ภาวะเศรษฐกิจและโจทย์ที่ท้าทายของกระทรวงพาณิชย์ ช่วงวิกฤต ยูเครน-รัสเซีย ในภารกิจ 'จุรินทร์'

ถาม : ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศในปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้างและกระทรวงพาณิชย์มีโจทย์ที่ท้าทายอย่างไรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ : เศรษฐกิจไทยในปี 2564 ยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่และยังได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 อีกหลายระลอก นับตั้งแต่ปี 2563 เศรษฐกิจไทยหดตัวอย่างต่อเนื่องจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ทั้งปี 2563 หดตัว 6.1% จากนั้นเศรษฐกิจไทยค่อย ๆ ฟื้นตัว โดย GDP ไตรมาสที่สองของปี 2564 กลับมาขยายตัว 7.6% ก่อนที่จะหดตัวลงอีกครั้งในช่วงไตรมาสที่สาม -0.3% จากผลกระทบของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า และแม้ว่าไตรมาสสุดท้ายมีแนวโน้มจะเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่าง ๆ เริ่มและเปิดประเทศในเดือน พ.ย. 2564 แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในช่วงปลายปี 2564 ก็ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพียงร้อยละ 1.9 โดยทั้งปี 2564 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 1.6

เช่นเดียวกัน ภาคการส่งออกของไทยเผชิญกับความท้าทายรอบด้านอันเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด-19 ที่สร้างความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจและการค้าโลก ทั้งปัญหาการด้านขนส่ง (การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และค่าระวางเรือที่อยู่ในระดับสูง) การขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต (เซมิคอนดักเตอร์) แต่การทำงานอย่างหนักของกระทรวงพาณิชย์ โดยภายใต้การนำของท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ท่านจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ กระทรวงก็มีการดำเนินการตามแผนผลักดันและแก้ไขปัญหาการส่งออก อาทิ การเสริมการส่งออกสินค้าผ่านรูปแบบผสมผสานระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ (ไฮบริด)

การเจาะตลาดเมืองรอง และการปรับแนวทางการทำงานของทูตพาณิชย์และพาณิชย์จังหวัดให้เป็นนักการตลาด (เซลส์แมน) รวมไปถึงการร่วมกับภาคเอกชนในการแก้ปัญหาและส่งเสริมการส่งออก ผ่านกลไกคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ. พาณิชย์) ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้การส่งออกในปี 2564 ขยายตัวสูงถึง 17.1% จากที่หดตัวร้อยละ 5.9 ในปี 2563

ถาม : เป็นที่ทราบกันดีว่า ในช่วงนี้ทั่วโลก รวมไปถึงประเทศไทยต่างได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด– 19 ไม่ทราบว่าในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ได้มีมาตรการหรือการดำเนินการอย่างไรเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และลดผลกระทบกับภาคประชาชน

มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ : ในด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการควบคู่ในการขยายการค้าในประเทศ และต่างประเทศผ่านการดำเนินงานที่สำคัญ อาทิ 1) การจับคู่เจรจาธุรกิจผ่านทีมเซลส์แมนจังหวัด ในการแลกเปลี่ยน/ซื้อขายสินค้าระหว่างกันในประเทศ การจับคู่เจรจาธุรกิจผ่านทีมเซลส์แมนจังหวัดและเซลส์แมนประเทศ เพื่อขยายโอกาสส่งออกให้แก่ผู้ส่งออกไทย 2) การตั้ง กรอ.พาริชย์ รัฐหนุน-เอกชนนำเพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แก้ไขปัญหาอุปสรรคได้รวดเร็วและตรงจุด 3) การเปิดด่านผลักดันการค้าชายแดน-ผ่านแดน 4) นโยบายเกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด เพื่อขยายตลาดให้กับสินค้าเกษตรสู่ตลาดโลกได้มากขึ้น รวมทั้งให้ภาคเกษตรสามารถสามารถตอบสนองความต้องการและรสนิยมของผู้บริโภคในต่างประเทศ และ 5) การสร้างนักธุรกิจยุคใหม่ การปั้น CEO Gen Z เพื่อให้เป็นกำลังสำคัญของประเทศในการสร้างความเติบโตให้แก่เศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ เป็นต้น

ส่วนการดำเนินการเพื่อลดผลกระทบให้กับประชาชนในทุกภาคส่วน กระทรวงก็มีการดำเนินการผ่านนโยบายสำคัญตามที่ท่านรองนายกฯ ได้ให้นโยบายและกำกับดูแล รวมทั้งติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ 1) โครงการ “พาณิชย์ลดราคา! ช่วยประชาชน” เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 2) โครงการรถโมบายพาณิชย์ ลดราคา! ช่วยประชาชน 3) โครงการธงฟ้าฝ่าภัยโควิด-19 โดยจัดรถเร่ทั้งในกรุงเทพและภูมิภาค

