล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังว่าพวกเขาถูกเหยียบย่ำโดยผู้ศรัทธาจำนวนมหาศาลที่มุ่งหน้ามาหาพวกเขาในความมืด

"ผมนั่งอยู่ใกล้ๆ กับราวกั้นที่ตำรวจตั้งไว้ และระหว่างที่คนเบียดเสียดกัน ฝูงชนทั้งหมดก็ล้มทับผม และเหยียบย่ำผมขณะที่คนเบียดเสียดไปข้างหน้า" เรนู เทวี วัย 48 ปี ให้ข้อมูลกับเอเอฟพี และเสริมว่า "เมื่อฝูงคนล้นทะลัก ผู้สูงอายุและสตรีถูกทับตาย และไม่มีใครออกมาช่วยเหลือ"

ทีมกู้ภัยวุ่นวายกับการนำผู้ประสบภัยออกจากจุดเกิดเหตุ ขณะที่ตำรวจถูกพบเห็นว่ากำลังหามเปลซึ่งบรรจุร่างเหยื่อที่ถูกห่อหุ้มด้วยผ้าห่มหนา

แพทย์จากโรงพยาบาลที่ดูแลผู้รอดชีวิตกล่าวกับเอเอฟพีว่า "มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 15 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกหลายสิบคน"

เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถยืนยันจำนวนผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการจากเหตุเหยียบกันตายซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 01.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของวันพุธ

นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดียกล่าวว่า เหตุครั้งนี้เป็นเรื่องน่าเศร้าอย่างยิ่ง และแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิต

ครอบครัวและญาติพี่น้องหลายสิบคนกำลังรอฟังข่าวอย่างกระวนกระวายใจอยู่ด้านนอกเต็นท์ขนาดใหญ่ที่โรงพยาบาลสร้างขึ้นเพื่อใช้ในงานเทศกาลโดยเฉพาะและอยู่ห่างจากจุดเกิดภัยพิบัติประมาณ 1 กิโลเมตร

เทศกาลกุมภะเมลาซึ่งกินเวลาหกสัปดาห์ ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญที่สุดในปฏิทินทางศาสนาฮินดู

วันพุธถือเป็นวันศักดิ์สิทธิ์วันหนึ่งของเทศกาล โดยนักบวชที่สวมเสื้อผ้าสีเหลืองจะนำผู้คนนับล้านเข้าร่วมพิธีชำระบาปโดยการอาบน้ำที่จุดบรรจบของแม่น้ำคงคาและแม่น้ำยมุนา

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ได้เดินรณรงค์เชิญชวนผู้แสวงบุญให้หลีกเลี่ยงบริเวณที่เกิดภัยพิบัติและไปอาบน้ำในสถานที่อื่นแทน

เจ้าหน้าที่งานเทศกาลคนหนึ่งกล่าวด้วยเสียงที่ดังก้องผ่านเครื่องขยายเสียงว่า "พวกเราขอร้องอย่างนอบน้อมต่อผู้ศรัทธาว่า อย่าไปที่จุดอาบน้ำหลักและโปรดให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยด้วย"

รัฐบาลท้องถิ่นของอุตตรประเทศ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดงานเทศกาลดังกล่าว กล่าวว่า มีผู้คนหลายล้านคนลงเล่นน้ำในแม่น้ำตั้งแต่เที่ยงคืนจนถึงเช้ามืด ขณะที่เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์กำลังรักษาผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากเหตุการณ์ดังกล่าว และเสริมว่าสถานการณ์ "อยู่ภายใต้การควบคุม" แล้ว

ราหุล คานธี ผู้นำฝ่ายค้านของอินเดียตำหนิภัยพิบัติครั้งนี้ว่าเกิดจากการบริหารจัดการฝูงชนที่ไม่ดี โดยเน้นความสะดวกสบายของผู้แสวงบุญที่มีชื่อเสียงเป็นหลัก

"การบริหารจัดการที่ผิดพลาดและการที่ฝ่ายบริหารมุ่งเน้นเป็นพิเศษไปที่การเคลื่อนย้ายของบุคคลสำคัญแทนที่จะเป็นผู้ศรัทธาทั่วไปคือสาเหตุของเหตุการณ์ที่น่าเศร้าใจนี้" เขาแสดงความเห็นผ่านโซเชียลมีเดีย

เพื่อตระหนักถึงความเสี่ยงของอุบัติเหตุร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นกับฝูงชน ในปีนี้ ตำรวจจึงได้ติดตั้งกล้องวงจรปิดหลายร้อยตัวที่บริเวณงานเทศกาลและบนถนนที่นำไปสู่บริเวณค่ายพักแรมที่กว้างขวาง โดยติดตั้งไว้บนเสาและโดรนเหนือศีรษะจำนวนหลายลำ

เครือข่ายการเฝ้าระวังป้อนข้อมูลเข้าสู่ศูนย์ควบคุมและสั่งการ ซึ่งมีไว้เพื่อแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่หากกลุ่มคนบางส่วนรวมตัวกันมากจนอาจเป็นภัยคุกคามความปลอดภัย

ทั้งนี้ ในวันหนึ่งของเทศกาลกุมภะเมลาปี 1954 ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับฝูงชนที่สร้างความสูญเสียครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของโลก เคยมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 400 รายภายในวันเดียวจากเหตุเหยียบย่ำหรือจมน้ำเสียชีวิตในงานดังกล่าว.

เพิ่มเพื่อน