วลาดิมีร์ ปูตินเปิดรับข้อเสนอหยุดยิง 30 วันของยูเครน แต่ก็มีคำถามสำคัญที่รอคำตอบจากการพูดคุยอย่างเป็นทางการกับโดนัลด์ ทรัมป์

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียเยี่ยมชมจุดควบคุมของกลุ่มทหารที่เกี่ยวข้องกับการตอบโต้ในภูมิภาคเคิร์สก์
เมื่อวันที่ 12 มีนาคม ท่ามกลางความขัดแย้งที่ยังคงดำเนินอยู่กับยูเครน (Photo by Handout / KREMLIN.RU / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันศุกร์ที่ 14 มีนาคม 2568 กล่าวว่า คณะเจรจาจากสหรัฐอเมริกาเดินทางถึงกรุงมอสโกและนำเสนอแผนหยุดยิง 30 วันที่ได้มาจากการตกลงกับยูเครน ต่อประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย
หลังจากพูดคุยและพิจารณาแล้ว ปูตินแสดงความคิดเห็นครั้งแรกเกี่ยวกับแผนดังกล่าวซึ่งยูเครนตกลงเมื่อวันอังคารระหว่างการเจรจากับสหรัฐฯ โดยกล่าวว่าเขาสนับสนุนแผนการหยุดยิงที่นำมาเสนอ แต่ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยและคำถามสำคัญเกี่ยวกับวิธีการดำเนินการ
ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครนตอบโต้ความคิดเห็นของปูตินทันทีว่า เล่นแง่เรื่องรายละเอียดมากเกินไปและดูเหมือนผู้นำรัสเซียกำลังเตรียมปฏิเสธข้อเสนอนี้แบบอ้อมๆ แต่ไม่กล้าพูดโดยตรงกับโดนัลด์ ทรัมป์ว่าตนเองต้องการทำสงครามต่อไป
สหรัฐฯ เรียกร้องให้รัสเซียตกลงหยุดยิงโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ แต่ปูตินคัดค้านหลายประการ โดยกล่าวว่า "ผมคิดว่าเราจำเป็นต้องพูดคุยกับเพื่อนชาวอเมริกันของเรา บางทีอาจเป็นการโทรศัพท์คุยกับประธานาธิบดีทรัมป์และหารือเรื่องนี้กับเขา"
ปูตินกล่าวว่าการหยุดยิงเป็น "แนวคิดที่ถูกต้อง" แต่อาจเอื้อประโยชน์ต่อยูเครนในพื้นที่ที่กองทหารของยูเครนกำลังเพลี่ยงพล้ำ ในขณะที่รัสเซียกำลังได้เปรียบในการยึดครองดินแดนตามสถานการณ์ปัจจุบัน นอกจากนี้เขายังตั้งคำถามว่าจะมีการเฝ้าติดตามการหยุดยิงตามแนวรบที่มีความยาวหลายพันกิโลเมตรได้อย่างไร
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯได้แสดงความเห็นต่อคำแถลงของปูตินว่า "ดูมีแนวโน้มไปในทางบวก แต่ยังไม่ใกล้เคียงจุดที่ควรจะเป็น"
"รายละเอียดต่างๆ ของข้อตกลงขั้นสุดท้ายได้รับการหารือกันไปแล้ว ตอนนี้เราจะได้เห็นว่ารัสเซียต้องการไปอยู่ในจุดนั้นหรือไม่ หากไม่เป็นเช่นนั้น มันจะเป็นช่วงเวลาที่น่าผิดหวังอย่างยิ่งสำหรับโลกเลยทีเดียว" ทรัมป์กล่าว และเสริมว่า "ผมอยากจะพบหรือพูดคุยกับปูติน และเราต้องทำให้บรรลุโดยเร็ว"
หลังจากเยี่ยมชมกองบัญชาการทหารในภูมิภาคเคิร์สก์เมื่อวันพุธ ประธานาธิบดีรัสเซียได้กล่าวชื่นชมความก้าวหน้าของกองกำลังในการต่อสู้กับยูเครน โดยกล่าวว่ากองกำลังของเขากำลังรุกคืบในแทบทุกพื้นที่ของแนวหน้า
เขากล่าวว่า "จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นภาคพื้นดิน เราจะตกลงกันเกี่ยวกับขั้นตอนต่อไปในการยุติความขัดแย้งและบรรลุข้อตกลงที่ทุกฝ่ายยอมรับได้"
