นายกฯ คนใหม่กร้าว แคนาดาจะไม่มีวันเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐอเมริกา

นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของแคนาดาเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการแล้ว โดยปฏิเสธอย่างหนักแน่นต่อคำขู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่าของโดนัลด์ ทรัมป์ที่หวังจะผนวกแคนาดาเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐ

นายกรัฐมนตรีมาร์ก คาร์นีย์ ของแคนาดากล่าวระหว่างการแถลงข่าวที่ Rideau Hall หลังเสร็จสิ้นพิธีสาบานตนในออตตาวา เมื่อวันที่ 14 มีนาคม (Photo by Dave Chan / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันเสาร์ที่ 15 มีนาคม 2568 กล่าวว่า มาร์ก คาร์นีย์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของแคนาดา เริ่มดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการแล้ว

เพียงไม่นานหลังจากที่เขาสาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 24 ของแคนาดา แทนที่จัสติน ทรูโดซึ่งดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2015 คาร์นีย์กล่าวว่าการตอบโต้นโยบายขึ้นภาษีของทรัมป์จะเป็นการต่อสู้ที่สำคัญที่สุดของรัฐบาล

"แคนาดาจะไม่มีวันเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะในรูปแบบใดๆ ก็ตาม" เขากล่าวเสริม ในขณะที่แสดงความหวังว่าสักวันหนึ่งรัฐบาลของเขาจะสามารถทำงานร่วมกับรัฐบาลวอชิงตันเพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ของทั้งสองประเทศได้อีกครั้ง

มีรายงานว่าทั้งสองรัฐบาลเตรียมการหารือหาทางโทรศัพท์ระหว่างทรัมป์และคาร์นีย์ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

รัฐบาลออตตาวาได้รับผลกระทบจากความสัมพันธ์ข้ามพรมแดนที่พังทลายลงตั้งแต่ทรัมป์กลับมามีอำนาจในเดือนมกราคม โดยเปิดฉากสงครามการค้าและเรียกร้องให้แคนาดายอมสละเอกราชเพื่อให้เป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐฯ

รัฐบาลออตตาวาได้ตอบโต้มาตรการภาษีของทรัมป์ ขณะที่ความเห็นของประชาชนชาวแคนาดาก็โกรธแค้น เนื่องจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยืนกรานว่าพรมแดนที่คั่นระหว่างสองประเทศควรถูกลบออกไป

คาร์นีย์กล่าวถึงรัฐบาลของทรัมป์ว่าเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่แคนาดาต้องเผชิญในรอบหนึ่งชั่วอายุคน และมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ต่อสินค้าของแคนาดาก็ไม่ยุติธรรม

คาร์นีย์ได้เป็นนายกรัฐมนตรีหลังจากชนะคะแนนเสียงในการเลือกหัวหน้าพรรคเสรีนิยมอย่างท่วมท้นเพื่อเข้ามาแทนที่ทรูโดในตำแหน่งผู้นำ

แต่อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางซึ่งจะอายุครบ 60 ปีในวันอาทิตย์นี้ ถือเป็นมือใหม่ทางการเมืองที่ไม่เคยได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งสาธารณะใดๆ

ทักษะการรณรงค์หาเสียงของคาร์นีย์อาจถูกทดสอบในไม่ช้านี้ โดยแหล่งข่าวในรัฐบาลบอกกับเอเอฟพีว่าแคนาดากำลังมุ่งหน้าสู่การเลือกตั้งทั่วไปในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

คาร์นีย์กล่าวว่าเขาจะบินไปปารีสและลอนดอนในสัปดาห์หน้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะเสริมสร้างพันธมิตรของแคนาดาในต่างประเทศในขณะที่ความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ กำลังสั่นคลอน โดยการเจรจาดังกล่าวจะรวมถึงประเด็นการค้าและความมั่นคง

นายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ ของเยอรมนี, เออร์ซูลา ฟอน เดอ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป และประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน เป็นผู้นำต่างประเทศกลุ่มแรกที่แสดงความยินดีกับคาร์นีย์

คาร์นีย์สร้างรายได้มหาศาลจากการเป็นนายธนาคารเพื่อการลงทุนที่โกลด์แมน แซคส์ ก่อนเข้าดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งแคนาดาระหว่างวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2008-2009 และยังเคยนำธนาคารแห่งอังกฤษผ่านความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นหลังการลงประชามติเบร็กซิตในปี 2016

ตั้งแต่ลาออกจากธนาคารแห่งอังกฤษในปี 2020 เขาทำหน้าที่เป็นทูตของสหประชาชาติที่ทำงานเพื่อให้ภาคเอกชนลงทุนในเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และดำรงตำแหน่งในภาคเอกชน

เขาพยายามแสดงตนว่าเป็นผู้ที่ได้รับการเลือกมาเพื่อนำพาประเทศผ่านสงครามการค้ากับสหรัฐฯซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของแคนาดา แต่ปัจจุบันเป็นประเทศที่คาร์นีย์กล่าวว่า "ไม่สามารถไว้วางใจได้อีกต่อไป"

แต่เขาอาจเป็นนายกรัฐมนตรีได้ไม่นาน

ผลสำรวจความคิดเห็นก่อนการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งครั้งหน้าเผยให้เห็นว่าพรรคฝ่ายค้านอนุรักษนิยมมีคะแนนความนิยมนำอยู่และยังพยายามจะยัดเยียดให้คาร์นีย์เป็นพวกหัวสูงและไม่เข้าใจการต่อสู้ของชาวแคนาดาโดยทั่วไป

คาร์นีย์โต้แย้งว่าประสบการณ์ระดับโลกของเขา รวมถึงในภาคเอกชน ทำให้เขาสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของแคนาดาให้ก้าวไปข้างหน้าได้ขณะที่เผชิญกับความขัดแย้งกับพันธมิตรทางการค้าที่สำคัญที่สุด

เฟลิกซ์ มาธิว ศาสตราจารย์ด้านการเมืองจากมหาวิทยาลัยวินนิเพก กล่าวกับเอเอฟพีว่า "คาร์นีย์กำลังมาถูกเวลา เขากลายเป็นบุคคลที่ผู้คนไว้วางใจที่จะต่อกรกับโดนัลด์ ทรัมป์"

ในสัปดาห์ที่ทรัมป์เริ่มเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียมทั้งหมดถึง 25% คาร์นีย์ได้ไปเยี่ยมชมโรงงานเหล็กในแฮมิลตันซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรมใกล้ชายแดนสหรัฐฯ ในรัฐออนแทรีโอ

คาร์นีย์ยืนกรานว่าการเจรจาใดๆ ก็ตามต้องเคารพอำนาจอธิปไตยของแคนาดา นอกจากนี้ คาร์นีย์ยังพยายามอย่างชัดเจนที่จะแยกตัวจากทรูโดด้วยการเคลื่อนไหวเพื่อดึงดูดผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีแนวคิดกลางๆ มากขึ้น

เขาเคยกล่าวว่าการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็นเรื่องสำคัญสูงสุด แต่การกระทำแรกของเขาในวันศุกร์คือการลงนามในคำสั่งยกเลิกภาษีคาร์บอนที่สร้างความแตกแยกของทรูโด พร้อมทั้งให้คำมั่นว่าจะผลักดันแนวทางแก้ปัญหาที่นำโดยตลาด

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีที่เข้าพิธีสาบานตนร่วมกับคาร์นีย์มีทีมงานเดิมของทรูโดยังคงอยู่ในตำแหน่งเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงผู้ที่ทำงานอย่างใกล้ชิดในการเจรจาการค้ากับสหรัฐอเมริกา.

เพิ่มเพื่อน