คณะทหารเมียนมาจะจัดการเลือกตั้งในเดือนธันวาคมหรือมกราคม แม้ประเทศกำลังอยู่ในภาวะสงครามนับตั้งแต่กองทัพทำการรัฐประหารในปี 2021

(Photo by AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันเสาร์ที่ 8 มีนาคม 2568 กล่าวว่า มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลและผู้บัญชาการคณะทหารเมียนมา วางแผนจัดการเลือกตั้งในเดือนธันวาคมปีนี้ หรือมกราคมปีหน้า แม้ประเทศยังคงอยู่ในภาวะสงครามนับตั้งแต่กองทัพทำการรัฐประหารในปี 2021
"เรากำลังวางแผนที่จะจัดการเลือกตั้งในเดือนธันวาคม 2025 หรือภายในเดือนมกราคม 2026" พลเอกมิน อ่อง หล่ายกล่าว ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ Global New Light of Myanmar ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันเสาร์
เขากล่าวระหว่างการเยือนเบลารุสอย่างเป็นทางการว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นไปอย่างเสรีและยุติธรรม โดยพรรคการเมืองจำนวน 53 พรรคได้ส่งรายชื่อเพื่อยืนยันการเข้าร่วมแล้ว
ระหว่างการประชุมกับประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก ในกรุงมินสค์ มิน อ่อง หล่าย ยังได้เชิญคณะสังเกตการณ์จากเบลารุสให้มาสังเกตการณ์การเลือกตั้งดังกล่าวด้วย
กองทัพเมียนมายึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนในปี 2021 โดยอ้างอย่างไม่มีหลักฐานว่ามีการทุจริตการเลือกตั้งครั้งใหญ่ในการเลือกตั้งปี 2020 ซึ่งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของอองซานซูจี ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย
นับจากนั้นเป็นต้นมา กองทัพได้ทำการปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างนองเลือด และในขณะที่การต่อสู้กับฝ่ายต่อต้านด้วยความรุนแรงในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศได้ทำให้แผนการเลือกตั้งใหม่ซึ่งนักวิจารณ์ระบุว่าจะไม่เสรีและไม่ยุติธรรมต้องล่าช้าออกไปหลายครั้ง
ปัจจุบันคณะทหารกำลังดิ้นรนเพื่อปราบปรามกลุ่มกบฏชาติพันธุ์และกองกำลังป้องกันประชาชนที่สนับสนุนประชาธิปไตย ซึ่งดำเนินการต่อต้านการปกครองของทหารอย่างไม่ลดละ
ในปี 2022 คณะกรรมการการเลือกตั้งที่ประกอบด้วยคณะรัฐบาลทหารประกาศว่าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของซูจีจะถูกยุบเนื่องจากไม่สามารถลงทะเบียนภายใต้กฎหมายการเลือกตั้งฉบับใหม่ที่กองทัพร่างขึ้นอย่างเข้มงวด
ในเดือนธันวาคม ตาน ส่วย รัฐมนตรีต่างประเทศที่ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะรัฐบาลทหาร กล่าวกับผู้แทนจาก 5 ชาติอาเซียนในการประชุมที่ประเทศไทยว่า มีความเป็นไปได้ในการจัดการเลือกตั้งปี 2025
ในเดือนมกราคม คณะรัฐบาลทหารได้ขยายภาวะฉุกเฉินที่ยืดเยื้ออยู่แล้วออกไปอีก 6 เดือน โดยขจัดความเป็นไปได้ของการเลือกตั้งที่สัญญาไว้นานที่สุดออกไปจนถึงครึ่งปีหลังเป็นอย่างเร็วที่สุด
ในเดือนเดียวกัน รัฐมนตรีต่างประเทศของชาติอาเซียนได้บอกคณะรัฐบาลทหารให้ใส่ใจกับการหยุดยิงในสงครามกลางเมืองมากกว่าจัดการเลือกตั้งใหม่ท่ามกลางความไม่สงบ
รัฐบาลสหรัฐฯเคยกล่าวไว้ว่า การเลือกตั้งใดๆ ภายใต้รัฐบาลทหารมีแนวโน้มจะเป็นการหลอกลวง ในขณะที่นักวิเคราะห์กล่าวว่าการเลือกตั้งจะถูกฝ่ายตรงข้ามของกองทัพเล็งเป้าและจุดชนวนให้เกิดการนองเลือดมากขึ้น
ทั้งนี้ พลเรือนมากกว่า 6,300 คนถูกสังหารนับตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร และมากกว่า 28,000 คนถูกจับกุม ตามรายงานของกลุ่มตรวจสอบของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (AAPP)
ความขัดแย้งทำให้ผู้คนมากกว่า 3.5 ล้านคนต้องอพยพออกจากบ้านเรือน ขณะที่คาดว่าผู้คน 19.9 ล้านคน หรือมากกว่าหนึ่งในสามของประชากรเมียนมาจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ตามข้อมูลของสหประชาชาติ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'เทพไท' ซัดรัฐบาล-ทักษิณ ใช้ไทยฟอกขาว 'มิน อ่อง หล่าย' ปมประชุมลับกลางกรุง
อดีต สส.นครศรีธรรมราช ตั้งคำถามรัฐบาลไทย หลังมีรายงาน “อันวาร์-มิน อ่อง หล่าย-ทักษิณ” หารือลับกลางกรุงเทพฯ ชี้เป็นพฤติกรรมคลุมเครือ ทั้งในมิติการทูตและบทบาทของอดีตนายกฯ ในรัฐบาลชุดปัจจุบัน
อารักขาเข้ม! วงดินเนอร์ ทักษิณ-อันวาร์-มินอ่องหล่าย
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในฐานะที่ปรึกษาส่วนตัวประธานอาเซียน เป็นเจ้าภาพเลี้ยงรับรอง ดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียน และคณะที่ปรึกษาประธานอาเซียน ในช่วงค่ำวันนี้ (17 เม.ย.)
ตระบัดสัตย์ในโลกสวย! เมื่อ 'แพทองธาร' ต้อนรับ 'มิน อ่อง หล่าย'
แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เคยประกาศไว้อย่างชัดเจนในช่วงหาเสียงว่า “จะไม่จับมือกับเผด็จการคนทำรัฐประหาร” ซึ่งในขณะนั้น คำพูดนี้มุ่งเป้าไปที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือที่ถูกเรียกกันว่า “สองลุง”
แอมเนสตี้ เรียกร้อง 'แพทองธาร' ทบทวนท่าทีต่อ 'มิน อ่อง หล่าย'
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ส่งเสียงถึง ‘แพทองธาร ชินวัตร’ นายกรัฐมนตรี ทบทวนท่าทีต้อนรับ ‘มิน อ่อง หล่าย’ ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง ระบุแม้เกิดแผ่นดินไหวยังเดินหน้าโจมตีประชาชน