ขณะที่ทรัมป์ผลักดันให้ยุติความขัดแย้งที่กินเวลานานกว่า 3 ปีโดยเร็ว สตีฟ วิทคอฟฟ์ ผู้แทนของเขาได้เดินทางมาถึงมอสโกในวันพฤหัสบดีเพื่อหารือเกี่ยวกับแผนดังกล่าว
ยูริ อูชาคอฟ ผู้ช่วยคนสำคัญของปูตินกล่าวว่า วิทคอฟฟ์จะได้พบกับปูตินก็ต่อเมื่อประธานาธิบดีต้องการ
รัสเซียได้เดินหน้าในสมรภูมิรบมานานกว่า 1 ปี และอ้างเมื่อวันพฤหัสบดีว่าสามารถขับไล่กองกำลังยูเครนออกจากเมืองซูดจาในภูมิภาคเคิร์สก์ของรัสเซียได้
ทรัมป์เองก็แสดงความหวังดีว่าคณะเจรจาจะสามารถบรรลุข้อตกลงหยุดยิงได้ แม้ว่ารัสเซียจะได้รับชัยชนะในสมรภูมิรบก็ตาม
ในความเคลื่อนไหวล่าสุด ปูตินได้กล่าวว่า "เราเห็นด้วยกับข้อเสนอที่จะยุติการสู้รบ แต่บนพื้นฐานที่ว่าการยุตินั้นจะต้องนำไปสู่สันติภาพระยะยาวและแก้ไขสาเหตุหลักของวิกฤตได้"
รัสเซียได้ตัดสินใจแล้วว่าจะไม่ยอมรับเงื่อนไขของข้อตกลงหยุดยิงที่ให้มีการประจำการกองกำลังสันติภาพต่างชาติในยูเครน หรือการรับประกันความปลอดภัยระยะยาวสำหรับยูเครน
นั่นอาจขัดกับคำขอที่ยูเครนยื่นต่อพันธมิตรในยุโรปเพื่อให้ส่งกองกำลังทางทหารไปยังดินแดนของตนเมื่อความขัดแย้งสิ้นสุดลง เพื่อป้องกันการโจมตีในอนาคตจากรัสเซีย
"สำหรับเราแล้ว การที่หน่วยทหารของรัฐอื่น ๆ ประจำการอยู่ในยูเครนภายใต้ธงใด ๆ ถือเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้โดยสิ้นเชิง" มาเรีย ซาคาโรวา โฆษกกระทรวงต่างประเทศของรัสเซียกล่าวในการบรรยายสรุป และเสริมว่า "ไม่ว่าจะเป็นกองกำลังต่างชาติหรือฐานทัพแบบใดก็ตาม ทั้งหมดจะหมายถึงการที่ประเทศเหล่านี้เข้าไปเกี่ยวข้องในความขัดแย้งทางอาวุธโดยตรงกับประเทศของเรา"
ในสถานการณ์ด้านแนวรบ รัสเซียได้อ้างสิทธิ์ในการรุกคืบอย่างรวดเร็วในภูมิภาคเคิร์สก์ ซึ่งยูเครนได้เปิดฉากโจมตีข้ามพรมแดนเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้วและยึดครองดินแดนดังกล่าวมาตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา
กระทรวงกลาโหมของรัสเซียกล่าวว่าได้ปลดปล่อยเมืองซูดจา พร้อมกับนิคมอีกสองแห่งในภูมิภาคชายแดน
ซูดจาซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของผู้คนประมาณ 5,000 คนก่อนการสู้รบ เป็นนิคมที่ใหญ่ที่สุดที่ยูเครนยึดครองได้หลังจากที่เปิดฉากโจมตีรัสเซียแบบไม่ให้ตั้งตัว
ภูมิภาคเคิร์สก์เป็นหนึ่งในไม่กี่จุดต่อรองของยูเครนในการแลกเปลี่ยนดินแดนกับรัสเซียซึ่งยึดครองยูเครนไปประมาณหนึ่งในห้าตั้งแต่เข้ายึดไครเมียในปี 2014 และเริ่มการโจมตีเต็มรูปแบบในเดือนกุมภาพันธ์ 2022
ปัจจุบัน ยูเครนเสี่ยงที่จะสูญเสียการยึดครองภูมิภาคชายแดนทั้งหมด หลังจากเสียพื้นที่ไปหลายสิบตารางกิโลเมตรในสัปดาห์ที่ผ่านมา ตามรายงานของบล็อกเกอร์ด้านการทหาร
ความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของรัสเซียในภูมิภาคดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่สหรัฐฯ ระงับการแบ่งปันข่าวกรองและการสนับสนุนด้านการทหารแก่ยูเครน แม้ในความเป็นจริงอาจไม่เกี่ยวข้องกับการตัดความช่วยเหลือเหล่านั้นเลยก็ตาม แต่ล่าสุดรัฐบาลของทรัมป์ได้กลับมาสนับสนุนยูเครนอีกครั้งก่อนการเจรจากับรัสเซีย.