ยามฝั่งฟิลิปปินส์ประณามการคุกคามของเฮลิคอปเตอร์จีน เหนือน่านน้ำพิพาท

หน่วยยามฝั่งฟิลิปปินส์ประณามการซ้อมรบของกองทัพเรือจีน ที่คุกคามด้วยการใช้เฮลิคอปเตอร์บินเข้าใกล้เครื่องบินตรวจการณ์ฟิลิปปินส์ที่บรรทุกนักข่าวกลุ่มหนึ่ง เหนือแนวปะการังสการ์โบโรห์ที่เป็นข้อพิพาท

เฮลิคอปเตอร์ที่หน่วยยามชายฝั่งฟิลิปปินส์ระบุว่าเป็นของกองทัพเรือจีนบินใกล้เครื่องบินของสำนักงานประมงและทรัพยากรน้ำของฟิลิปปินส์ ระหว่างเที่ยวบินลาดตระเวนทางอากาศที่บริเวณแนวปะการังสการ์โบโรห์ ในทะเลจีนใต้ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ (Photo by Jam STA ROSA / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 18 กุมภาพันธ์ 2568 กล่าวว่า กองทัพเรือจีนทำการซ้อมรบบริเวณน่านน้ำที่เป็นข้อพิพาทกับฟิลิปปินส์ และใช้เฮลิคอปเตอร์คุกคามด้วยการบินเข้าใกล้เครื่องบินตรวจการณ์ของฟิลิปปินส์ที่บรรทุกนักข่าวกลุ่มหนึ่ง ในระยะ 3 เมตร

หน่วยยามฝั่งฟิลิปปินส์ได้ออกมาประณามการกระทำดังกล่าวว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะเฮลิคอปเตอร์ของจีนเข้าใกล้เครื่องบินของสำนักงานประมงฟิลิปปินส์ในระยะที่ใกล้มาก โดยเครื่องบินฟิลิปปินส์ทรงตัวอยู่เหนือน่านน้ำของแนวปะการังสการ์โบโรห์ประมาณ 213 เมตร เพื่อปฏิบัติภารกิจสังเกตการณ์เรือจีนในบริเวณดังกล่าว

ช่างภาพของเอเอฟพีที่อยู่บนเที่ยวบินของฟิลิปปินส์บรรยายว่าเห็นเฮลิคอปเตอร์ไล่ตามเครื่องบินก่อนจะเข้าใกล้ปีกซ้าย ซึ่งใกล้พอที่จะมองเห็นเจ้าหน้าที่บนเครื่องกำลังถ่ายวิดีโอพวกเขา

"เมื่อเวลาประมาณ 08.39 น. เฮลิคอปเตอร์ของกองทัพเรือปลดปล่อยประชาชนจีนบินหลบเลี่ยงเครื่องบินของเรา ซึ่งการกระทำที่ประมาทเลินเล่อนี้ก่อให้เกิดความเสี่ยงอย่างร้ายแรงต่อความปลอดภัยของนักบินและผู้โดยสารระหว่างเที่ยวบินตรวจการณ์ที่มีพลเรือนโดยสารมาด้วย" แถลงการณ์ของหน่วยยามฝั่งระบุ

แนวปะการังและโขดหินรูปสามเหลี่ยมในทะเลจีนใต้เป็นจุดชนวนความขัดแย้งระหว่างสองประเทศมาตั้งแต่จีนยึดครองแนวปะการังดังกล่าวจากฟิลิปปินส์ในปี 2012

เหตุการณ์ล่าสุดนี้เกิดขึ้นไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์หลังจากออสเตรเลียตำหนิรัฐบาลปักกิ่งเกี่ยวกับพฤติกรรมทางทหารที่ "อาจก่ออันตราย" โดยกล่าวหาว่าเครื่องบินรบของจีนปล่อยพลุสัญญาณใส่เครื่องบินตรวจการณ์ที่กำลังลาดตระเวนเหนือทะเลจีนใต้ ภายในระยะ 30 เมตร

โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีนโต้ว่า เครื่องบินของออสเตรเลียบุกรุกเข้ามาในน่านฟ้าบริเวณหมู่เกาะซีซาของจีนโดยเจตนา (ชื่อที่จีนเรียกหมู่เกาะพาราเซล) ซึ่งเวียดนามและไต้หวันอ้างสิทธิ์เช่นกัน

จีนอ้างสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด แม้ว่าในปี 2016 จะมีคำตัดสินระหว่างประเทศว่าการอ้างเหล่านั้นไม่มีพื้นฐานทางกฎหมายก็ตาม

แนวปะการังสการ์โบโรห์ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากเกาะลูซอนของฟิลิปปินส์ไปทางตะวันตก 240 กิโลเมตร และห่างจากเกาะไหหลำซึ่งเป็นแผ่นดินใหญ่ที่ใกล้ที่สุดของจีนเกือบ 900 กิโลเมตร เป็นสถานที่ที่เกิดการเผชิญหน้ากันหลายครั้ง เนื่องจากรัฐบาลมะนิลาได้ส่งเสบียงให้ชาวประมงฟิลิปปินส์ในพื้นที่ดังกล่าว

ในเดือนธันวาคม ฟิลิปปินส์กล่าวว่าหน่วยยามชายฝั่งของจีนได้ยิงปืนแรงดันน้ำเข้าใส่และเฉี่ยวเรือของกรมประมง

โดยรัฐบาลมะนิลาเผยแพร่คลิปวิดีโอที่แสดงให้เห็นเรือหน่วยยามชายฝั่งของจีนยิงน้ำเข้าใส่เรือ 'BRP Datu Pagbuaya' และฟุตเทจอื่นๆ ที่ถ่ายจากเรือฟิลิปปินส์เผยให้เห็นลูกเรือตะโกนว่า "ชนแล้ว! ชนแล้ว!" ขณะที่เรือจีนซึ่งลำใหญ่กว่ามากแล่นเข้าใกล้ด้านขวาของเรือฟิลิปปินส์ก่อนพุ่งชน

รัฐบาลมะนิลาและพันธมิตรตามสนธิสัญญาอย่างรัฐบาลวอชิงตันได้กระชับความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นตั้งแต่ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอสของฟิลิปปินส์เข้ารับตำแหน่งในปี 2022 และเริ่มผลักดันการอ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้สู้กับจีน

ฟิลิปปินส์กล่าวเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาว่า จะจัดหาระบบขีปนาวุธไทฟอนของสหรัฐฯ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการรักษาผลประโยชน์ทางทะเล

ระบบขีปนาวุธพิสัยกลางซึ่งติดตั้งในช่วงต้นปี 2024 สำหรับการฝึกซ้อมทางทหารร่วมกันประจำปี มีพิสัย 300 ไมล์ (480 กิโลเมตร) แม้ว่าจะมีการพัฒนาเวอร์ชันพิสัยไกลกว่านี้ก็ตาม

พลโทรอย กาลิโด ผู้บัญชาการกองทัพบกฟิลิปปินส์กล่าวว่าระบบขีปนาวุธไทฟอน "จะช่วยปกป้องทรัพย์สินลอยน้ำของเรา" ซึ่งหมายถึงเรือของกองทัพเรือฟิลิปปินส์, หน่วยยามฝั่ง และเรือลำอื่นๆ

ขณะที่จีนเตือนว่าการนำระบบดังกล่าวมาใช้อาจก่อให้เกิด "การแข่งขันทางอาวุธ" อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้.

เพิ่มเพื่อน