สำหรับในส่วนของภาคธุรกิจ กระทรวงพาณิชย์ช่วยเหลือผู้ประกอบการผ่านโครงการสำคัญ อาทิ 1) จับคู่กู้เงิน...ต่อลมหายใจร้านอาหาร 2) จับคู่กู้เงิน...สถาบันการเงินกับ SMEs ส่งออก 2) ส่งเสริม และพัฒนา SMEs ให้สามารถฝ่าฟันวิกฤติโควิด-19 ผ่านโครงการ (2.1) โครงการตลาดชุมชนเพื่อธุรกิจท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมช่องทางการตลาดและเชื่อมโยงการจำหน่ายสินค้าและบริการชุมชน (2.2) ขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นหรือภูมิภาค ผ่านเครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club ซึ่งมีสมาชิกทั่วประเทศ 12,999 ราย ในกลุ่มธุรกิจสำคัญ เป็นต้น นอกจากนี้การดูแลผลกระทบในภาคเกษตร กระทรวงพาณิชย์ดำเนินนโยบายประกันรายได้เกษตรกร พืช 5 ชนิดต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 และการผลักดันราคาผลไม้ให้ได้ราคาดี โดยความร่วมมือ 3 ฝ่าย (รัฐ เกษตรกร เอกชน)

ถาม : นอกจากโควิด-19 ขณะนี้ สิ่งที่น่าจับตามอง คือ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งความยืดเยื้อของสงครามอาจส่งผลกระทบกับหลายประเทศ ในส่วนของประเทศไทย คาดการณ์ว่าจะได้รับผลกระทบด้านไหน อย่างไร กระทรวงพาณิชย์เตรียมแผนรับมืออย่างไร

มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ : ความขัดแย้งของสงครามรัสเซีย-ยูเครน อาจจะกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศภาพรวมไม่มากนัก เพราะรัสเซียเป็นตลาดส่งออกที่มีสัดส่วนการตลาดแค่ร้อยละ 0.38 ของไทย และตลาดยูเครนมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.04 ถือว่าเป็นสัดส่วนที่ไม่มาก แต่การขนส่งสินค้าจะได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรของบริษัทเดินเรือและการปิดท่าเรือ ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือ ส่งผลให้ต้นทุนค่าขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น และการจัดส่งสินค้าล่าช้า รวมถึงเกิดต้นทุนธุรกรรมทางการเงินเพิ่มขึ้นจากการคว่ำบาตรทางการเงิน ทำให้ผู้นำเข้าจากรัสเซียและยูเครนชะลอคำสั่งซื้อสินค้าไทยชั่วคราว สินค้าที่อาจได้รับผลกระทบ เช่น ยางรถยนต์ อาหารแปรรูป อัญมณีและเครื่องสำอาง ที่ส่งออกไปยังรัสเซียและยูเครน

สิ่งที่น่าโฟกัส คือ โอกาส เพราะท่ามกลางวิกฤตอาจจะเป็นโอกาสให้ไทยส่งออกสินค้าที่จำเป็นเพื่อใช้ในการยังชีพ และยารักษาโรคไปยังรัสเซียและยูเครนเพิ่มขึ้นจากภาวะสงคราม รวมถึงเป็นโอกาสในการผลักดันการค้าการลงทุนที่ไทยมีความได้เปรียบได้

จากการประเมินร่วมกับภาคเอกชน ไทยจะได้รับผลกระทบทางอ้อมจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น มาตรการคว่ำบาตรทำให้อุปทานสินค้าที่มาจากยูเครนและรัสเซียตึงตัว รวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ อาทิ ข้าวสาลีและธัญพืช วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตปุ๋ย แร่โลหะ ซึ่งทั้งสองประเทศเป็นผู้ผลิตและส่งออกสำคัญของโลก ส่งผลให้ราคาผันผวนและปรับตัวสูงขึ้น ผลักดันต้นทุนการผลิตส่งผลให้เงินเฟ้อโลกเพิ่มสูงขึ้น และกระทบต่อเงินเฟ้อของไทย ทั้งนี้หากสถานการณ์ยืดเยื้อจะส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาสินค้าของผู้บริโภคในประเทศ อาจจะทำให้เงินเฟ้อทั่วไปของทั้งปี 2565 เกินกรอบที่คาดการณ์ไว้ (ร้อยละ 0.7 – 2.4)

