'อาคม' ชู 6 แนวทางหนุนธุรกิจประกันภัยปรับตัว

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ (แฟ้มภาพ)

“อาคม” ชู 6 แนวทางหนุนธุรกิจประกันภัยปรับตัวยกระดับรับสถานการณ์หลังโควิด-19 ดึงเทคโนโลยีช่วยลดต้นทุน เข็นผุดประกันวินาศภัยโครงสร้างพื้นฐาน หวังเป็นกลไกกระตุ้นเศรษฐกิจ แก้ปมยากจน-เหลื่อมล้ำ ดันไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลาง  

26 ต.ค. 2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง กล่าวปาฐกถาในงาน Thailand InsurTech Fair 2021 ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบในหลายมิติต่อภาคเศรษฐกิจ ภาคสังคม และความเป็นอยู่ของประชาชน ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมประกันภัยก็ได้แสดงให้เห็นถึงบทบาทในการบริหารความเสี่ยงด้านสังคม ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เหมาะสมกับสถานการณ์ และเพียงพอต่อความต้องการของคนไทยและต่างชาติ รวมทั้งได้มีการกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และบรรเทาผลกระทบให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 

“จากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ทำให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของการประกันภัยในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะประกันชีวิตและประกันสุขภาพ ซึ่งพบว่าช่วงที่ผ่านมามีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ทั้งในระดับครัวเรือนและระดับผู้ประกอบการ” นายอาคม กล่าว 

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมประกันภัยถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเงินภายในประเทศ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการระดมเงินทุนจากผู้มีเงินออม เพื่อสร้างหลักประกันในชีวิตในระยะยาว รวมถึงเป็นส่วนสำคัญในการผลักดัน และช่วยเหลือเศรษฐกิจฐานราก ในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ ทั้งจากปัญหาน้ำท่วม และภัยแล้ง โดยมองว่าหลังจากนี้อุตสาหกรรมประกันภัยต้องมีการปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตปกติใหม่ (New Normal) ภายใต้ 6 แนวทาง ได้แก่ 

1. อุตสาหกรรมประกันภัยต้องมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับใช้ในธุรกิจให้มากขึ้น เพื่อความสะดวก สบายของผู้รับบริการ ช่วยลดภาระการเดินทาง และลดภาระในเรื่องต้นทุนต่าง ๆ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการพัฒนาเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดยการทำธุรกรรมกับภาครัฐ อาทิ การจ่ายค่าธรรมเนียม การขอใบอนุญาต การเสียภาษี สามารถดำเนินการผ่านสมาร์ทโฟนได้แล้ว 

2. อุตสาหกรรมประกันภัยต้องขยายบทบาทการรับประกันภัยที่คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากภัยธรรมชาติ และเรื่องที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งในภาคการเงินและการคลังมีการพูดถึงเรื่องนี้ในระดับโลกและระดับภูมิภาค โดยการระดมทุนผ่านสถาบันการเงินต่าง ๆ มุ่งไปที่การรักษาสภาพแวดล้อมเป็นสำคัญ ส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เรื่องนี้เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยเฉพาะการสนับสนุนให้เปลี่ยนการใช้รถยนต์จากระบบน้ำมันไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ซึ่งธุรกิจประกันภัยต้องมองเห็นถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในส่วนนี้และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค 

3. อุตสาหกรรมประกันภัยต้องตอบสนองเรื่องหลักประกันของชีวิตสำหรับผู้สูงอายุ เนื่องจากในปี 2565 จำนวนผู้สูงอายุในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมด จึงจำเป็นจะต้องมีหลักประกันที่มีผลประโยชน์ตอบแทนระหว่างบั้นปลายชีวิต 

4. อุตสาหกรรมประกันภัยต้องมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันที่ครอบคลุมการรับประกันโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่เป็นสาธารณะ เช่น สนามบิน ท่าเรือ รถไฟ ถนน เป็นต้น โดยโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ควรมีประกันวินาศภัย หรือประกันในรูปแบบต่าง ๆ รองรับ 

5. อุตสาหกรรมประกันภัยต้องมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ (BCG) และกรอบการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึง สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล(ESG) ซึ่งเป็นนโยบายที่ชัดเจนและรัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมาก และ 

6. อุตสาหกรรมประกันภัยต้องมีการบริหารความเสี่ยงอย่างแม่นยำ เพื่อให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้ 

อย่างไรก็ดี หวังเป็นอย่างยิ่งว่าอุตสาหกรรมประกันภัยจะเป็นกลไกหลักสำคัญในการสนับสนุนการฟื้นตัวและขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง มีเสถียรภาพ มั่นคงจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ ช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากปัญหากับดักรายได้ปานกลาง ช่วยลดปัญหาความยากจน ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และยกระดับเศรษฐกิจฐานรากผ่านการเข้าถึงประกันภัยอย่างเท่าถึงและเพียงพอ 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ศิริกัญญา' หนุนเปลี่ยนขุนคลัง ดึง 'พิชัย ชุณหวชิร' นั่งแทน 'เศรษฐา' ไม่ควรเป็นตั้งแต่แรก

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีกระแสข่าวว่านายพิชัย ชุณหวชิร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการ

'เศรษฐา' ลั่นไม่น้อยใจ เสียงเย้ยมีนายกฯ 3 คน ปัดคุยปรับ ครม. กับ 'ทักษิณ'

'เศรษฐา' เมินเสียงเหน็บนายกฯ 3 คน บอกไม่น้อยใจให้ดูที่การกระทำ ยังลุยทำงานทุกวันเหมือนเดิม ปัดคุย 'ทักษิณ' เรื่องปรับ ครม. ลั่นถึงเวลาทำเอง