พายุแม่เหล็กโลกฉุดดาวเทียมใหม่เอี่ยมของสเปซเอ็กซ์ร่วง 40 ดวง

สเปซเอ็กซ์เปิดเผยว่า บริษัทกำลังสูญเสียดาวเทียมใหม่เอี่ยมในโครงการสตาร์ลิงค์ 40-49 ดวงที่เพิ่งปล่อยขึ้นสู่วงโคจรต่ำเมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว สืบเนื่องจากพายุแม่เหล็กโลกรุนแรงที่เกิดขึ้นในวันต่อมาฉุดให้ดาวเทียมเหล่านี้ร่วงคืนสู่วงโคจรโลก และคาดว่าจะถูกเผาไหม้หมดสิ้น

จรวดฟอลคอน 9 พุ่งจากฐานปล่อย 39เอ ที่ศูนย์อวกาศเคนเนดี เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2565 เพื่อนำดาวเทียม 49 ดวงของสตาร์ลิงค์ขึ้นสู่วงโคจร (Photo by Paul Hennessy/SOPA Images/LightRocket via Getty Images)

รายงานในเว็บไซต์ของบีบีซีและสเปซดอทคอมเมื่อวันพุธที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 กล่าวว่า บริษัท สเปซเอ็กซ์ ของอีลอน มัสก์ ปล่อยจรวดฟอลคอน 9 จากฐานปล่อยจรวดของศูนย์อวกาศเคนเนดีในรัฐฟลอริดาเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ เพื่อนำดาวเทียมในโครงการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสตาร์ลิงค์ 49 ดวงขึ้นสู่วงโคจร แต่วันต่อมา กลับเกิดพายุแม่เหล็กโลกรุนแรงที่ทำให้ชั้นบรรยากาศโลกมีความหนาแน่นเพิ่มขึ้น เพิ่มแรงต้านดาวเทียมเหล่านี้ และคาดว่าจะทำให้ดาวเทียมส่วนใหญ่ร่วงกลับลงมา

ดาวเทียมเหล่านี้ถูกกำหนดให้อยู่ที่ความสูง 210 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก ซึ่งเป็นวงโคจรขั้นต้นที่เป็นระดับต่ำสุด สเปซเอ็กซ์เคยกล่าวไว้ว่า ตั้้งใจปล่อยดาวเทียมสตาร์ลิงค์ที่วงโคจรต่ำ เพื่อให้สามารถกำจัดดาวเทียมได้อย่างรวดเร็วในกรณีเกิดความผิดพลาดภายหลังการนำส่งดาวเทียม แต่การออกแบบให้อยู่ในวงโคจรต่ำก็ทำให้ดาวเทียมกลุ่มนี้เสี่ยงต่อพายุแม่เหล็กโลกเช่นที่เกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว

พายุแม่เหล็กโลกนี้เป็นกลไกเดียวกับที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์แสงเหนือ องค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐกล่าวว่า พายุแม่เหล็กโลกเกิดขึ้นเมื่อลมสุริยะรุนแรงใกล้โลกมีปฏิสัมพันธ์กับสนามแม่เหล็กโลกและก่อให้เกิดการเปลี่ยนทิศทางของพลาสมาและลมสุริยะอย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้บรรยากาศชั้นบนของโลกอุ่นขึ้น และเพิ่มความหนาแน่นของชั้นบรรยากาศในระดับสูงพอที่จะส่งผลกระทบต่อดาวเทียมในวงโคจรต่ำ เช่นของสตาร์ลิงค์

สเปซเอ็กซ์เปิดเผยว่า จีพีเอสที่ติดตั้งไว้บ่งชี้ว่าพายุที่เร็วและรุนแรงทำให้เกิดแรงเสียดทานในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นถึง 50% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาที่ปล่อยดาวเทียม สเปซเอ็กซ์พยายามปรับให้ดาวเทียมเข้าสู่ "โหมดปลอดภัย" โดยให้บินขอบบนเหมือนแผ่นกระดาษเพื่อลดแรงต้านให้เหลือน้อยที่สุด

อย่างไรก็ดี การวิเคราะห์เบื้องต้นชี้ว่า แรงต้านนั้นรุนแรงมากพอที่จะหยุดดาวเทียมไม่ให้ออกจากโหมดปลอดภัย เพื่อเริ่มกลับเข้าสู่วงโคจรที่กำหนดจนอยู่ในระดับเสถียร และกลับกลายเป็นว่าดาวเทียม "มากถึง 40 ดวง" จะร่วงหรือได้ร่วงกลับมายังชั้นบรรยากาศโลกแล้ว และถูกเผาไหม้เหมือนกับขยะอวกาศ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สื่อจ้องจับผิด 'อีลอน มัสก์' กรณีเสพยา

ชายที่ร่ำรวยที่สุดในโลกถูกตั้งข้อสงสัยว่าใช้คีตามีน เห็ดเมา และเอซิด สื่อในอเมริการายงานข่าวโดยอ้างถึง “สภาพแวดล้อมที่น่ากังวล” ของอีลอน มัสก์

'เศรษฐา' ปลื้มหารือ 'อีลอน มัสก์' ชวน 'Tesla' ลงทุนในไทย

นายกฯ หารือ 'อีลอน มัสก์' ผู้บริหารบริษัท Tesla ผ่านระบบการประชุมทางไกล ไทยพร้อมร่วมมือพัฒนาความร่วมมือ เชื่อมั่นเพิ่มโอกาสการลงทุนในไทย