สิ่งที่ท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ท่านจุรินทร์ สั่งการให้ดำเนินการมาตั้งแต่เริ่มเกิดสถานการณ์ คือ ให้กระทรวงพาณิชย์ติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดร่วมกับภาคเอกชนเพื่อให้ทราบถึงปัญหา อุปสรรค และแนวทางการแก้ไข พร้อมออกมาตรการรองรับ โดยมีวัตถุประสงค์สามประการ ประการแรก เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าให้กับผู้ประกอบการ โดยร่วมมือกับสมาพันธ์หรือสมาคมด้านโลจิสติกส์ หากพบปัญหาด้านโลจิสติกส์และดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการค้าอย่างเหมาะสม ประการที่สอง เพื่อหาตลาดส่งออกทดแทน เช่น ตะวันออกกลาง แอฟริกา ละตินอเมริกา และประการที่สาม เพื่อกำกับดูแลราคาและปริมาณสินค้าอย่างใกล้ชิดกับผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ค้าส่ง และผู้ค้าปลีก ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการครองชีพของประชาชน โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น และปัจจัยการผลิตของเกษตรกร

ถาม : คาดการณ์ทิศทางการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจประเทศในปีนี้จะไปในทิศทางไหน อย่างไร

มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ : สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2565 มีทิศทางฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ปรับดีขึ้น ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ที่มีแนวโน้มคลี่คลายลง เนื่องจากประสิทธิภาพในการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญที่จะเป็นปัจจัยสนับสนุนภาคการส่งออก และนโยบายการเปิดประเทศทั้งของไทยและต่างชาติที่มากขึ้น ก็จะมีส่วนช่วยฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว ควบคู่ไปกับมาตรการทางการเงินและการคลังเพื่อเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ที่จะเข้ามาช่วยเหลือภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ทั้งนี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 ว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.5 - 4.5

มองลึกลงไปเศรษฐกิจแต่ละภาค ก็มั่นใจว่าทุกภาคส่วนมีแนวโน้มปรับดีขึ้นไม่ว่าจการบริโภคภายในประเทศ มีแนวโน้มฟื้นตัวจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด และความคืบหน้าในการกระจายวัคซีน ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อาทิ โครงการคนละครึ่ง และช้อปดีมีคืน เป็นต้น ในภาคการท่องเที่ยว ก็มีการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งแต่ปลายปี 2564 รวมทั้งโครงการสนับสนุนของภาครัฐในการรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ อาทิ โครงการ Test & Go โครงการภูเก็ตแซนด์บอกซ์ ในด้านการส่งออก การผลิตภาคอุตสาหกรรม เห็นได้ชัดเจนว่ามีแนวโน้มขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก โดยเฉพาะการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งมีผลวันที่ 1 ม.ค. 2565 จะสร้างโอกาสทางการค้าในการส่งออกสินค้ามากขึ้น และในภาคการลงทุนภาคเอกชน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากบรรยากาศการลงทุน และความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ปรับดีขึ้น ด้วยแรงหนุนสำคัญจากการผ่อนคลายมาตรการจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการเปิดประเทศ

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนอาจจะนำไปสู่ความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก อันเนื่องมาจากภาวะสงครามที่ยืดเยื้อ ทำให้เกิดภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน และส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และพลังงานเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก รวมไปถึงการออกมาตรการคว่ำบาตรทางการเงินต่อรัสเซียของประเทศต่าง ๆ ที่หากรุนแรงมากขึ้น ก็อาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยให้ชะลอตัวลงในระยะข้างหน้า ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจการค้าที่เกี่ยวข้อง และหารือกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับปัญหา อุปสรรค และผลกระทบ เพื่อหาแนวทางการแก้ไขให้ทันต่อเหตุการณ์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลแนะผู้ประกอบการไทยปรับตัว ปฏิบัติตามกฎตลาดโลก

รัฐบาลเสริมความเข้มแข็งสินค้าไทย ให้เท่าทันกฎระเบียบของทุกตลาด แนะผู้ประกอบการปรับตัว หลังสเปนจ่อออกกฎใหม่ เครื่องดื่มพสาสติกต้องใช้ฝาแแบยึดกับขวด

รัฐบาลลุยต่อยอด 'ผ้าขาวม้าไทยฟีเวอร์' ขยายตลาดช่วยชุมชนโกยรายได้

รัฐบาลเดินหน้าส่งเสริมต่อยอด 'ผ้าขาวม้าไทยฟีเวอร์' เพิ่มมูลค่าขยายตลาด ช่วยผู้ประกอบการชุมชนโกยรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น

'ทักษิณ' เล่นน้ำสงกรานต์หน้าห้างเมญ่า ลั่นจะให้ 'อิ๊งค์' ทำเชียงใหม่บูมอีกครั้ง

'ทักษิณ' ร่วมเล่นน้ำสงกรานต์กับ ปชช. หน้าห้างเมญ่า บ่นเสียดายเศรษฐกิจแย่ลงเยอะ ต้องเร่งฟื้นฟู-อัดนโยบาย ลั่นจะให้ 'อิ๊งค์' ทำ 'เชียงใหม่' กลับมาเป็นที่ยอมรับอีกครั้งให้ได้